Skip to content

เบื่อมั้ยที่ต้องคอยกินยาแก้แพ้ทุกวัน ไม่กินก็ไม่ได้ ผื่นขึ้น น้ำมูกไหล จามฟุดฟิดทั้งวัน ทำอย่างไรได้บ้างที่ร่างกายจะไม่ต้องพึ่งยาแก้แพ้? เราไปหาคำตอบกัน

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าภูมิแพ้คืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง

โรคภูมิแพ้(allergy) เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายส่วนของร่างกาย อาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคภูมิแพ้ที่เป็นโดยการสัมผัสกับสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่น, ควัน, สารพิษ, ขยะ, อาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้, ยา การแสดงของโรคมีได้หลายรูปแบบ

  • เป็นที่ตา จะมีอาการคันและเคืองตา  ตาแดง  น้ำตาไหล  หนังตาบวม  แสบตา
  • เป็นที่จมูก เรียกว่า โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือโรคแพ้อากาศ มีอาการจาม  คันจมูก  น้ำมูกไหลออกมาทางจมูกหรือไหลลงคอ  คัดจมูก  คันเพดานปากหรือคอ
  • เป็นที่หลอดลม เรียกว่า โรคหลอดลมอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคหืด (asthma) มีอาการ ไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะเวลาตอนกลางคืน  ตอนเช้ามืด หรือขณะออกกำลังกาย  หรือขณะเป็นไข้หวัด
  • เป็นที่ผิวหนัง เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) มีอาการ คัน  มีผดผื่นตามตัว  ผื่นมักแห้ง แดง มีสะเก็ดบางๆ หรือมีน้ำเหลืองแห้งกรังปกคลุมอยู่  ในรายที่เป็นเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณที่เป็นจะหนาตัวขึ้นและมีสีคล้ำขึ้น  ผิวหนังอาจมีการอักเสบเป็นตุ่มนูนคัน หรือใหญ่เป็นปื้นนูนแดง และคันมากที่เรียกว่า ลมพิษ (urticaria)
  • เป็นที่ระบบทางเดินอาหาร เรียกว่า โรคแพ้อาหาร (food allergy) มีอาการ อาเจียน  คลื่นไส้  ท้องเสีย ปากบวม  ปวดท้อง  ท้องอืด อาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ (เช่น หอบหืด, แพ้อากาศ) และผิวหนัง (เช่น ผื่นคัน, ลมพิษ) ร่วมด้วย  หลังรับประทานที่อาจเคยทานมาแล้วและมีอาการเช่นเดียวกัน

โดยอาการที่เกิดจากภูมิแพ้ แบ่งเป็น 2 ระดับตามเวลาในการเกิด คือ

  1. เกิดอาการแพ้เฉียบพลันทันทีที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ไม่เกินครึ่งชั่วโมง จะเกิดมาจากสารโปรตีนในร่างกายที่ชื่อ IgE
  2. ค่อยๆเกิดอาการภายหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ประมาณ 4  ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น อาจเป็นวัน จะเกิดจากสารโปรตีนตัวอื่นที่ไม่ใช่ IgE เช่น IgG, IgM 

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาเราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ บางคนก็มีอาการทันที บางคนสัมผัสครั้งแรกยังไม่มีอาการต้องรอ 2-3 ครั้งไปก่อน

สำหรับการรักษาภูมิแพ้โดยใช้ยาก็จะรักษาตามอาการและบริเวณที่เป็น

เป็นที่ตา

  • ใช้ยาหยอดหยอดตาเพื่อลดอาการแพ้ เช่น Hista-oph, Antazallerge, Naphcon-A, Pataday, Vividrin
  • หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรทานยาแก้แพ้ร่วมซึ่งมีทั้งแบบง่วงและไม่ง่วง
    • ยาแก้แพ้แบบง่วง เช่น Nasolin, Sulidine, Nasotap, Codiphen, Atarax
    • ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง เช่น Zyrtec, Xyzal, Clarityne, Aerius, Telfast, Fenafex

เป็นที่จมูกหรือเรียกว่า โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือโรคแพ้อากาศ

