Skip to content

ครีมกันแดดนั้นสำคัญไฉน?

ในช่วงหน้าร้อนอย่างนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าครีมกันแดดเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะในช่วงนี้บางพื้นที่ในประเทศไทยมีการเตือนถึงค่าดัชนีความร้อนสูงถึง 49 – 50 องศาเซลเซียส และมีค่าดัชนีรังสียูวีอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผิวหนังเกรียมแดด สามารถสร้างอนุมูลอิสระทำลาย DNA ได้ในระยะยาว รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) หรือเรียกกันง่ายๆ ว่ารังสียูวี (UV) เป็นรังสีที่มาพร้อมกับแสงแดด ในชีวิตประจำวัน แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่

  1. รังสี UVA คือรังสีที่มีคลื่นยาวที่สุด (ช่วงคลื่นระหว่าง 320-400 นาโนเมตร) รังสีตัวนี้สามารถทะลุไปถึงชั้นผิวหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ได้ นอกจากนี้ยังสามารถทะลุลึกผ่านเมฆและกระจกได้ด้วย เป็นตัวทำลายคอลาเจนและความชุ่มชื้นของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นและเกิดริ้วรอยก่อนวัย ฝ้า กระ เป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนังได้  ซึ่งรังสียูวีเอจะมีตลอดทั้งปีและทุกฤดูกาล แม้แต่วันที่ไม่มีแสงแดดก็ตาม
  2. รังสี UVB คือรังสีที่มีความยาวคลื่นรองลงมา (ช่วงคลื่นระหว่าง 290-320 นาโนเมตร) จะถูกกั้นโดยชั้นบรรยากาศบางส่วน ทะลุได้แค่ชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ไม่ลึกเท่ารังสี UVA  ซึ่งรังสี UVB เป็นตัวการที่ทำให้ผิวหนังของเราเกิดอาการแสบร้อน หมองคล้ำ และไหม้เกรียม เป็นสาเหตุของมะเร็วผิวหนังได้เช่นกัน
  3. รังสี UVC คือรังสีที่มีคลื่นสั้นที่สุด (ช่วงคลื่นระหว่าง 200-290 นาโนเมตร) ปัจจุบันยังส่องลงมายังพื้นผิวโลกไม่มากเพราะมีชั้นโอโซนกรองไว้อยู่ แต่ถ้าหากในอนาคตชั้นโอโซนบางลง รังสี UVC นี้อาจจะทะลุมายังพื้นโลกได้มากขึ้น

ดังนั้นการเลือกครีมกันแดดเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ในการลดความเสี่ยงจากรังสี UV มีคำแนะนำจาก American Academy of Dermatology (AAD) ว่าคนทั่วไปควรต้องป้องกันผิวจากแสงแดด ด้วยการทาครีมกันแดดในทุกๆ วัน

การเลือกครีมกันแดดให้เหมาะสม โดยดูจากค่า SPF และ ค่า PA

ค่า SPF คืออะไร

SPF ย่อมาจาก Sun Protection Factor คือค่าประสิทธิภาพของครีมกันแดดในการป้องกันรังสี UVB ว่าสามารถปกป้องผิวของเราได้นานเท่าไหร่?
- ครีมกันแดดที่มี SPF 15 จะสามารถปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้ 93.33 %
- ครีมกันแดดที่มี SPF 30 สามารถปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้มากขึ้นเป็น 96.67% หรือประมาณ 97%
- ครีมกันแดด SPF 50 ที่เป็นที่นิยมนั้นสามารถปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้ถึง 98%

ปกติแล้วผิวหนังของเราจะสามารถทนแดดได้เฉลี่ย 15 นาที หากเกินไปกว่านี้ผิวหนังจะแดงหรือไหม้ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยความแรงของแสงแดดด้วย หากเราทากันแดดที่มีค่า SPF 30 หมายถึงผิวเราจะสามารถทนแดดได้เป็นเวลา 15×30 = 450 นาที หรือประมาณ 7 ชั่วโมงกว่าๆ

ปัจจุบันค่า SPF มากสุดจะอยู่ที่ 50 ยิ่งค่า SPF มาก ระยะเวลาของผิวหนังที่สามารถทนแสงแดดได้ก็จะมากขึ้น แต่ยิ่งประสิทธิภาพสูงนั่นหมายถึงว่า อาจมีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์สำคัญที่ทำให้แพ้ได้ง่าย ดังนั้นการเลือกปริมาณที่พอดี แล้วหมั่นทาบ่อยๆ จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

วิธีทาครีมกันแดดที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่เลือกค่า SPF ให้เหมาะสม แต่หากจะให้ได้ประสิทธิภาพการป้องกันแสงแดดสูงสุดจะต้องทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ครีมเสื่อมสภาพตามการเวลา เช่น เหงื่อ น้ำและมลภาวะต่างๆในร่างกาย

ค่า PA คืออะไร

PA ย่อมาจาก Protection Grade of UVA คือค่าประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ปัจจุบันค่า PA สูงสุดอยู่ที่ ++++ ยิ่งมีเครื่องหมายบวกมาก ก็จะแสดงถึงจำนวนในการปกป้องผิวที่สูงขึ้น

