Skip to content

เคล็บ(ไม่)ลับ เลือกโปรไบโอติกส์อย่างไร ให้โดนใจสุขภาพของคุณ

ทำไม โปรไบโอติกส์ ถึงจำเป็น

ในปัจจุบันจะพบว่าผู้คนมีสุขภาพที่แย่ลงและเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น เกิดการติดเชื้อต่างๆมากมาย ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราที่ส่งผลต่อสมดุลจุลินทรีย์ที่ดีในร่างกาย เช่น การรับประทานอาหารหวาน น้ำตาล การรับประทานยาปฏิชีวนะ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ความเครียด สารพิษต่างๆ ทำให้อนุมูลอิสระ เกิดความไม่สมดุลของระบบฮอร์โมน เกิดภาวะลำไส้รั่ว ที่ส่งผลต่อการกำจัดสารพิษ ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน และอื่นๆ ซึ่งภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้(Dysbiosis)นี้ ส่งผลเสียกับหลายระบบในร่างกายโดยเฉพาะเรื่องการย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และสุขภาพโดยรวม

โปรไบโอติกส์ หรือ จุลินทรีย์ชนิดดีที่พบเจอได้ในร่างกายของเรา อาศัยอยู่แทบทุกที่ในร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร ช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยมีหน้าที่หลายๆอย่าง เช่น

  • ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรค โดยทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของจุลินทรีย์ไม่ดี สร้างแบคเทอรโอซินที่เป็นสารต้านจุลชีพ ยึดเกาะพื้นที่ให้ไม่มีที่ว่างพอต่อการจับของเชื้อก่อโรคได้ เป็นต้น
  • ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ลดการติดเชื้อ ช่วยส่งสัญญาณไปยังเซลล์ภูมิคุ้มกันบริเวณข้างเคียง
  • ช่วยเรื่องระบบลำไส้และทางเดินอาหาร เช่น กระตุ้นการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหาร ช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหาร บรรเทาอาการท้องผูก ท้องเสีย กรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน เป็นต้น
  • ช่วยสร้างสารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย(postbiotics) เช่น กรดไขมันสายสั้น (short chain fatty acid) ได้แก่ acetate, propionate, butyrate ซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญของเซลล์ชั้นผิวของลำไส้ใหญ่ ทำให้เยื่อบุลำไส้แข็งแรง รวมถึงวิตามิน K, B1, B2,  B6 และ B12 เป็นต้น
  • ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล โดยอาศัยกลไกที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายเกลือน้ำดีโดยเอนไซม์ bile salt hydrolase (BSH) ซึ่งจะไปเปลี่ยนเกลือน้ำดีให้อยู่ในรูปอิสระและถูกขับออกจากร่างกายส่งผลให้ระดับโคเลสเตอรอลดลง
  • ช่วยเมทาบอไลต์ Xenobiotics ซึ่งเป็นสารอินทรีย์แปลกปลอมที่เข้ามาอยู่ในสิ่งมีชีวิต เช่น ยา สารพิษ สารเคมี, Phyto-Estrogenเป็นต้น
  • อื่นๆ เช่น ส่งผลต่อสมดุลฮอร์โมน สารสื่อประสาท อารมณ์ ผิวพรรณ ระบบเผาผลาญ ผื่นแพ้ต่างๆ เป็นต้น

จะเห็นว่า…จุลินทรีย์ที่ดี หรือ โปรไบโอติกส์ มีบทบาทสำคัญมากต่อสุขภาพของเรา การมีจุลินทรีย์ที่ดี ในปริมาณที่เหมาะสมในร่างกายจะช่วยให้ระบบเมตาบอลิซึม การเผาผลาญไขมันและน้ำตาลทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกัน-ลดการเกิดภูมิแพ้ ต่อต้านเชื้อก่อโรค รวมถึงป้องกัน-รักษาโรคมะเร็งบางชนิดได้

เลือก โปรไบโอติกส์ อย่างไร ให้เหมาะกับที่ร่างกายต้องการ

1. เลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม ให้ตอบโจทย์กับปัญหาสุขภาพ

