Skip to content

“ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นยาที่ผู้หญิงหลายๆคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ทั้งใช้ในการคุมกำเนิด หรือใช้ในการรักษาภาวะที่เกิดจากความผิดปกติจากฮอร์โมน เช่น ประจำเดือนผิดปกติมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนออกมาก  ปวดประจำเดือน ภาวะถุงน้ำในรังไข่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่น ขนดก สิว หน้ามัน เป็นต้น แต่ผลข้างเคียงที่พบก็มีมากมายเช่นกัน บางคนเวียนหัว คลื่นไส้ น้ำหนักขึ้น สิวขึ้น แล้วแบบนี้ถ้าเรากินยาคุมไม่ได้ ยังมีวิธีอื่นอีกมั้ยนะ”

ยาคุมกำเนิดมีกี่ชนิด

ในประเทศไทย ยาคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมในการใช้จะแบ่งออกเป็นสองชนิด ได้แก่ ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน และ ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะแบ่งออกเป็น ชนิดฮอร์โมนรวม (กลุ่มเอสโตรเจน+กลุ่มโพรเจสติน) และ ชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (กลุ่มโพรเจสตินอย่างเดียว)

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (กลุ่มเอสโตรเจน+กลุ่มโพรเจสติน)

เป็นยาคุมกำเนิดชนิดที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง(ถ้าไม่ลืมกิน) บางตัวอาจนำมาใช้รักษาภาวะต่างๆ เช่น หน้ามัน สิวขึ้น ได้แต่ต้องตรวจเช็ดก่อนว่าเราไม่มีข้อห้ามใช้ดังข้อมูลด้านล่างนี้

ข้อห้ามโดยเด็ดขาด (Absolute Contraindications)

  • ผู้ที่มีโรค/เคยเป็นโรค/ประวัติเสี่ยง (รวมถึงประวัติญาติพี่น้องสายตรง) ของภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ โรคลิ่มเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง โคหลอดเลือดหัวใจ
  • การทำงานของตับผิดปกติ (ต้องรักษาให้ normal liver function ก่อน จึงจะใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมได้)
  • มะเร็ง (หรือสงสัย) มะเร็งเต้านม
  • เลือดออกจากทางช่องคลอดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
  • ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์
  • ผู้ที่สูบบุหรี่และมีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป
  • ไขมันในเลือดสูงมาก ยังควบคุมไม่ได้ (Severe hypercholesterolemia or hypertriglyceridemia > 750 mg/dL)
  • ความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงเต้านม ฝ้า ซึมเศร้า ลดปริมาณน้ำนม ปวดศีรษะ เป็นต้น

ชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (กลุ่มโพรเจสตินอย่างเดียว)

เป็นยาคุมกำเนิดชนิดที่เหมาะกับผู้ที่มีข้อห้ามใช้เอสโตรเจนดังข้างต้น หรือ สตรีให้นมบุตร เนื่องจากไม่มีผลในการลดปริมาณน้ำนม แต่อาจมีผลข้างเคียงที่ไม่เป็นที่พอใจของผู้ใช้หลายคนเช่น ประจำเดือนกระปริดกระปรอย หรือ ไม่มีประจำเดือน

ข้อห้ามใช้ ของ POP (Contraindication of POP)

  • มะเร็งเต้านมที่ยัง active อยู่, แพ้ยา, ตั้งครรภ์
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ ในกลุ่มที่ใช้ยาที่มีต่อระดับยาคุมในเลือด(liver enzyme inducer) ได้แก่ Carbamazepine (Tegretol), Felbamate, Nevirapine, Oxcarbazepine, Phenobarbital, Phenytoin (Dilantin), Primidone (Mysoline), Rifabutin, Rifampicin (Rifampin), Topiramate, St. John’s Wort และ Vigabatrin

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ได้แก่ ประจำเดือนมาผิดปกติ สามารถพบได้ทั้ง ประจำเดือนปกติ ประจำเดือนกระปริดกระปรอย และ ไม่มีประจำเดือน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สิวเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ยากินหรือฉีด แบบไหนดีกว่ากัน

ยากินและยาฉีดคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดฮอร์โมนรวมหรือชนิดฮอร์โมนเดี่ยว หากรับประทานอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ หรือ ไปฉีดครบตามกำหนดเวลา มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์พอๆกัน คือ ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากกว่า 99% หรือมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 0.2-0.3%