  • ทานยาแก้แพ้ (oral antihistamine) ตามที่ให้ดูก่อนหน้า
  • หากมีอาการคัดจมูกมากสามารถใช้ยาพ่นแก้คัดจมูกร่วม เช่น Iliadin, Otrivin ซึ่งยาพ่นพวกนี้ไม่ควรใช้นานเกิน 1 อาทิตย์นะ เดี๋ยวจะยิ่งคัดแน่นจมูกไปอีก
  • สำหรับใครที่เป็นเรื้อรังคุณหมออาจให้ใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น Avamys, Nasonex, Nasacort, Rhinocort พ่นยาวๆไปเลย
  • ถ้าใครอาการยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควรอาจใช้ยาทานที่มีตัวยาช่วยลดการอักเสบของหลอดลมเพิ่ม เช่น Singulair Montek

โรคหลอดลมอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคหืด (asthma) ควรพบแพทย์และรักษาตามความรุนแรงของอาการที่เป็นนะ เพราะยารักษามีหลายตัวและใช้ตามความรุนแรงของโรคที่เป็น

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis)

  • ให้ทานยาแก้แพ้ (oral antihistamine) สามารถใช้ร่วมกับยาทาซึ่งมีหลายชนิด ได้แก่
    • ยาทาสเตียรอยด์ (Topical corticosteroids) เช่นยี่ห้อ Dermovate, Betnovate, Elomet, Aristocort
    • ยาทาแก้แพ้ (Topical antihistamine) เช่น Fenistil, Systral พวกนี้จะไม่มีสเตียรอยด์

โรคแพ้อาหาร (food allergy)

  • ทานยาแก้แพ้ (oral antihistamine)
  • หากมีอาการรุนแรงเช่น ปากบวม, ตาบวม, ผื่นขึ้นทั่วตัวหรือบริเวณกว้าง, หายใจไม่ออก ต้องรีบไปโรงพยาบาล

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่แนะนำสำหรับโรคภูมิแพ้

วิตามินซี (vitamin c) วิตามินซีสำคัญต่อการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระซึ่งเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ (allergen) จากการศึกษาพบว่าเมื่อรับประทานวิตามินซีในขนาดที่สูง (มากกว่าหรือเท่ากับ 1,000 mg ต่อวัน) จะสามารถลดความรุนแรงหรือจำนวนครั้งในการเกิดภูมิแพ้ได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นคนที่เป็นภูมิแพ้ควรทานวิตามินซีไว้ด้วยนะ ทานวันละ 1,000 mg ขึ้น

สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระซึ่งเกิดสารก่อภูมิแพ้ (allergen) มีหลายชนิดด้วยกัน สามารถทานร่วมกับวิตามินซีเพื่อเสริมฤทธิ์ในการบรรเทาอาการของภูมิแพ้ได้ มีหลายชนิดเช่น grape seed, astaxantin, pycnogenol จากการยกตัวอย่างนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีขายตามท้องตลาด

เบต้ากลูแคน (betaglucan) เป็นสารอาหารประเภทแป้ง เป็นน้ำตาลเชิงซ้อนที่มาจากธรรมชาติ (Natural polysaccharide) ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage โดยกระตุ้นให้ Macrophage สามารถทำลายสิ่งแปลกปลอมหรือสารก่อภูมิแพ้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มรับประทานวันละ 200 mg 

นมผึ้ง (Royal Jelly) เป็นสารอาหารสำหรับเลี้ยงตัวอ่อนของผึ้งนางพญา มีคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบด้วย วิตามิน A, C, D, E และวิตามินบีรวม และแร่ธาตุอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย ได้มีการศึกษาพบว่าสารสำคัญในนมผึ้งสามารถต้านเชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในลำคอ, หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) และผิวหนังอักเสบ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (immunomodulator) เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงและต่อต้านการติดเชื้อต่างๆ

Hidden food allergy (โรคภูมิแพ้อาหารแฝง)