Probiotic มีหลากหลายสปีชีส์ หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะและประโยชน์ต่อสุขภาพไม่เหมือนกัน ดังนั้นการเลือกซื้อ Probiotic ควรเลือกดูสปีชีส์และสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสุขภาพแต่ละคนด้วย บางคนอาจคิดว่าทาน Probiotic อยู่แล้ว แต่ Probiotic ที่ท่านทาน อาจจะมีเพียงสายพันธุ์เดียว หรือสายพันธุ์ที่รับประทานอยู่ไม่ได้แก้ปัญหาสุขภาพของท่านก็เป็นได้

Probiotics ประกอบด้วยชื่อ สกุล(genus), ชนิด(species), สายพันธุ์(strain) ซึ่งประโยชน์ของโปรไบโอติกส์ต่อร่างกายอาจแตกต่างกัน ถึงแม้จะมาจากสกุลเดียวกันก็ตาม เช่น L. acidophilus และ L. reuteri ซึ่งทั้ง 2 ตัวมีฤทธิ์ในการต้านจุลชีพเช่นเดียวกัน แต่ L. acidophilus มีประโยชน์เพิ่มเติมคือ ช่วยในการสังเคราะห์วิตามินเคและแล็กเทส ในขณะที่ L. reuteri สามารถปล่อยสาร reuterin ซึ่งเป็นสารต้านจุลชีพประสิทธิภาพสูง สามารถใช้รักษาอาการท้องเสียจาก rotavirus และH. pylori ได้

2. รับประทานให้หลากหลายสายพันธุ์ เพื่อให้ได้ประโยชน์ที่ครอบคลุมหลายด้าน

มีงานวิจัยที่พบว่าการใช้โปรไบโอติกส์ร่วมกันให้ผลลัพธ์ดีกว่าการใช้เพียงตัวเดียว เช่น การให้ L. rhamnosus และ L. reuteri ร่วมกัน สามารถบรรเทาอาการโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้ดีกว่าการใช้ตัวเดียว ดังนั้นการเลือกรับประทานโปรไบโอติกส์ นอกจากจะเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมแล้ว ยังควรเลือกรับประทานหลากหลายสายพันธุ์ร่วมกันเพื่อให้เกิดการเสริมฤทธิ์กัน(synergistis effect) และให้ได้รับประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างครบถ้วน

3. ควรจะเติมอาหารที่ดี เพื่อเลี้ยงเชื้อโปรไบโอติกส์ให้เติบโต

อาหารของเชื้อโปรไบโอติกส์ เรียกว่า พรีไบโอติกส์ ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลสั้นที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ มีแค่โปรไบโอติกส์เท่านั้นที่สามารถย่อยได้ พรีไบโอติกส์ช่วยส่งเสริมการทำงานและการเติบโตของโปรไบโอติกส์ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าการรับประทานพรีไบโอติกส์สามารถเพิ่มการเติบโตของแล็กติกแบคทีเรียในลำไส้ โดยเฉพาะ Bifidobacterium ได้ อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ร่างกายไม่ต้องการอีกด้วย

พรีไบโอติกส์มีมากมายหลายชนิด สามารถพบได้ในอาหารที่เรารับประทานในชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันพบว่าอาหารในปัจจุบัน รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเราเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ร่างกายไม่ได้รับพรีไบโอติกส์ที่เพียงพอต่อการเสริมเชื้อโปรไบโอติกส์

4. เลือกผลิตภัณฑ์ที่มั่นใจว่าสามารถส่งโปรไบโอติกส์ไปได้ถึงที่หมาย

จุดมุ่งหมายของ Probiotic ส่วนใหญ่คือ “ลำไส้” เนื่องจากลำไส้เป็นศูนย์รวมของสุขภาพของร่างกาย นอกจากจะช่วยเรื่องระบบทางดินอาหารแล้ว ยังเกี่ยวข้องต่อระบบภูมิคุ้มกันและสารสื่อประสาทต่างๆ แต่กว่าที่ Probiotic จะเดินทางถึงลำไส้ ต้องผ่านทั้งสภาวะความเป็นกรดจากกระเพาะอาหาร น้ำย่อย น้ำดีต่างๆ ทำให้ Probiotic ที่ไม่ทนกรด ถูกทำลายก่อนที่จะเดินทางถึงลำไส้ ดังนั้นการเลือกผลิตภัณฑ์ Probiotic ที่ดี ควรศึกษาว่าสายพันธุ์ที่เรารับประทานนั้นมีความสามารถต่อการทนกรดมากน้อยเพียงใด หรือ มีเทคโนโลยีที่สามารถป้องกัน Probiotic ไม่ให้ถูกทำลายในสภาวะความเป็นกรดได้หรือไม่

