Skip to content

ทาครีมลดฝ้าจนท้อ ก็ไม่เห็นวี่แววดีขึ้น จะรักษาหายได้จริงมั้ย?

แดดเมืองไทยร้อนแรงขนาดนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าต่อให้ทาครีมกันแดดดีแค่ไหนก็ยังมีฝ้ากระจุดด่างดำมาคอยกวนใจ ส่องกระจกแต่งหน้าทีไรก็หงุดหงิดใจต้องหาแป้งหารองพื้นมาโบกกลบไว้ ทุกวันนี้ก็ได้แต่ทาครีมรักษาฝ้าจนท้อ ใช้ตั้งแต่ราคาหลักร้อยยันหลักพันก็ไม่เห็นวี่แววฝ้าจะจางลงซักที 

ฝ้าเกิดจาก?

  1. แสงแดด

    ศัตรูเบอร์หนึ่งของสาวไทย นับว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝ้า เพราะรังสีอัลตราไวโอเลตตัวร้ายจากแสงแดดจะเข้าจู่โจมชั้นไขมันที่บริเวณผิวหนังทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (free radical) ไปกระตุ้นเซลล์ชนิด Melanocytes ให้สร้างเม็ดสีด๊ำดำหรือที่เรียกว่าเมลานิน (Melanin) ขึ้นมา เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับผิวหนังจากแสงแดดตามกลไกธรรมชาติ แต่อะไรที่มากเกินไปก็ย่อมไม่ดี เพราะเมื่อไหร่ที่เราตากแดดบ่อย เซลล์ก็จะขยันทำงานเป็นพิเศษ จะเร่งสร้างเม็ดสีกันอย่างเพลิดเพลินจนเกิดเป็นฝ้า กระ จุดด่างดำต่างๆ บนใบหน้าเรา

  2. กรรมพันธุ์

    พบว่าร้อยละ 30 ของคนที่เป็นฝ้า มีประวัติคนในครอบครัวเป็นฝ้า ส่วนใหญ่พบในสตรีวัยกลางคน อายุประมาณ 30-40 ปี

  3. ฮอร์โมน

    ชนิดเอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสเตอโรน (progesterone) ซึ่งจะกระตุ้นเซลล์ให้มีการสร้างเม็ดสีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเจอแสงแดด  พบฝ้าได้มากในสตรีตั้งครรภ์ เชื่อว่าการที่ฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และ Melanocyte Stimulating Hormone (MSH) มีระดับสูงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดฝ้า นอกจากนั้นยังพบว่ามีฝ้าเกิดขึ้นในคนที่กินยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอีกด้วย

  4. เครื่องสำอางค์

    หลายคนอาจจะงงว่าเครื่องสำอางค์หรือสกินแคร์ที่เราทาทำให้เกิดฝ้าได้ไง มันต้องช่วยลดฝ้าซิ แต่ในความจริงต้องบอกก่อนว่าพวกเครื่องสำอางบางประเภทที่มีส่วนผสมอันตรายที่อาจทำให้เกิดฝ้าได้ หรือแม้แต่ครีมทาฝ้าบางตัวที่หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือใช้ผิดวิธีก็สามารถทำให้ฝ้าเห็นชัดหรือฝังลงลึกได้มากกว่าเดิม

  5. ยาบางชนิด

    ที่อาจมีอาการข้างเคียงทำให้เกิดการสร้างเม็ดสีที่ผิดปกติได้ หรืออาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฝ้ามากยิ่งขึ้น

 

ยาทารักษาฝ้า…แต่ละตัวต่างกันอย่างไร?

  • Hydroquinone

    ส่วนประกอบยอดฮิตที่นิยมใช้ในครีมทาฝ้า เพราะข้อดีคือออกฤทธิ์ยับยั้งที่เอนไซม์ tyrosinase ซึ่งเป็นเอนไซม์ต้นตอในการสร้างเม็ดสี ทำให้เม็ดสีเมลานินลดลง ส่วนข้อเสียก็คืออาการข้างเคียงหากใช้ยาติดต่อเป็นเวลานานหรือใช้ยาที่มีความแรงไม่เหมาะสม จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนัง โดยความเข้มข้นที่นิยมใช้คือ Hydroquinone 4% หากใช้ยาทานาน 2 เดือนแล้วฝ้าไม่จางลงให้งดใช้ยา เพราะถึงแม้จะเพิ่มความเข้มข้นก็จะเพิ่มแต่อาการข้างเคียงไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพใดๆ อาการข้างเคียงที่พบบ่อยคือการเกิดผื่นแพ้สัมผัสบริเวณที่ทา ทำให้ผิวหนังแพ้แสงแดดหรือไวต่อแสงแดดมากขึ้น แสบบริเวณที่ใช้ยา แต่บางคนโชคร้ายเกิดเป็นฝ้าถาวร ผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเหมือนเขม่า หรือบางคนที่ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานเกินก็ทำให้เกิดได้เช่นกัน