จะไม่แสดงอาการทันที แต่จะสะสมอาการแพ้ก่อนแสดงอาการหลังจากทานไปแล้ว 4-5 วัน อาการโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนั้นเกิดขึ้นทั้งระบบร่างกาย เช่น การท้องผูก, ท้องเสียเรื้อรัง, ลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome), ลำไส้อักเสบ (inflamatory bowel disease), มีอาการมึน, อ่อนเพลีย, ปวดหัวไมเกรน, ผื่นและสิวเรื้อรัง, เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เช่น การปวดตามข้อ, หอบหืด (asthma), เป็นแผลร้อนในบ่อย (พบในเด็ก) เป็นต้น ซึ่งแต่ละบุคคลอาจพบอาการเหล่านี้ได้ต่างกัน สาเหตุเกิดจากการบริโภคสารอาหารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ ได้แก่   นม, ไข่, ปลา, crustacea (สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู), ถั่วลิสง, ถั่วเปลืกแข็ง เช่น  ถั่วบราซิล ฮาเซลนัท วอลนัท พีแคนและอัลมอนต์, ถั่วเหลือง, ข้าวสาลี ในผู้ที่เป็นภูมิแพ้ จึงควรเลี่ยงการทานอาหารเหล่านี้หรือมีส่วนผสมของอาหารเหล่านี้

  • ไข่ (egg) : มักก่อให้เกิดอาการแพ้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งสารก่อภูมิแพ้พบมากในส่วนของไข่ขาว นอกจากนี้ยังพบสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่นในส่วนของไข่แดง นิยมนำไข่มาใช้เป็นสารช่วยเกาะติด (binder), emulsifier, สารช่วยตกตะกอน (coagulant) ยังพบในเลซิตินได้อีกด้วย จึงใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายชนิด
  • นม (milk) : นมมีการใช้อย่างกว้างขวางในผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปหลายชนิด เช่น Toffy, มาการีน, ชีสและครีม โดยเฉพาะนมวัว สำหรับโปรตีนในนมเช่นแลคโตส นิยมใช้เป็นสารเพิ่มเนื้อ (filler) ในการผลิตยาเม็ด 
  • ถั่วเหลือง (soy) : ถั่วเหลืองเป็นแหล่งอาหารจากพืชที่มีการใช้ในอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางในหลายๆวัตถุประสงค์ ทำให้การปนเปื้อนของโปรตีนถั่วเหลืองมีค่อนข้างสูงด้วย อาจบริโภคในรูปแบบของเมล็ดแป้งและน้ำมัน นิยมใช้เป็นสารให้ความข้นหนืด (thickener), สารให้ความคงตัว (stabilizer), สารเพิ่มปริมาณ (bulking agent), emulsifier เช่นในไอศกรีม, มายองเนส, น้ำสลัด นอกจากนี้ยังพบในแฮมเบอร์เกอร์, ไส้กรอก
  • ข้าวสาลี (wheat) : ข้าวสาลีเป็นพืชที่พบว่าก่อให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อยที่สุดในกลุ่มธัญพืชทั้งหมด โดยพบว่าองค์ประกอบของข้าวสาลี เช่น เนื้อเมล็ดและส่วนจมูกข้าว สามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้ นอกจากนี้ข้าวสาลียังเป็นแหล่งของสารกลูเตนปริมาณสูงซึ่งเป็นสารก่อแพ้ที่สำคัญอีกตัว นิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเบเกอรี่ จึงควรเลี่ยงสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้และเลือกบริโภคอาหารที่มีคำกำกับ gluten free
  • ถั่วลิสง (peanut) : ถั่วลิสงเป็นแหล่งอาหารหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาหารแพ้ได้บ่อยและเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากการแพ้อาหารในสหรัฐอเมริกา หนึ่งในสามของผู้ที่แพ้ถั่วลิสงจะแสดงอาการแพ้ที่รุนแรง ถั่วลิสงมีการใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด เช่น ครีม, บิสกิต, ใช้เพื่อเป็นสารให้กลิ่นรสหรือเป็นเครื่องปรุงแต่งรสชาดอาหาร, เนยถั่วลิสง, คุกกี้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำถั่วลิสงมาแต่งรูปให้เป็นอัลมอนต์และวอลนัทด้วย ยังพบในเครื่องดื่มเพื่อทำให้เกิดฟอง (wipping agents), น้ำมันถั่วลิสง
  • ปลา (Fish) : มักก่อให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่แล้วผลิตภัณฑ์จากปลามักไม่ค่อยพบว่าเป็น hidden allergen แต่กรณีของการปนเปื้อนโปรตีนจากปลาโดยไม่แสดงไว้บนฉลากมักพบในอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันปลา เช่น น้ำมันสลัด, ซอสที่มีส่วนผสมของ anchovies นอกจากนี้ยังพบในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกลุ่มไขมัน omega-3 