PA+ หมายถึงเมื่อทาครีมกันแดดแล้วจะสามารถปกป้องผิวจากรังสี UVA ได้ถึง 2 เท่า ถึงแม้ว่าจะเป็นการป้องกันระดับน้อย แต่เหมาะสำหรับกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมในอาคาร ตึก หรือบ้าน เช่น พนักงานออฟฟิศ

PA++ สามารถปกป้องผิวจากรังสี UVA ได้ถึง 4 เท่า โดยจะอยู่ในระดับปานกลาง เหมาะกับผู้ที่ต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีการโดนแสงแดดบ้าง แต่เป็นแสงแดดที่ไม่รุนแรงนัก

PA+++ มีความสามารถปกป้องผิวจากรังสี UVA ได้ถึง 8 เท่า เป็นค่า PA ที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ เหมาะกับกลุ่มคนที่จำเป็นต้องออกไปในสถานที่ที่มีแดดแรงจัด หรือต้องอยู่ท่ามกลางแสงแดดทั้งวัน

PA++++ มีความสามารถปกป้องผิวจากรังสี UVA ได้ถึง 16 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมาก เหมาะกับกลุ่มคนที่จำเป็นต้องออกไปในสถานที่ที่มีแดดแรงจัดเช่นกัน

ครีมกันแดด จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  1. Chemical sunscreen

เป็นครีมกันแดดที่พบตามท้องตลาดทั่วไป จะทำงานโดยการดูดซับรังสี UV แล้วเปลี่ยนความร้อนให้สลายไปใต้ผิวหนังจะสามารถปกป้องผิวได้หลังจากทา 20-30 นาที จึงควรทาครีมกันแดดก่อนออกไปสัมผัสแสงแดดอย่างน้อย 20 นาที ส่วนประกอบหลักๆ คือ Oxybenzone, Avobenzone หรือ Octinoxate  คนทั่วไปสามารถใช้ได้ แต่ไม่เหมาะกับ หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีผิวบอบบาง แพ้ง่าย

  1. Mineral sunscreen หรือ Physical sunscreen

ทำงานโดยการป้องกันและสะท้อนกลับรังสี UV บริเวณผิวหนัง สามารถป้องกันผิวจากแสงแดดได้ทันทีหลังจากการทาส่วนประกอบหลักคือ Zinc oxide และ Titanium dioxide เหมาะกับ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผิวบอบบาง แพ้ง่าย ผิวเด็ก

หญิงตั้งครรภ์  หญิงให้นมบุตร ควรเลือกครีมกันแดดแบบไหนดี?

สำหรับหญิงตั้งครรภ์  หญิงให้นมบุตร ควรเลือกครีมกันแดดแบบ Mineral sunscreen เนื่องจาก มีแค่ Zinc oxide และ Titanium dioxide เท่านั้น ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยในคนท้อง ควรหลีกเลี่ยงครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของ Oxybenzone, Octinoxate, กลุ่มวิตามินเอ ความเข้มข้นสูง เช่น Retinol, Adaplene, Tretinoin เป็นต้น เนื่องจากพบว่าสามารถเหล่านี้ สามารถส่งผ่านทางรกและทางน้ำนมได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อทารกได้ ดังนั้นการอ่านส่วนประกอบของครีมกันแดดที่ใช้อยู่ปัจจุบัน จึงมีความสำคัญมากในช่วงตั้งครรภ์ และช่วงหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

 Gabros S, Nessel TA, Zito PM. Sunscreens And Photoprotection. [Updated 2023 Mar 7]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2023 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK537164/

2.  Latha MS, Martis J, Shobha V, Sham Shinde R, Bangera S, Krishnankutty B, Bellary S, Varughese S, Rao P, Naveen Kumar BR. Sunscreening agents: a review. J Clin Aesthet Dermatol. 2013 Jan;6(1):16-26. PMID: 23320122; PMCID: PMC3543289.

3.  Bozzo P, Chua-Gocheco A, Einarson A. Safety of skin care products during pregnancy. Can Fam Physician. 2011 Jun;57(6):665-7. PMID: 21673209; PMCID: PMC3114665.

4.  Teiri H, Samaei MR, Dehghani M, Azhdarpoor A, Hajizadeh Y, Mohammadi F, Kelishadi R. The association of prenatal exposure to benzophenones with gestational age and offspring size at birth. Environ Sci Pollut Res Int. 2022 Apr;29(17):24682-24695. doi: 10.1007/s11356-021-17634-9. Epub 2021 Nov 26. PMID: 34826089; PMCID: PMC8620316.

5.  งานกำหนดมาตรฐาน กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด(สำหรับประชาชน). ใน: นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี, นพ.นรังสันต์ พีรกิจ, ภก.วัฒนา อัครเอกฒาลิ, ภญ.คุณภร ตั้งจุฑาชัย, บรรณาธิการ.แนวทางเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด(สำหรับประชาชน). พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ); 2555 หน้า. 1-13.