Skip to content

Bilastine ยาแก้แพ้ตัวใหม่ชนิดไม่ง่วง

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานี้สถานการณ์ของโรคภูมิแพ้มีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นถึง 3- 4 เท่า ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยที่สาเหตุหลักของอาการภูมิแพ้ต่างๆ เกิดจากการที่ร่างกายของเราได้รับสิ่งกระตุ้นทั้งหลายที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ฝุ่น มลภาวะ หรือเกสรดอกไม้ ซึ่งสิ่งกระตุ้นเหล่านี้จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเราให้เกิดอาการต่างๆ ทำให้เกิดอาการคัน ผื่นแพ้ น้ำมูกไหล จาม ที่ก่อให้เกิดความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ แนวทางในการรักษาอาการเหล่านี้สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาแก้แพ้นั่นเอง

ยาแก้แบบง่วง vs ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง

ยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงนอนนั้นจัดเป็นยาแก้แพ้กลุ่มเก่าที่สามารถเข้าสู่สมองและทำให้เกิดผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมได้ ในขณะที่ยาแก้แพ้รุ่นใหม่ชนิดที่ไม่ง่วงจะถูกพัฒนาขึ้นให้เข้าสู่สมองลดลงและสามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้น ยาแก้แพ้ตัวใหม่ที่จะมาแนะนำในวันนี้ก็คือ Bilastine ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วงและมีโครงสร้างแตกต่างจากยาในกลุ่มเดียวกันโดยสิ้นเชิง

Bilastine มีข้อดีอย่างไร

ตัวยา Bilastine หรือในชื่อการค้า Bilaxten® มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) และลมพิษ (Urticaria) อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะไม่ทำให้ง่วงนอนแล้ว ยังสามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนานถึง 24 ชั่วโมงและลดอาการของผื่นผิวหนังได้หลังรับประทานยาไปภายใน 24 ชั่วโมงอีกด้วย

วิธีรับประทาน Bilastine

รับประทานวันละ 1 เม็ด ขนาด 20 mg แนะนำให้รับประทานขณะที่ท้องว่างและหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกันกับน้ำผลไม้เนื่องจากจะส่งผลต่อการดูดซึมของยา

ด้านความปลอดภัย

  • Bilastine มีความปลอดภัยในการใช้สำหรับเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
  • ระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต สตรีมีครรภ์และสตรีที่กำลังให้นมบุตรเนื่องจากยังมีข้อมูลการศึกษาไม่เพียงพอว่ายานี้ส่งผลอย่างไรต่อทารกหรือสามารถผ่านทางน้ำนมของมารดาได้หรือไม่ เนื่องจากยาบางชนิดสามารถก่อให้ทารกเกิดวิกลรูปได้ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง

อ้างอิง

  1. Bilastina. What Bilastine is and what it is used for [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 4 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก https://bilastina.com/en/about-bilastine/
  2. Gandhi, J., Godse, K., & Godse, G. (2018). Bilastine: A novel antihistamine. Indian Journal of Drugs in Dermatology, 4(1), 3.
  3. Leceta, A., Sologuren, A., Valiente, R., Campo, C., & Labeaga, L. (2017). Bilastine in allergic rhinoconjunctivitis and urticaria: a practical approach to treatment decisions based on queries received by the medical information department. Drugs in context, 6.
  4. Mösges, R., Lee, D. L. Y., Abong, J., Siasoco, B., Chow, S. K., Leong, J. L., … & Campomanes, B. (2016). Role of bilastine in the management of allergic rhinitis and urticaria: an Asia-Pacific consensus statement. Asia Pacific Allergy, 6(1), 56-66.
  5. Papadopoulos, N. G., & Zuberbier, T. (2019). The safety and tolerability profile of bilastine for chronic urticaria in children. Clinical and translational allergy, 9(1), 1-7
  6. Product monograph including patient medication information. [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 4 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก https://aralez.com/wp-content/uploads/2016/12/BLEXTEN-Product-Monography-English.pdf
  7. Scaglione, F. (2012). Safety profile of bilastine: 2nd generation H1-antihistamines. Eur Rev Med Pharmacol Sci, 16(14), 1999-2005.
  8. นศภ. กนกวรรณ ศักดิ์สกุลไกร. ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงและไม่ง่วง รักษาอาการแพ้ได้เหมือนกันจริงหรือ?. [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 4 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก  https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=27
  9. รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์.โรคภูมิแพ้ในเด็ก ตอนที่1. [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก  http://allergy.or.th/2016/resources_expert_detail.php?id=92

Leave a Reply