สารอาหารเหล่านี้อาจก่อให้เกิดโรคลำไส้รั่วได้ ทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ยิ่งแย่ขึ้นไปอีก

ภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome)

ในคนปกติ เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้จะเรียงตัวชิดติดกันเป็นระเบียบ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการผ่านเข้าออกของสารและป้องกันไม่ให้สารพิษ, เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง แต่เมื่อเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เกิดการอักเสบหรือเกิดความเสียหายจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเซลล์ เซลล์จึงสูญเสียความสามารถในการควบคุมการผ่านเข้าออกของสาร ทำให้สารพิษ, สารก่อภูมิแพ้และเชื้อก่อโรคจึงสามารถผ่านช่องว่างเหล่านี้เข้าสู่กระแสเลือดได้ เรียกว่า “ภาวะลำไส้รั่ว” หรือ “Leaky Gut Syndrome” ร่างกายจึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ จนก่อให้เกิดปัญหาการอักเสบเรื้อรังซ้ำซากจนกลายเป็นอาการเจ็บป่วยตามมาและนำมาซึ่งภาวะภูมิแพ้เรื้อรัง 

มีอาการคล้ายกับภาวะ hidden food allergy และเป็นซ้ำๆ เช่น การท้องผูก, ท้องอืด, ท้องเสียเรื้อรัง, ลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome), ลำไส้อักเสบ (inflamatory bowel disease), มีอาการมึน, อ่อนเพลีย, ปวดหัวไมเกรน, ผื่นและสิวเรื้อรัง, เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เช่น การปวดตามข้อ ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง, หอบหืด (asthma), เป็นแผลร้อนในบ่อยและอาจนำมาซึ่งโรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune Disease) ได้

สาเหตุของลำไส้รั่ว

  • อาหารที่เป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้รั่ว ได้แก่ อาหารที่เรามีอาการแพ้ชนิดแอบแฝง (IgG food allergy or Hidden food allergy) เช่น นม, ไข่, ปลา, crustacea (สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู), ถั่วลิสง, ถั่วเปลืกแข็ง เช่น  ถั่วบราซิล ฮาเซลนัท วอลนัท พีแคนและอัลมอนต์, ถั่วเหลือง, ข้าวสาลี
  • รับประทานยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ เช่น Amoxycillin, Norfloxacin, Erythromycin, Tetracycline เพราะจะทำลายเชื้อแบคทีเรีย (probiotics)ทำให้ไม่มีแบคทีเรียตัวดีคอยรักษาสมดุลในลำไส้ ทำให้ลำไส้อ่อนแอและทำงานผิดปกติได้ อีกกลุ่มคือยาแก้อักเสบเช่น Indomethacin, Naproxen, Ibuprofen ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองเยื่อบุทางเดินอาหารและสามารถทำลายผนึกกั้นระหว่างเซลล์เยื่อบุลำไส้ ทำให้สารพิษและเชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนมาในอาหารสามารถผ่านช่องว่างเข้าสู่กระแสเลือดได้
  • ความเครียด เพราะเมื่อเราเครียดสมองจะหลั่งฮอร์โมน cortisol ออกมา ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายทางรวมทั้งการบีบตัวของลำไส้ด้วย
  • โรคอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น โรคตับ เนื่องจากตับมีหน้าขับสารพิษ เมื่อตับทำงานผิดปกติสารพิษจึงถูกส่งต่อสู่ลำไส้ และโรคเบาหวานที่ทำให้ลำไส้ผู้ป่วยบีบตัวช้า ก่อให้เกิดอาการอาการท้องอืด, ท้องเฟ้อ, อาหารย่อยช้า โอกาสที่ลำไส้จะสัมผัสกับอาหารที่หมักหมมก็นานขึ้น เกิดความเสี่ยงติดเชื้อจนไส้รั่วตามมาได้