โปรไบโอติกส์ แต่ละสายพันธุ์ แตกต่างกันอย่างไร

ประโยชน์ของโปรไบโอติกส์ต่อร่างกายอาจแตกต่างกัน ถึงแม้จะมาจากสกุลเดียวกันก็ตาม เช่น L. acidophilus และL. reuteri ซึ่งทั้ง 2 ตัวมีฤทธิ์ในการต้านจุลชีพเช่นเดียวกัน แต่ L. acidophilus มีประโยชน์เพิ่มเติมคือ ช่วยในการสังเคราะห์วิตามินเคและแล็กเทส ในขณะที่ L. reuteri สามารถปล่อยสาร reuterin ซึ่งเป็นสารต้านจุลชีพประสิทธิภาพสูง สามารถใช้รักษาอาการท้องเสียจาก rotavirus และ H. pylori ได้ อีกทั้งมีงานวิจัยที่พบว่าการใช้โปรไบโอติกส์ร่วมกันให้ผลลัพธ์ดีกว่าการใช้เพียงตัวเดียว เช่น การให้ L. rhamnosus และ L. reuteri ร่วมกัน สามารถบรรเทาอาการโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้ดีกว่าการใช้ตัวเดียว

ดังนั้นการเลือกรับประทานโปรไบโอติกส์ นอกจากจะเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมแล้ว ยังควรเลือกรับประทานหลากหลายสายพันธุ์ร่วมกันเพื่อให้เกิดการเสริมฤทธิ์กัน(synergistis effect) และให้ได้รับประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างครบถ้วน

โปรไบโอติกส์แต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของประโยชน์ บริเวณที่อยู่อาศัย ความทนต่อสภาพแวดล้อมในร่างกายที่แตกต่างกัน เช่น

  • สายพันธุ์ที่ทนกรดในกระเพาะอาหารและกรดน้ำดี ก็จะสามารถอยู่ได้ในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
  • สายพันธุ์ที่สามารถเกาะลำไส้เล็กได้ดี ก็จะช่วยปรับสมดุลของระบบภูมิต้านทานและคอยต้านการติดเชื้อในลำไส้
  • แหล่งอาศัยดั้งเดิมในร่างกายของแต่ละสายพันธุ์ ก็จะมีประโยชน์สำคัญต่ออวัยวะนั้นๆได้ดี
  • สายพันธุ์ไหนอยู่ในอาหารเป็นปกติ ก็จะมีความปลอดภัยสูง
  • สายพันธุ์ใดสามารถผลิตสารต้านเชื้อโรคได้ ก็จะช่วยสร้างสมดุลของแบคทีเรียและคอยป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียตัวร้าย

ซึ่งโปรไบโอติกส์สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่Lactobacillus และBifidobacterium ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบมากในร่างกาย โดยพบว่าในลำไส้ของมนุษย์มี Bifidobacterium มากกว่า Lactobacillus ประมาณ 2 เท่า

ทาน โปรไบโอติกส์ เท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสม

มีงานวิจัยสนับสนุนว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโปรไบโอติกส์ในผู้ใหญ่ควรมีจำนวนแบคทีเรียในปริมาณ 100 ล้าน CFU เพื่อให้มีจำนวนแบคทีเรียที่เพียงพอต่อการรอดชีวิตเมื่อต้องผ่านกระเพาะอาหารและกรดน้ำดีไปยังลำไส้ส่วนล่าง

                  จากการทดลองทางคลินิกพบว่าประสิทธิภาพของโปรไบโอติกส์ในอาหารเสริมขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่มีชีวิตรอดหลังบริโภคเข้าไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีอาหารเสริมโปรไบโอติกส์ควรมีจำนวนเชื้อขั้นต่ำสุดที่ 100 ล้าน(108) CFU หรือมากกว่า แต่การที่ผลิตภัณฑ์ใส่เชื้อจำนวนมากเกิน 100 พันล้าน(1011) CFU นั้นเหมาะสำหรับกรณีที่ต้องการเพิ่มจำนวนเชื้อในระบบทางเดินอาหารเพื่อใช้ในกรทดแทนกรณีที่เชื้อประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกรบกวนอย่างรุนแรงจากการรับประทานยาปฏิชีวนะหรือจากโรคอุจจาระร่วง

