Skip to content

เมื่อพูดถึงกระดูก แคลเซียมมักเป็นแร่ธาตุตัวแรก ๆ ที่เรานึกถึง แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีมากที่สุดในร่างกาย การได้รับแคลเซียมในปริมาณที่ไม่เพียงพอในระยะยาวโดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุนซึ่งอาจทำให้เกิดกระดูกหักหรือยุบตัวลงได้ แต่รู้หรือไม่ว่าแม้แคลเซียมจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแต่การทานแคลเซียมไม่ถูกวิธีอาจส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี

ผู้เชี่ยวชาญจาก John Hopkin University School of Medicine เปิดเผยข้อมูลจากการติดตามผลการรับประทานแคลเซียมจากคนจำนวน 2,700 คน เป็นเวลา 10 ปี พบว่าการรับประทานแคลเซียมเสริมจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ขณะที่การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมกลับมีฤทธิ์ในการปกป้องหลอดเลือดและหัวใจ

นอกจากนี้ข้อมูลจาก Korean National Health Insurance Service พบว่าการรับประทานแคลเซียมจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ และอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การทานแคลเซียมเสริมอาหารก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้อย่างไร??

แม้ว่าแคลเซียมจะมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เกี่ยวข้องกับการเต้นของหัวใจและการแข็งตัวของเลือด แต่การรับประทานแคลเซียมไม่ถูกวิธีกลับก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น การได้รับแคลเซียมในปริมาณที่สูงเกินไปอาจทำให้เกิดการสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดอันตราย เช่น แคลเซียมอาจจะสมเกิดเป็นหินปูนที่เต้านม หรือหากเกิดการสะสมในไตก็อาจก่อให้เกิดนิ่ว นอกจากนี้แคลเซียมในปริมาณที่มากเกินไปยังอาจไปสะสมเป็นหินปูนอยู่บริเวณผนังของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็ง หรืออาจไปสะสมที่ลิ้นหัวใจ หรือที่เยื่อหุ้มหัวใจ หากเกิดขึ้นกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่งผลให้หลอดเลือดเกิดภาวะตีบตันและนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ในที่สุด

ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการรับประทานแคลเซียมอย่างปลอดภัย

พบว่าร่างกายจะมีมวลกระดูกสูงสุดเมื่ออายุ 25-30 ปี หลังจากอายุ 35 ปี มวลกระดูกจะค่อย ๆ ลดลง แต่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างแคลเซียมได้เอง ดังนั้นการทานแคลเซียมเสริมจึงเป็นตัวเลือกที่คนมักนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการเลือกรับประทานแคลเซียมเพื่อให้เกิดประโยชน์และไม่เป็นอันตรายต่อร่ายกาย โดยพิจารณาได้จากปัยจัยดังนี้

1. ปัจจัยที่ขึ้นกับตัวบุคคล

  • ช่วงวัย : อายุ หรือช่วงวัยที่แตกต่างกันมีความต้องการปริมาณแคลเซียมที่แตกต่างกัน
  • สภาวะของร่างกายหรือโรคประจำตัว : ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือภาวะหมดประจำเดือน ประวัติครอบครัว เช่น มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน รวมถึงยาหรือแร่ธาตุบางชนิดอาจส่งผลลดการดูดซึมแคลเซียมหรือเพิ่มการขับแคลเซียมออกจากร่างกายได้
  • ภาวะโภชนาการและพฤติกรรมการใช้ชีวิต : อาหารที่รับประทานมีประมาณแคลเซียมสูงเพียงพอหรือไม่ เครื่องดื่มบางประเภทอาจส่งผลต่อการดูดซึมหรือเพิ่มการขับออกของแคลเซียม เช่น ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่การออกกำลังกาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในการรับประทานแคลเซียมอย่างปลอดภัย ลดโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจจากการรับประทานแคลเซียม สมาคมเภสัชกรรมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานแคลเซียมที่มากกว่า 2,000-2,500 มิลลิกรัมต่อวัน

