Skip to content

ประสิทธิภาพของ Probiotics ต่อการกำจัดเชื้อ Covid-19

โรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus-2 (SARS-CoV-2) ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงของระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อปอดและระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงระบบทางเดินอาหารอีกด้วย โดยมีการตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 ที่บริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลําไส้เล็ก จนไปถึงทวารหนัก อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หรือ ปวดท้อง ซึ่งพบว่าอาการเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับจํานวนและความหลากหลายของไมโครไบโอตาในลําไส้(Gut Dysbiosis)  

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า การอักเสบที่ปอดจากการติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อ Gut microbiome  ทำให้สมดุลย์ของ Gut microbiome เปลี่ยนแปลงไป และการเสียสมดุลย์นี้จะยังไม่สามารถกลับสู่สภาวะปกติได้จนถึง 6 เดือนหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 องค์ประกอบของไมโครไบโอมในลําไส้ที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อความไวในการติดเชื้อและส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันรวมถึงโรคเรื้อรังต่างๆตามมา

จึงมีการศึกษาใหม่ๆ ที่แสดงให้ถึงประสิทธิภาพของโพรไบโอติกต่อการกําจัดเชื้อ Covid-19 รวมถึงประสิทธิภาพของการรับประทานโพรไบโอติก ที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่จะทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อเหล่านี้ได้ 

ตัวอย่างการศึกษาต่างๆ

การศึกษาแบบ randomized controlled clinical trial ของ Wang และคณะ  ได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพของโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ S. thermophilus ENTK12 ต่อการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า พบว่ากลุ่มที่ได้รับโพรไบโอติกมีอุบัติการณ์การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจลดลง 68% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p-value<0.005)และมีจํานวนวันที่ป่วยน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ 

การศึกษาของ Rodriguez-Blanque และคณะ ได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ Loigolactobacillus coryniformis K8 CECT 5711 ต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน รวมถึงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์แนวหน้าที่สัมผัสเชื้อโควิด-19 จากโรงพยาบาล 2 แห่งในประเทศสเปน จํานวน 255 คน ผลการศึกษาพบว่าหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไป 81 วัน ระดับ IgG ของกลุ่มที่ได้รับโพรไบโอติกสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ(p-value=0.040) และผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนในผู้ที่รับประทานโพรไบโอติกก่อนฉีดวัคซีนเข็มแรกน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ(p-value=0.043)

การศึกษาของ Yun Kit Yeoh และคณะได้ศึกษาความเกี่ยวข้องขององค์ประกอบของไมโครไบโอมในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ต่อความรุนแรงในการติดเชื้อและการตอบสนองทางภูมิต้านทาน เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 โดยศึกษาในรูปแบบ cohort study จากโรงพยาบาล 2 แห่งที่ประเทศฮ่องกง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2022 ผลการศึกษาคาดว่าจุลินทรีย์ในลําไส้มีบทบาทต่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและอาจมีอิทธิพลต่อความรุนแรงของโรคได้

เอกสารอ้างอิง
  1.  DE OLIVEIRA, Gislane Lelis Vilela, et al. Microbiota modulation of the gut-lung axis in COVID-19. Frontiers in immunology, 2021, 214.
  2. WANG, Qiang, et al. Oropharyngeal probiotic ENT-K12 prevents respiratory tract infections among frontline medical staff fighting against COVID-19: a pilot study. Frontiers in Bioengineering and Biotechnology, 2021, 9: 646184.
  3. RODRIGUEZ-BLANQUE, Raquel, et al. Evaluation of the effect of Loigolactobacillus coryniformis K8 CECT 5711 consumption in health care workers exposed to COVID-19. Frontiers in Nutrition, 2022, 9. 
  4. YEOH, Yun Kit, et al. Gut microbiota composition reflects disease severity and dysfunctional immune responses in patients with COVID-19. Gut, 2021, 70.4: 698-706.