เราเหมาะกับยาคุมกำเนิดแบบไหน

  • ฮอร์โมนรวม Vs ฮอร์โมนเดี่ยวๆ

ฮอร์โมนรวม ทั้งชนิดกินและฉีด(ฉีดทุก 1 เดือน) จะทำให้มีประจำเดือนมาทุกเดือนเป็นปกติ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการให้มีประจำเดือนมาทุกเดือน และเมื่อหยุดฉีด หากต้องการตั้งครรภ์ ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ 

ฮอร์โมนเดี่ยว มักทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ในกรณีที่เป็นชนิดฉีด(ฉีดทุก 3 เดือน) เมื่อฉีดต่อเนื่องไปนานๆ มักทำให้มีประจำเดือนขาดหายไปได้ ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบการมีประจำเดือน แต่อาจทำให้ผู้ใช้เป็นกังวลว่าอาจตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว และในกรณีฉีดคุมกำเนิด หากอยากจะตั้งครรภ์ เมื่อหยุดฉีดแล้ว ต้องรอนานหลายเดือน หรือบางรายอาจนานเป็นปีได้ จึงเหมาะกับผู้ที่มีบุตรแล้วมากกว่าผู้ที่ยังไม่เคยมีบุตร และเหมาะกับผู้ที่มีข้อห้ามใช้เอสโตรเจน รวมถึงสตรีให้นมบุตรด้วย

  • ยากิน Vs ยาฉีด

การทานยาคุมกำเนิดต้องสามารถทานได้ทุกวัน ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน ดังนั้น ต้องเป็นคนมีวินัยในการทานยา ไม่ขี้ลืม ข้อดีของการทานยาคุมคือ หากต้องการหยุดทาน และต้องการตั้งครรภ์ ก็สามารถหยุดได้ทันที และสามารถตั้งครรภ์ได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดจะมีตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดทีละน้อยเพื่อให้มีการออกฤทธิ์ได้นานครบตามกำหนดเวลา ความสะดวกเนื่องจากไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน เหมาะกับคนที่ขี้ลืม

ถ้าเราปวดหัวคลื่นไส้จากการกินยาคุมกำเนิด เราเปลี่ยนไปฉีดยาคุมแทนดีไหม?

อาการปวดหัว คลื่นไส้ จากการรับประทานยาคุมกำเนิด ส่วนมากเป็นผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นส่วนประกอบในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ฉะนั้นการเปลี่ยนวิธีการได้รับยาคุมกำเนิดอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะถ้าเราเปลี่ยนไปฉีดยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ก็มีโอกาสพบผลข้างเคียงเช่นเดิมอยู่ดี ดังนั้นวิธีการแก้ไขควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณเอสโตรเจนลดลง หรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเฉพาะโพรเจสติน หรือรับประทานยาก่อนนอนซึ่งอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด

กรณีการฉีดยาคุมกำเนิดชนิดที่มีโพรเจสตินอย่างเดียวซึ่งใช้กันมากนั้น จะมีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติ ช่วงแรกมาไม่สม่ำเสมอหรือมากะปริบกะปรอย ทำให้เกิดความอับชื้นและเปลืองผ้าอนามัย แต่ต่อมาจะค่อย ๆ น้อยลงและจะหายไป โดยไม่มีอีกเลยตลอดช่วงที่ใช้ยา (ทำให้ผู้ใช้เป็นกังวลว่าอาจตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวและเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลิกใช้) ปวดศีรษะ เจ็บคัดเต้านม ปวดท้อง อารมณ์เปลี่ยนแปลง รบกวนความรู้สึกทางเพศ เกิดฝ้า น้ำหนักตัวเพิ่ม (คนที่อ้วนง่ายอาจไม่ชอบ) การใช้เป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (bone mineral density) ลดลงเล็กน้อย แต่กลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้ยาและไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุน ส่วนการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมและการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำนั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีเป็นโรคมะเร็งเต้านมในช่วง 5 ปีจะห้ามใช้


อ้างอิง

  1. น.พ.ภาณุพันธุ์ หอมกรุ่น, ร.ศ. พ.ญ. สุปรียา วงศ์ตระหง่าน. ยาเม็ดคุมกำเนิด Oral contraception[ออนไลน์]. [เข้าถึงเมื่อ 4 กรกฎาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก : https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=1348:oral-contraception&catid=45&Itemid=561
  2. รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด[ออนไลน์]. [เข้าถึงเมื่อ 4 กรกฎาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก : https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/528/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%89%E0%B8%B5%E0%B8%94/