  • Tretinoin

    เป็นสารกลุ่มวิตามินเอ ออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ผิวหนัง เร่งให้เซลล์ผิวหนังชั้นบนที่มีเม็ดสีเมลานินหลุดลอกออก ความเข้มข้นที่ใช้คือ 0.025-0.1% เป็นเวลา 6 เดือนจึงจะเริ่มเห็นผล ในด้านประสิทธิภาพนั้นสู้ hydroquinone ไม่ได้ จึงไม่นิยมใช้ในการรักษาเดี่ยวๆ อาจใช้เป็นยาสูตรผสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้ยาให้เริ่มที่ความเข้มข้นต่ำก่อน แล้วค่อยๆปรับเพิ่มความเข้มข้นของยา อาการข้างเคียงพบได้ค่อนข้างมาก เช่น ผิวระคายเคือง แห้งลอก ทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากยิ่งขึ้นควรใช้ครีมกันแดดร่วมเพื่อป้องกันอาการแสบร้อน

  • Azelaic acid

    ออกฤทธิ์ได้ผลใกล้เคียงกับ 4% Hydroquinone มีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังและมีพิษทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี นอกจากนั้นยังยับยั้ง tyrosinase อย่างอ่อนต่อเซลล์สร้างเม็ดสีที่ขยันทำงานมากเกินปกติ ยาจึงไม่มีผลต่อเซลล์ที่สร้างเม็ดสีปกติ มีความปลอดภัยในการใช้มากกว่าทั้ง hydroquinone และ tretinoin ยาอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้เล็กน้อย แต่ไม่ทำให้เกิดผิวหนังไวต่อแสง 

 

ครีมกันแดด..ทำไมใช้แล้วฝ้ายังขึ้น ใช้ถูกวิธีรึเปล่า?

ทุกครั้งที่เลือกซื้อครีมกันแดด เคยสงสัยมั้ยว่าค่า SPF50 หรือ PA++ ใช้บอกอะไรและค่าต้องเยอะแค่ไหนล่ะถึงจะพอ?

  • มาเริ่มกันที่ค่า SPF หรือ Sun Protection Factor เป็นค่าการป้องกัน UVB ใช้บอกให้ทราบว่า เราจะอยู่กลางแสงแดดได้นานเท่าใดโดยที่ผิวของเราไม่ไหม้ เช่น ถ้าเราอยู่กลางแสงแดด 15 นาที แล้วผิวของเราเริ่มแดงไหม้ นั่นคือผิวเราทนได้แค่ 15 นาที ถ้าเราทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 เราจะสามารถทนแดดได้นาน 30 เท่า นั่นคือ 30x15 เท่ากับ 450 นาที หรือ 7.5 ชั่วโมงโดยที่ผิวไม่แดงไหม้นั่นเอง และหากจะเทียบค่า SPF กับปริมาณการดูดซับรังสี UVB พบว่า 

ค่า SPF เท่ากับ 2 จะดูดซับ UVB ได้ 50%

ค่า SPF เท่ากับ 4 จะดูดซับ UVB ได้ 75%

ค่า SPF เท่ากับ 8 จะดูดซับ UVB ได้ 87.5%

ค่า SPF เท่ากับ 15 จะดูดซับ UVB ได้ 93.3%

ค่า SPF เท่ากับ 20 จะดูดซับ UVB ได้ 95%

ค่า SPF เท่ากับ 30 จะดูดซับ UVB ได้ 96.7%

ค่า SPF เท่ากับ 45 จะดูดซับ UVB ได้ 97.8%

ค่า SPF เท่ากับ 50 จะดูดซับ UVB ได้ 98%

จะเห็นว่า ค่า SPF ที่สูงมาก ๆ นั้นก็ไม่จำเป็นต่อความต้องการของเรา ไม่ว่าจะใช้ SPF30 หรือ SPF50 ก็ให้ผลในการดูดซับ UVB แทบจะไม่แตกต่างกัน แล้วเราจะเลือกครีมกันแดดที่มีค่าสูงมากไปทำไม ทาไปผิวก็ยิ่งเหนอะหนะ

