ภาวะดื้ออินซูลิน(Insulin Resistance) เป็นภาวะที่ร่างกายของเรามีการตอบสนองต่ออินซูลินที่น้อยลง ฮอร์โมนอินซูลินไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ตามปกติ ฮอร์โมนอินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญควบคุมการใช้พลังงานของร่างกาย โดยกระบวนการนำน้ำตาลในเลือดเข้าไปในเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะตับ กล้ามเนื้อลาย และเซลล์ไขมัน แล้วนำไปผลิตพลังงานเพื่อให้เซลล์ต่างๆทำงานได้อย่างปกติและสะสมพลังงานไว้ในรูปของไกลโคเจนที่ตับ เพิ่มการสังเคราะห์โปรตีนที่กล้ามเนื้อ ยับยั้งการสลายไตรกลีเซอไรด์ออกจากเซลล์ไขมันใต้ผิวหนัง ดังนั้นผู้ที่มีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน การเก็บพลังงานจะผิดตำแหน่ง ร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาลได้ จึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีไขมันในเลือดผิดปกติ ไขมันพอกตับ เซลล์ไขมันปล่อยสาร adipokines ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตสูง การอักเสบของผนังหลอดเลือด มีไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือดชั้นใน นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) เกิดหลอดเลือดแดงตีบตัน และอวัยวะต่างๆขาดเลือดในที่สุด เมื่อร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นเรื่อย ๆ จะนำไปสู่กลุ่มโรคเมตาบอลิกซินโดรมนั่นเอง
โรคเมตาบอลิก หรือ ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) คือกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานชนิดที่2 และปัญหาสุขภาพอื่นๆ กลุ่มความผิดปกติดังกล่าวได้แก่
- อ้วนลงพุง(central obesity หรือ abdominal obesity)
- ความดันโลหิตสูง
- มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือดสูง
- มีไขมันคอเลสเตอรอลตัวดี (HDL cholesterol) ต่ำ
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
การวินิจฉัยโรคเมตาบอลิก
เกณฑ์ความผิดปกติเมื่อพบอย่างน้อย 3 ข้อ ใน 5 ข้อ ได้แก่
1. ความยาวรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) ในผู้ชาย และความยาวรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร) ในผู้หญิง
2. ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง ได้รับการรักษาอยู่
3. ระดับ triglyceride ในเลือดมากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือถูกวินิจฉัยและได้รับการรักษาอยู่
4. ระดับไขมันดี HDLcholesterol น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง
5. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร (fasting blood sugar) มากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือได้รับการวินิจฉัยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
และถึงแม้จะเข้าเกณฑ์ไม่ครบ3ข้อ แต่หากเป็นข้อใดข้อหนึ่งควรจะได้รับการป้องกันหรือรักษาเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติในอนาคตด้วย
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคเมตาบอลิก
1. ควรควบคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยให้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ให้อยู่ระหว่าง 18.5–23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือลดน้ำหนักให้ได้อย่างน้อย 5 – 10% ของน้ำหนักตัว จะช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินและความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้
2. การออกกำลังกายเป็นประจำ โดยออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดินเร็ว 30 นาทีทุกวันหรือประมาณ 150 นาทีต่อ 1 สัปดาห์ จะทำให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยลดความดันเลือด ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้อีกด้วย
3. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ข้าวกล้อง ผัก ถั่ว และเพิ่มโปรตีนจากปลา รวมถึงผักและผลไม้ที่ไม่หวาน ลดอาหารพวกเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูปต่าง ๆ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เลือกรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด ลูกเดือย
สามารถเลือกรับประทานอาหารจากผลิตภัณฑ์ที่มีกรดไขมันที่ดีต่อร่างกาย เช่น น้ำมันปลา น้ำมันจากจมูกข้าว แต่ต้องเลือกที่มีความเข้มข้นของ omega-3 มากกว่า omega-6 โดย Omega-3 มีส่วนช่วยลดไขมันไตรกรีเซอไรด์ และลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือด สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแต่หากมีสัดส่วนของ omega-6 มากกว่า omega-3 ซึ่ง omega-6 นี้แม้จะมีความจำเป็นต่อร่างกายแต่ถ้าได้รับมากเกินไปก็เป็นต้นเหตุให้ความดันเลือดสูง เพิ่มสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ และทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดง่ายขึ้น ทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ง่ายเช่นกัน ส่วนในน้ำมันจมูกข้าวนอกจากจะมี omega-3 แล้วยังมีสาร Gamma oryzanol ช่วยยับยั้งการสร้างคอเลสเตอรอล เพิ่มการเผาผลาญคอเลสเตอรอล ลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้ เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี(HDL) และลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในหลอดเลือดได้
References
1. Freeman AM, Acevedo LA, Pennings N. Insulin Resistance. [Updated 2023 Aug 17]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/sites/books/NBK507839/
2. Lebovitz HE. Insulin resistance: definition and consequences. Exp Clin Endocrinol Diabetes. 2001;109 Suppl 2:S135-48. doi: 10.1055/s-2001-18576. PMID: 11460565.
3. ละอองดาว คําชาตา, เพ็ญศิริ ดํารงภคภากร,อัมพรพรรณ ธีรานุตร. โรคอ้วนลงพุง: สัญญาณอันตราย
ที่ต้องจัดการ. ศรีนครินทร์เวชสาร 2561; 33(4): 386-390.