                  สิ่งสำคัญที่สุดนอกเหนือจากปริมาณเชื้อของโปรไบโอติกส์ คือ ความสม่ำเสมอในการรับประทาน โปรไบโอติกส์เป็นสิ่งมีชีวิตและสามารถตายได้ โปรไบโอติกส์ในร่างกายมนุษย์มีวงจรชีวิตที่สั้นน้อยกว่า 1 สัปดาห์ จากการศึกษาพบว่าไม่ว่าแหล่งต้นกำเนิดของโปรไบโอติกส์จะมาจากที่ใด ก็สามารถอยู่ในทางเดินอาหารได้แค่เพียง 10 วัน ถึง 1 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้นจึงควรรับประทานโปรไบโอติกส์เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอทุกวันเพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากการรับประทานโปรไบติกส์ได้อย่างเต็มที่

ตัวอย่างสายพันธุ์โปรไบโอติกส์ที่น่าสนใจ

Lactobacillus acidophilus

เป็นแบคทีเรียกรดแล็กติก ที่มีความสามารถผลิต hydrogen peroxide ทำให้มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ อีกทั้งยังสามารถผลิตสารต้านเชื้อแบคทีเรียธรรมชาติที่เรียกว่า lactocidin และ acidophilin จึงช่วยเพิ่มความต้านทานต่อเชื้อโรค สามารถต้านเชื้อจำพวก S. aureus, Salmonella, E. coli, Rotavirus และ C. albicans ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบได้ในลำไส้เล็ก ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และ มดลูก มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายๆด้าน เช่น

  • ลดอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส โปรไบโอติกส์สายพันธุ์นี้ มีจุดเด่น คือ ตัวมันสามารถผลิตเอนไซม์ lactase ให้ไปย่อยน้ำตาลlactose จากน้ำตาลและนม จนได้เป็นกรด lactic ออกมา ทําให้สามารถใช้ในการช่วยลดอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) หรือที่เรียกว่า “แพ้นม” ได้
  • ป้องกันการติดเชื้อได้ เช่น เชื้อไข้หวัด, เชื้อ H. pyroli, เชื้อราในช่องคลอด, เชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
  • รักษาอาการท้องเสียจากยาปฏิชีวนะ
  • ช่วยผลิตสารต่างๆที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น niacin, folic และ pyridoxine

Lactobacillus reuteri

เป็นแบคทีเรียแกรมบวกชนิดกรดแล็กติก ที่ได้รับการศึกษามากที่สุด เนื่องจากมีคุณสมบัติเฉพาะ คือ สามารถผลิตสาร reuterin ที่เป็นสารต้านจุลชีพก่อโรคได้ พบในน้ำนมมนุษย์และลำไส้ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในการรักษาการติดเชื้อ  H. Pylori เนื่องจากสามารถอยู่รอดในกระเพาะอาหารได้ดีกว่าโปรไบโอติกส์สายพันธุ์อื่น โดย L. reuteri จะฝังตัวอยู่ที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งเป็นบริเวณที่มักมีการติดเชื้อH. Pylori นอกจากนี้ยังผลิตสารที่ชื่อว่า reuterin ที่สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆรวมถึงH. Pylori ได้  อีกทั้งที่ผิวของมันยังมีโปรตีนที่สามารถยึดติดกับบริเวณที่ H. Pylori ชอบเกาะติดอยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้เชื้อ H. Pylori เกาะติดและเจริญที่เยื่อบุกระเพาะอาหารลดลง

นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และลดภาวะโคลิกในเด็กทารกได้

Lactobacillus rhamnosus

เดิม L. rhamnosus ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ย่อยของ L. casei เนื่องจากมีความสามารถหลายประการในการปรับระบบภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกับ L. casei มีความทนทานต่อกรดในกระเพาะอาหารและเกลือน้ำดี สามารถเข้าถึงลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยึดติดกับลำไส้เพื่อป้องกันจุลินทรีย์ที่ไม่ดี อีกทั้งยังสามารถผลิตกรดแล็กติกได้ พบได้ในลำไส้เล็กและช่องคลอด

Bifidobacterium longum

เป็นแบคทีเรียชนิดกรดแล็กติก สามารถผลิตกรดแล็กติกและกรดแอซีติก ที่ช่วยลด pH ในลำไส้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดี อีกทั้งยังมีความทนต่อสภาพที่เป็นกรดและน้ำดี มักอาศัยอยู่บริเวณทางเดินอาหารและเป็นแบคทีเรียที่มักพบในน้ำนมแม่ เป็นสายพันธุ์ที่มีประโยชน์หลายด้าน เช่น ช่วยเรื่องระบบลำไส้ ปรับ pH ในทางเดินอาหารให้เหมาะสม เพื่อสร้างสมดุลทางเดินอาหารให้แข็งแรง, ต้านการอักเสบจากโรคโครห์น (โรคที่เกิดการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้) และ โรคลำไส้อักเสบ, ลดอาการโคลิกในเด็กทารก, ลดอาการท้องเสียและคลื่นไส้ระหว่างใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

Bifidobacterium lactis

โปรไบโอติกส์สายพันธุ์นี้ มีจุดเด่น คือ เป็นสายพันธุ์ที่ทนต่อกรดและน้ำดีในทางเดินอาหาร ทำให้สามารถมีชีวิตรอดถึงลำไส้ได้ มักพบได้ในเด็กสุขภาพดีที่ดื่มนมแม่ มีความปลอดภัยสูงจนได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก เป็นสายพันธุ์ที่มีประโยชน์เด่นๆในเรื่องการเพิ่มภูมิต้านทานและรักษาอาการภูมิแพ้ต่างๆ ช่วยย่อยอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถลดโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และสามารถช่วยกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อโรคในลำไส้ได้อีกด้วย

Bifidobacterium bifidum

เป็นแบคทีเรียชนิดกรดแล็กติก สามารถผลิตกรดแล็กติกและกรดแอซีติก ที่ช่วยลด pH ในลำไส้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดี เป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นบริเวณเยื่อเมือกบุลำไส้ใหญ่และช่องคลอด มีฤทธิ์ต้านจุลชีพและป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่บุกทำลายเนื้อเยื่อ โดยไปยึดเกาะกับผนังลำไส้ ช่วยแย่งสารอาหารจากจุลินทรีย์ที่ไม่ดี

Bacillus coagulans 

โปรไบโอติกส์สายพันธุ์นี้มีจุดเด่น คือ สามารถสร้าง endospore เหมือนเกราะคอยปกป้องตัวเอง ทำให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงได้ เช่น มีอัตราการรอดชีวิตสูงแม้เก็บที่อุณหภูมิห้องนานถึง 3 ปี, ทนอุณหภูมิสูงได้ถึง 105 องศาเซลเซียส ทำให้ไม่ถูกทำลายระหว่างกระบวนการผลิตและการขนส่ง, ทนต่อสภาวะกรดในกระเพาะอาหารและสภาวะของเกลือน้ำดีได้ ทำให้มีปริมาณเชื้อที่เพียงพอที่จะไปถึงลำไส้ใหญ่และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย

Saccharomyces boulardii

เป็นยีสต์ชนิดหนึ่งที่ใช้ในการรักษาสมดุลย์ในทางเดินอาหาร ปัจจุบันใช้ในการรักษาและป้องกันอาการท้องเสียหลายแบบ ได้แก่ ท้องเสียในเด็กและทารก ท้องเสียในผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายยาง ท้องเสียจากการท่องเที่ยว ท้องเสียที่เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และท้องเสียที่มีสาเหตุจากเชื้อ Clostridium difficile โปรไบโอติกส์ชนิดยีสต์มีข้อดีกว่าแบคทีเรียกลุ่มแลคติก คือ ยีสต์สามารถดํารงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีค่าความเป็นกรด-เบสได้หลายช่วง ทนต่อเอนไซม์น้ำดีในทางเดินอาหาร และทนต่ออุณหภูมิในร่างกายของผู้ให้อาศัย นอกจากนี้ยีสต์ไม่ทําให้เกิดการถ่ายทอดยีนดื้อยาปฏิชีวนะเข้าสู่แบคทีเรียก่อโรค ดังนั้นการใช้ยีสต์โพรไบโอติกจึงปลอดภัยสําหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการได้รับยาปฏิชีวนะ

เอกสารอ้างอิง
  • Rakel, David. Integrative Medicine – E-Book . Elsevier Health Sciences. Kindle Edition. 
  • Jing Cheng, Arthur C. Ouwehand. Gastroesophageal Reflux Disease and Probiotics: A Systematic Review. 2020 Jan;12(1):132.
  • หนังสือเวชศาสตร์ชะลอวัยโปรไบโอติกส์ เล่ม 3