2. รูปแบบของแคลเซียมที่รับประทาน

แคลเซียมที่อยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละรูปแบบมีการดูดซึมและให้ปริมาณแคลเซียมที่แตกต่างกันไปเช่น

  • แคลเซียมคาร์บอเนต เป็นแคลเซียมรูปแบบที่ให้ปริมาณแคลเซียมสูงที่สุด  แต่มีข้อเสียคือ เป็นรูปแบบที่ดูดซึมได้ไม่ดีและมักก่อให้เกิดอาการท้องผูก
  • แคลเซียมซิเตรท เป็นแคลเซียมที่ดูดซึมในลำไส้ได้ดี เกิดอาการท้องผูกน้อยกว่า แต่ให้ปริมาณแคลเซียมค่อนข้างต่ำ จึงจำเป็นต้องทานในปริมาณมาก
  • แคลเซียมกลูโคเนต เป็นรูปแบบที่ให้ปริมาณแคลเซียมต่ำที่สุด
  • แคลเซียม แอล-ธีโอเนต เป็นแคลเซียมรูปแบบที่ดูดซึมได้สูงโดยไม่จำเป็นต้องใช้วิตามินดีช่วยในการดูดซึม แต่ให้ปริมาณแคลเซียมเพียง 13% ของปริมาณที่รับประทาน

จะเห็นได้ว่ารูปแบบของแคลเซียมที่รับประทานส่งผลต่อการดูดซึมและปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายจะได้รับ

3.   วิตามินที่ช่วยเพิ่มการดูดซึม

      วิตามินดี : วิตามินดีช่วยส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียม แหล่งหลักของวิตามินดีที่สำคัญมาจากแสงแดด แต่จากข้อมูลพบว่าคนไทยโดยส่วนใหญ่ขาดวิตามินดี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จึงอาจมีความจำเป็นต้องรับประทานวิตามินดีเสริม

      วิตามินเค : วิตามินเค โดยเฉพาะวิตามินเค 2 มีผลต่อกระดูกและสัมพันธ์กับแคลเซียม จากการศึกษาพบว่าวิตามินเค 2 ช่วยยับยั้งการเกิดหินปูนที่หลอดเลือด และยังมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก จึงเหมาะกับคนที่ต้องการทานแคลเซียมเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงวัยหมดประจำเดือนให้สามารถทานแคลเซียมได้อย่างปลอดภัย

จะเห็นได้ว่าการรับประทานแคลเซียมให้เกิดประโยชน์และมีความปลอดภัยมีปัจจัยที่ต้องคำนึงร่วมกันหลายประการ หากท่านมีโรคประจำตัวหรือกำลังทานยาหลายอย่างและกำลังรับประทานแคลเซียมหรือต้องการเริ่มรับประทานแคลเซียม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

อ้างอิง

1.   Park JM., et al. Calcium Supplementation, Risk of Cardiovascular Diseases, and Mortality: A Real-World Study of the Korean National Health Insurance Service Data Available from : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC9230596/

2.   Johns Hopkins Medicine. Calcium Supplements May Damage the Heart Available from : https://www.hopkinsmedicine.org/news/media/releases/calcium_supplements_may_damage_the_heart

3.   สรุจ เล็กสุขศรี, อรนิภา วงศ์สีลโชติ. เสริม แคลเซียมอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ผล สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 2565 จาก file:///C:/Users/Pharmacist%201/Downloads/20191005

4.   ให้ได้ผล สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 2565 จาก https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line

5.   โรงพยาบาลกรุงเทพ. รู้จักแคลเซียมให้ดีกว่าเดิม สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.bangkokhospital.com/content/calcium

6.   Bamrungrad international hospital. หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/november-2020/calcified-plaques-increase-risk-heart

7.   โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4. เคลียร์ชัดๆ กิน แคลเซียมช่วย เสริมกระดูกได้จริงหรือไม่ สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.paolohospital.com/th-TH/chokchai4/Article/Details