Skip to content

ไปหาหมอทีไรความดันขึ้นทุกที เธอคนดีอาจเป็นแค่…White-coat hypertension

ป้า: “เภสัชคะๆ วันก่อนป้าไปหาหมอมา วัดความดันได้ตั้ง 150 แต่ป้าวัดที่บ้านทีไรก็ปกติตลอด แบบนี้ป้าต้องกินยาลดความดันมั้ยคะ’’

เภสัชคนสวย : “ใจเย็นก่อนนะคะคุณป้า คุณป้าอาจจะเป็นแค่ White-coat hypertension ก็ได้นะคะ’’

ป้า : “ห๊ะ…ไวโคด วายกอท อะไรนะคะเภสัช ป้าไม่เคยได้ยินเลย มันคืออะไรอ่ะคะ แล้วสรุปป้าเป็นความดันสูงยังคะ’’

เภสัชคนสวย : “White-coat hypertension ค่ะคุณป้า หรือเรียกง่ายๆก็คือโรคกลัวหมอนั่นแหละค่ะ มันเกิดจากความกลัว ความตื่นเต้น ความกังวลเวลาเราไปพบแพทย์ หรือไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น โรงพยาบาล ความดันที่ได้เลยสูงกว่าปกติ ค่าที่ได้ยังไม่ใช่ค่าความดันที่แท้จริงนะคะ คุณป้าควรวัดความดันอีกครั้งร่วมกับการบันทึกค่าความดันโลหิตทุกวัน ถึงจะสรุปได้ค่ะ’’

ป้า : “จริงหรอคะ ค่อยยังชั่วหน่อย’’

เภสัชคนสวย : “แต่คุณป้าก็ห้ามชะล่าใจนะคะ อาการแบบนี้ก็อาจเป็นสัญญาณแจ้งเตือนถึงการเป็นโรคความดันโลหิตสูงในอนาคตได้ค่ะ ทางที่ดีเภสัชอยากแนะนำให้คุณป้ามีเครื่องวัดความดันโลหิตติดตัวเอาไว้นะคะ จะได้เอาไว้วัดความดันโลหิตทุกวัน ถ้าคุณป้าวัดที่บ้านแล้วความดันโลหิตยังสูงอยู่ แสดงว่าคุณป้าเริ่มเข้าข่ายเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วนะคะ’’

ป้า : “ได้ค่ะคุณเภสัช ขอบคุณมากนะคะ ไม่งั้นป้าได้เครียดไปอีกนานแน่ๆ”

บทสนทนาข้างต้น เป็นคำถามที่คนไข้มักเข้ามาถามบ่อยมาก ทำให้ทราบว่ายังมีหลายๆท่านที่ยังไม่เข้าใจถึงภาวะนี้ บางคนหนักเข้าถึงขั้นไม่กล้าไปพบแพทย์ หรือ จบลงด้วยการมาขอซื้อยาลดความดันทานเอง

แต่กลับกัน หากคนไข้วัดความดันโลหิตที่บ้านแล้วสูงกว่าปกติ แต่เมื่อวัดที่โรงพยาบาลกลับพบว่าปกติ แบบนี้จะเรียกว่าภาวะ Masked hypertension ซึ่งก็เป็นภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงในอนาคตเช่นเดียวกัน 

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการคอยหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ควบคู่กับการวัดความดันโลหิตที่บ้านไปด้วย เพื่อเฝ้าระวังและให้ได้ค่าความดันโลหิตที่ถูกต้อง 

ค่าความดันโลหิตปกติในการวัดแต่ละที่ มักจะมีค่าไม่เท่ากัน โดยถ้าวัดที่โรงพยาบาลมักมีค่าสูงกว่าวัดที่บ้านประมาณ 5 มม.ปรอทดังนี้ ​​​​

  • ที่บ้าน <135/85 มม.ปรอท
  • ที่โรงพยาบาล <140/90 มม.ปรอท

วิธีการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องคือ 

  • นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที 
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนและไม่สูบบุหรี่ก่อนวัดความดันโลหิต 30 นาที
  • นั่งหลังตรงพิงพนัก วางแขนบนโต๊ะ ไม่นั่งไขว่ห้าง
  • ไม่พูดคุยขณะทำการวัดความดันโลหิต

โดยทั่วไปแนะนำให้วัดความดันโลหิตวันละ 2 เวลา คือ เช้า(หลังตื่นนอนไม่เกิน 1 ชั่วโมง) และ ก่อนนอน โดยแต่ละเวลาให้วัดอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกันประมาาณ 1 นาที แล้วหาค่าเฉลี่ย 

สำหรับช่วงเช้าควรวัดก่อนรับประทานอาหาร และยังไม่ได้รับประทานยาลดความดัน เพื่อที่จะได้ค่าที่แม่นยำมากที่สุด

ดังนั้นหากใครที่วัดความดันโลหิตที่บ้านแล้วพบว่ามีค่าสูง หรือ ต่ำกว่าที่วัดได้ที่โรงพยาบาล ก็อย่าเพิ่งตกใจไปหาซื้อยาลดความดันมาทานเองนะคะ เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำเกินไปจนเป็นอันตรายได้ ทางที่ดีถ้าไม่แน่ใจควรไปพบแพทย์เพื่อกาารวินิจฉัยที่ถูกต้องค่ะ

ด้วยความปรารถนาดีจาก Safe and Save Pharmacy 

ที่มาของข้อมูล

  • คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. จริงหรือไม่ วัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลสูงกว่าวัดที่บ้าน
  • แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562 โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย