Skip to content

น่าแปลกที่บางคนทานผักผลไม้ก็เยอะ น้ำก็ดื่มตลอด แต่ก็ยังมีปัญหาท้องผูกต้องคอยกินยาระบายตลอด พอกินไปนาน ๆ ลำไส้ก็ติด ทำให้ถ่ายเองไม่เคยได้ ต้องกินยาระบายเพิ่มขนาดขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นปัญหางูกินหางไม่จบไม่สิ้นซักที จะต้องทำอย่างไรให้ลำไส้กลับมาขยันทำงานได้เหมือนเดิม ถ่ายได้เองตามปกติโดยไม่ต้องพึ่งยา

ถ่ายไม่ออกขนาดไหนที่เรียกว่าท้องผูก?

คนปกติทั่วไปมีความถี่ในการถ่าย ตั้งแต่วันละ 3 ครั้งไปจนถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์  หากคุณกำลังมีความถี่ในการถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นั่นแปลว่าอาจกำลังตกอยู่ในสถานะท้องผูก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติการถ่ายของแต่ละบุคคลด้วย และอาการท้องผูกอาจสัมพันธ์กับการถ่ายลำบาก ต้องใช้เวลาเบ่งนานมากกว่าปกติหรือมีอาการเจ็บหนักเวลาถ่าย คนที่มีอาการท้องผูกนานติดต่อกันเกิด 3 เดือนจะถือว่ามีอาการท้องผูกเรื้อรัง

ถ้าอ้างอิงความหมายของอาการท้องผูกที่ใช้ทางการแพทย์ จะใช้ เกณฑ์ของ Rome III criteria โดยมีหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยดังนี้

  1. ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 
  2. ต้องเบ่งมากกว่าปกติ
  3. อุจจาระเป็นก้อนแข็ง (lumpy or hard stool)
  4. รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด
  5. มีความรู้สึกว่าถ่ายไม่ออก เนื่องจากมีสิ่งอุดกั้นบริเวณทวารหนัก
  6. ต้องใช้นิ้วมือช่วยในการถ่ายอุจจาระ

โดยถ้ามีอาการครบเกณฑ์ ดังกล่าวข้างต้น ตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไป เป็นมานานมากกว่า 3 เดือน และเริ่มมีอาการครั้งแรก (ไม่จำเป็นต้องครบเกณฑ์) นานกว่า 6 เดือน จะถือว่าผู้ป่วยมีปัญหาท้องผูก ถ่ายได้บ่อยแต่ถ่ายอุจจาระลําบากก็เป็นปัญหา

ทำไมเราถึงท้องผูก?

บางคนไม่ค่อยกินผัก น้ำก็ดื่มน้อย แต่ระบบขับถ่ายก็ยังปกติดี ส่วนบางคนกินทั้งน้ำทั้งผักแต่ก็ยังท้องผูก นั่นอาจเป็นเพราะมีปัจจัยอื่นซ่อนอยู่ เช่น