การรักษาลำไส้รั่ว

  1. งดอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ เป็นเวลา 3-6 เดือน หากเป็นไปได้ควรงดระยะยาว
  2. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์ เช่น พืชผักใบเขียวและผลไม้ไม่หวาน เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหารและหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอาหารในกลุ่ม hidden food allergy ตามที่กล่าวมา
  3. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ การรับประทานอาหารให้หลากหลาย, การเลิกสูบบุหรี่, การงดดื่มแอลกอฮอล์, การลดความเครียดและการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  4. ลดการใช้ยาแบบไม่สมเหตุสมผล เช่น ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัดเจ็บคอ, โรคท้องเสียและแผลเลือดออก หากจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรค ต้องรับประทานยาครบตามจำนวนและระยะการรักษา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง
  5. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อลำไส้
    • จุลินทรีย์ดีที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ (Probiotic) และอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ดี (Prebiotic) เช่น จุลินทรีย์ในตระกูล Lactobacillus sp. หรือตระกูล Bifidobacterium sp. ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลจุลินทรีย์ดีและทำลายเชื้อก่อโรคในลำไส้ นอกจากนี้ การผลิตภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยสาร Inulin Fructooligosaccharides (FOS) และ Xylo-oligosaccharides (XOS) ซึ่งเป็นอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์จะช่วยเสริมให้จุลินทรีย์ดีในร่างกายแข็งแรง
    • กรดอะมิโน เช่น Arginine ซึ่งมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเยื่อบุผนังลำไส้ที่ได้รับบาดเจ็บ และ Glutamine ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานภายในเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้จากความเครียดได้
    • สังกะสี (Zinc) จากการศึกษาพบว่าสังกะสีสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงของผนึกระหว่างเซลล์ลำไส้และป้องกันความเสียหายของเยื่อบุผนังลำไส้ได้
    • ซีลีเนียม (Selenium) และวิตามินอี (Vitamin E) จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายที่มีความปลอดภัยสูง การศึกษาพบว่า ซีลีเนียมและวิตามินอีสามารถป้องกันการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการให้สารผ่านเข้าออกผนังลำไส้จากการถูกทำลายจากความเครียดและปฏิกิริยา oxidation ได้

สรุป การรักษาโรคภูมิแพ้ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียว เพียงแค่เพิ่มส่วนของการดูแลตัวเองเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง, การทานอาหารที่มีประโยชน์ไม่ซ้ำเดิมและหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้, การทานอาหารเสริมเพื่อช่วยเสริมระบบการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและการตรวจร่างกายหรือพบแพทย์เพื่อติดตามอาการเป็นประจำ


แหล่งอ้างอิง

  1. ปารยะ   อาศนะเสน. (2555).  จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่. สืบค้น 7 มกราคม 2563,  จาก https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=977
  2. เชาวนันท์ คำตุ้ยเครือ. (2558). ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงชนิด Anaphylaxis กับงานวิสัญญี (anaphylaxis in anesthesia). 41(3), 189–202.
  3. ธีระพงษ์ ศรีศิลป์. (2562).  โรคในร้านยา.  ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
  4. Vollbracht, C., Raithel, M., Krick, B., Kraft, K., & Hagel, A. F. (2018). Intravenous vitamin C in the treatment of allergies: an interim subgroup analysis of a long-term observational study. Journal of International Medical Research, 46(9), 3640–3655. https://doi.org/10.1177/0300060518777044
  5. Gu, L., Zeng, H., & Maeda, K. (2017). 10-Hydroxy-2-Decenoic Acid in Royal Jelly Extract Induced Both Filaggrin and Amino Acid in a Cultured Human Three-Dimensional Epidermis Model. Cosmetics, 4(4). https://doi.org/10.3390/cosmetics4040048
  6. สมศักดิ์ วรคามิน. (2557).  เบต้ากลูแคนดีที่สุดในโลกที่มนุษย์เคยพบ.  กรุงเทพมหานคร: สามเจริญพาณิชย์.
  7. พิมพพ์ญา  สมดี. (2558). พฤติกรรมการป้องกันอาการภูมิแพ้ของเด็กวัยเรียนโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา
  8. Gaby, A. R. (1998). The role of hidden food allergy/intolerance in chronic disease. Alternative Medicine Review, 3(2), 90–100.
  9. วิภา สุโรจนะเมธากุล. (2555).  สารก่อภูมิแพ้ที่ปนเปื้อนในอาหาร. อาหาร (สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์), 42(3), 191-197.
  10. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน. (2562).  ภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome). สืบค้น 9 มกราคม 2563, จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/469/ภาวะลำไส้รั่ว/