  • การทำงานของลำไส้หรือกล้ามเนื้อที่ใช้ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ คนที่มีปัญหานี้จะรู้สึกอยากถ่าย แต่พอไปเข้าห้องน้ำดันถ่ายไม่ออก ต้องใช้เวลาเบ่ง หรือเจ็บเวลาเบ่ง รู้สึกว่าถ่ายไม่สุด นั่นเป็นเพราะขณะที่ออกแรงเบ่งกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนักจะเกิดบีบรัดตัวมากขึ้นทำให้ไม่สามารถถ่ายอุจจาระออกได้ ซึ่งในคนทั่วไปกล้ามเนื้อจะคลายออกขณะเบ่งทำให้ถ่ายออกมาได้อย่างปกติ สาเหตุอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดหลังคลอด
  • การเคลื่อนไหวของลำไส้น้อยกว่าปกติ หรือเคลื่อนกันไม่เป็นจังหวะ ทำให้อุจจาระก็เคลื่อนช้าตามไปด้วย รู้หรือไม่ว่าในแต่ละวันลำไส้จะมีการบีบตัวตลอด แต่จะมีแรงบีบบางชนิดที่แรงกว่าปกติเรียกว่า HAPC (High Amplitude Propagated Contraction) เป็นแรงบีบที่ทำให้รู้สึกอยากถ่ายซึ่งในคนปกติจะเกิดแรงบีบนี้เฉลี่ย 8 ครั้งต่อวัน แต่ในคนที่มีปัญหาท้องผูกเหลือเพียง 2 ครั้งต่อวันเท่านั้น จึงทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวในลำไส้ช้าลง คนกลุ่มนี้มักจะมีอาการไม่ค่อยมีความรู้สึกอยากถ่าย มีความถี่ในการถ่ายน้อย อุจจาระแข็งเนื่องจากค้างอยู่ในลำไส้นานทำให้น้ำถูกดูดซึมออกไปจากก้อนอุจจาระ ทำให้ยิ่งถ่ายลำบาก
  • าวะลำไส้แปรปรวน ในช่วงที่มีมีอาการท้องผูกมักมีอาการปวดท้อง อึดอัดแน่นท้อง ไม่สบายท้องร่วมด้วย ในบางช่วงมีอาการท้องเสียสลับกับอาการท้องผูก
  • ยาบางชนิด ยาหลายตัวมีอาการข้างเคียงทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่นยารักษาด้านจิตเวชกลุ่ม amitriptyline, nortriptyline ยาแก้แพ้ชนิดทำให้ง่วงนอน เช่น chlorpheniramine ยาที่มีส่วนผสมของ codeine ธาตุเหล็กในยาบำรุงเลือด เป็นต้น

ชนิดของยาระบาย 

  1. ชนิดออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณอุจจาระ (bulk-forming laxative) เช่น Fybogel, Forlax, Mucillin กลุ่มนี้จะทำตัวเป็นไฟเบอร์คอยอุ้มน้ำเพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณอุจจาระและทำให้อ่อนนุ่มขึ้น และกระตุ้นการบีบตัวของลําไส้ทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านภายในลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้น แต่ยากลุ่มนี้จะไม่ออกฤทธิ์ปุบปับ จะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์กว่าจะเห็นผลในคนที่ท้องผูกไม่รุนแรง ส่วนคนที่ท้องผูกรุนแรงอาจจะต้องข้ามยากลุ่มนี้ไปก่อนเพราะมักใช้ไม่ค่อยได้ผล แต่ถ้าใช้ยากลุ่มนี้ต้องอย่าลืมดื่มน้ำตามเยอะๆเพื่อให้อุจจาระนิ่มและถ่ายออกง่าย
  2. ชนิดออกฤทธิ์ดูดน้ำเข้าลำไส้ (osmotic laxative) เช่น น้ำตาล lactulose มีคุณสมบัติไม่ถูกดูดซึมที่ลำไส้ แต่จะถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้เกิดเป็นกรดอินทรีย์ ซึ่งจะดูดน้ำเข้ามาทำให้อุจจาระนิ่ม และกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ดีขึ้น เป็นยาระบายที่มีความปลอดภัยสูงใช้ได้ตั้งแต่ ทารก หญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต  ส่วน Milk of Magnesia (MOM) เป็นยาที่ช่วยดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระและลําไส้ ทำให้มีประสิทธิภาพในการเป็นยาระบายแต่มีข้อเสียคือสารแมกนีเซียม อาจสะสมในร่างกายทำให้เกิดอันตราย จึงห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไตและเด็ก
  3. ชนิดกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ อันนี้เป็นยาระบายสุดฮอท เพราะออกฤทธิ์ทั้งแรงทั้งเร็วทันใจ เช่น มะขามแขก, bisacodyl มักใช้ในคนที่ท้องผูกรุนแรง แต่ทำให้มีอาการปวดท้องจากการออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ข้อควรระวังมากๆสำหรับยากลุ่มนี้คือ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้ลำไส้ติดยาไม่บีบตัวเองจนไม่สามารถถ่ายเองได้ต้องพึ่งยาตลอด หรือที่คนชอบเรียกว่า ลำไส้ขี้เกียจนั่นเอง
  4. ยาระบายชนิดสวน หรือที่หลายคนเรียกว่าลูกโป่ง unison ซึ่งเป็นน้ำเกลือเข้มข้น (15% NaCl) ทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายโป่งพองเกิดการกระตุ้นการบีบตัวของลําไส้ร่วมกับการทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง
  5. ยาระบายชนิดเหน็บ ใช้ได้ผลและปลอดภัยคือกลีเซอรีน (glycerin) ส่วน bisacodyl หรือ Dulcolax ชนิดเหน็บจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุลำไส้และถ้าใช้ในปริมาณมากหรือใช้บ่อยอาจทำให้เยื่อบุผิวลำไส้ถูกทำลายได้

ลำไส้มีหน้าที่แค่เก็บของเสีย จริงเหรอ?

ในลำไส้ของคนเรามีแบคทีเรียตัวจิ๋วมากกว่า 1000 สายพันธุ์ รวมๆ กันอยู่นับร้อยล้านล้านตัว คอยขยันช่วยกันทำงานควบคุมระบบต่างๆ จนมีคำกล่าวที่ว่า All disease begins in the gut … โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายเริ่มต้นที่ลำไส้ เพราะผนังลำไส้เล็กเสมือนเป็นปราการคัดกรองสารเข้าสู่ร่างกาย แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบส่งผลให้คนส่วนใหญ่ละเลยความสำคัญในเรื่องอาหาร กินอาหารเดิม ๆ ซ้ำๆ มีโภชนาการที่ไม่ดี และปริมาณสารพิษตกค้างเกินกำหนดในอาหาร ล้วนส่งผลต่อความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ จนหลายคนเกิดภาวะลำไส้รั่วหรือ Leaky gut syndrome 

ลำไส้รั่ว อันตรายแค่ไหน?

ภาวะลำไส้รั่วคือภาวะที่เยื่อบุผนังลำไส้ (Microvilli) ของเราทำงานผิดปกติจากการอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammation) ทำให้เกิดช่องว่างทางลัดให้โมเลกุลของสารอาหาร เช่น โปรตีนที่ย่อยไม่สมบูรณ์  สารพิษบางอย่างเข้าไปในร่างกายได้ จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ลมพิษ ผื่นแพ้ผิวหนังเรื้อรัง สิวเรื้อรัง จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดศีรษะไมเกรน ปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก น่าทึ่งตรงที่เหตุเกิดที่ลำไส้แต่อาการผิดปกตินั้นเกิดได้ทั้งร่างกาย เป็นเพราะลำไส้เปรียบเสมือนสมองที่สองของมนุษย์ที่ควบคุมเชื่อมโยงระบบต่างๆทั่วร่างกาย

 

อาหารที่มักเป็นสาเหตุทำให้เยื่อบุลำไส้เกิดการอักเสบจนเกิดรูรั่วคือ นมวัว ขนมปัง ถั่วเปลือกแข็ง ไข่ ของหมักดองอาหารแปรรูปต่างๆ อีกทั้งการกินอาหารเมนูเดิม ๆซ้ำๆก็เป็นปัจจัยกระตุ้นได้เช่นกัน

การแก้ปัญหาเรื่องท้องผูกด้วยการกินยาระบายช่วยให้เราถ่ายได้ก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุจริงๆของปัญหาท้องผูกส่วนใหญ่เกิดจากการไม่สมดุลกันของแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ตัวจิ๋วในลำไส้เรานั่นเอง ความไม่สมดุลดังกล่าวก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ผิดปกติ แบคทีเรียชนิดดีหรือโพรไบโอติก เลยต้องเข้ามาเป็นพระเอกของเรื่องนี้ เพราะแบคทีเรียในลำไส้จะคอยสร้างกรดแลคติก (lactic acid) ไปกระตุ้นให้ลำไส้เกิดแรงบีบไล่กากอุจจาระออกมา มีการศึกษาที่ช่วยยืนยันมากมายว่าการกินจุโพรไบโอติกช่วยรักษาอาการท้องผูกได้ มีการทดลองให้ผู้หญิงจำนวน 135 คน ดื่มนมที่มีจุลินทรีย์ชนิด Bifidobacterium animalis ผสมอยู่เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ผสม พบว่าเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับโพรไบโอติกมีจำนวนครั้งในการขับถ่ายมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ 3.5 ครั้ง/สัปดาห์ เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ผสมคือ 2.5 ครั้ง/สัปดาห์ และเมื่อทำการทอลองต่ออีก 1 สัปดาห์ พบว่าความถี่เพิ่มขึ้นเป็น 4.17 ครั้ง/สัปดาห์ เทียบกับ 2.6 ครั้ง/สัปดาห์ และพบว่ากลุ่มที่ได้รับโพรไบโอติก อุจจาระมีความอ่อนนุ่มลงอย่างมีนัยสำคัญ 

มีการศึกษาใช้  Lactobacillus reuteri ในทารกอายุมากกว่า 6 เดือนพบว่าสามารถเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ เพิ่มความถี่ในการขับถ่าย ลดการเกิดอุจจาระแข็งได้ แต่ทั้งนี้การเลือกใช้โพรไบโอติกให้เหมาะสมต้องคำนึงถึงปริมาณการใช้และชนิดของสายพันธุ์แบคทีเรียที่ใช้เป็นสำคัญ

ดังนั้นระบบขับถ่ายที่ดีนอกจากต้องมี มวลกากใย ที่เพียงพอแล้วยังต้องมี กรดแลคติกจากแบคทีเรีย เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบีบไล่มวลอุจจาระออกมา

เอาชนะท้องผูกแบบระยะยาว

นอกจากการใช้โพรไบโอติกช่วยปรับการทำงานของลำไส้ในระยะยาวแล้ว การปรับวิธีการใช้ชีวิตประจำวันก็นับเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เริ่มที่การ เลือกทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อเพิ่มมวลอุจจาระและเร่งความเร็วให้เคลื่อนที่ในลำไส้ได้เร็วขึ้น เลี่ยงอาหารประเภทไขมัน เพราะไขมันทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จึงทำให้ท้องอืดและท้องผูกได้ ดื่มน้ำให้มาก อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เพื่อลดการดูดกลับน้ำออกจากลำไส้เมื่อร่างร่างกายมีการขาดน้ำ ออกกำลังกายเพิ่มการเคลื่อนไหว ทำให้ลำไส้ขยับตามไปด้วย ทำให้ถ่ายได้บ่อยขึ้นมากกว่าคนที่ไม่ค่อยขยับร่างกาย อยู่แต่ท่าเดิม ๆ เป็นระยะเวลานาน ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ต้องอย่าลืมว่าคนที่มีปัญหาท้องผูกจะมีความรู้สึกอยากถ่ายเพียงวันละประมาณ 2 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงหลังตื่นนอน จึงควรบริหารจัดการเวลาให้เพียงพอในช่วงเช้าเพื่อฝึกสุขลักษณะนิสัยในการขับถ่ายให้เป็นปกติ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่นผัก ผลไม้ อาหารปรุงสุกใหม่ และหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสาเหตุของภาวะลำไส้รั่วหรือ leaky gut syndrome เช่น นมวัว ขนมปัง ถั่วเปลือกแข็ง ไข่ ของหมักดองหรืออาหารแปรรูป หากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือมีภาวะภูมิแพ้ทั้งอาการทางจมูกและอาการทางผิวหนังร่วมด้วย ต้องงดอาหารกลุ่มดังกล่าวอย่างน้อย 4 เดือน เพื่อปรับสมดุล ลดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ถือเป็นช่องทางการเอาชนะท้องผูกและควบคุมภูมิแพ้ได้อย่างระยะยาว


ข้อมูลอ้างอิง

  1. Probiotics. Braun, Lesley. Herbs and Natural Supplements, Volume 2 (p. 771). Elsevier Health Sciences APAC. Kindle Edition.
  2. Constipation. Rakel, David. Integrative Medicine – E-Book . Elsevier Health Sciences. Kindle Edition.
  3. รศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์. ท้องผูก(constipation) [อินเทอร์เน็ต]. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [เข้าถึงเมื่อ 20 ธ.ค. 2563] เข้าถึงได้จาก: http://www.thaimotility.or.th/files/10.%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B8%81.pdf
  4. อาจารย์ ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. [อินเทอร์เน็ต]. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [เข้าถึงเมื่อ 22 ธ.ค. 2563] เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/469/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7/