ก็เพราะว่าการจะทาครีมกันแดดให้ได้ผลตามหลักการที่ได้เล่าไปนั้น เราต้องทาในปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ใบหน้า 1 ตารางเซนติเมตร คิดคร่าวๆคือการทาครีมกันแดดทั่วใบหน้าต้องใช้ครีมปริมาณหนึ่งข้อนิ้ว ซึ่งคนปกติทั่วไปมักใช้ไม่ถึง 

มีการทดสอบใช้สารกันแดด SPF 35 แต่ลดปริมาณการใช้ลงครึ่งหนึ่ง คือเหลือเพียง 1 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ใบหน้า 1 ตารางเซนติเมตร พบว่าค่า SPF ลดลงเหลือแค่ 5 นั่นจึงเป็นสาเหตุที่บางคนเลือกใช้ SPF สูงๆ เพราะแม้จะใช้ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดก็ยังพอเหลือ SPF ไว้ปกป้องผิวได้บ้าง

 

  • มาต่อกันที่ค่า PA+++ หรือ Protection grade of UVA ใช้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันผิวจากรังสี UVA ล่ระดับไปตั้งแต่ PA+ ถึง PA++++ วัดผลจากวิธีที่เรียกว่า  Persistent Pigment Darkening หรือ PPD

PA+ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA เริ่มต้น (PPD 2-4)

PA++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA กลาง (PPD 4-8)

PA+++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูง (PPD 8-16)

PA++++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูงสุด (PPD >16)

วิธีแปลความหมายของค่า PPD คือสมมติเรายืนตากแดด 10 นาทีแล้วทำให้ผิวหนังปกติมีอาการดำคล้ำ แต่ถ้าเราทาครีมกันแดดที่มีค่า PA+++ (PPD 8)  จะทำให้ตากแดดได้นานขึ้น 8 เท่า คือ 8×10 เท่ากับ 80 นาที   ผิวหนังจึงจะมีอาการดำคล้ำ แต่ทั้งนี้ก็มีฝั่งอังกฤษ อเมริกา ที่ยังโต้แย้งกับวิธีนี้ด้วยเหตุผลว่าใช่ทุกคนที่ตากแดดแล้วจะมีอาการดำคล้ำ ในบางประเทศจึงยังไม่มีการยอมรับวิธีนี้ 

จะเลือกครีมกันแดดซักหลอดต้องเลือกให้ป้องกันได้ทั้ง UV-A และ UV-B เพื่อการป้องกันแสงแดดได้สูงสุด เลือกค่า SPF ให้เหมาะสมกับผิวของตนเอง อาจไม่จำเป็นต้องสูงที่สุดแต่ควรจะมีค่า SPF อย่างน้อย 15 โดยทาก่อนออกแดดประมาณ 30 นาทีในปริมาณหนึ่งข้อนิ้ว และควรทาซ้ำทุก 3-4 ชั่วโมง หากต้องอยู่กลางแสงแดดตลอดเวลา

 

วิตามินตัวไหนช่วยได้บ้าง

  • Grapeseed

    หรือสารสกัดจากเมล็ดองุ่น เต็มไปด้วยสารสำคัญโปรแอนโทรไซยานิดิน (Proanthocyanidins) ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่มากกว่าวิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีน เมื่อนำมาทดสอบในผู้หญิงที่มีปัญหาฝ้าเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าผิวหนังสร้างเม็ดสีลดลง แต่เมื่อทำการศึกษาต่อไปอีก 6 เดือนกลับไม่พบผลลัพธ์ที่ดีขึ้นไปกว่าเดิมทั้งนี้อาจเป็นเพราะช่วงเวลาดังกล่าวไม่ค่อยมีแสงแดด การใช้หรือไม่ใช้ Grapeseed จึงให้ผลไม่ต่างกัน นักวิจัยจึงให้ความเห็นว่าควรใช้ grapeseed ในช่วงฤดูร้อนที่มีแสงแดดเพื่อให้ได้ฤทธิ์ในการป้องกันผิวหนัง แต่ถ้าพูดถึงไทยแลนด์ ดินแดนแห่งแสงแดดแล้วนั้น grapeseed น่าจะช่วยปกป้องเราจากแสงแดดได้ทุกฤดู เพราะไม่ว่าจะฤดูไหนๆแดดเมืองไทยก็ไม่เคยทำให้ผิดหวังเลย

  • Vitamin C

    ช่วยลดการสร้างเม็ดสีที่มากเกินได้จากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่มี และมีบทบาทในการสร้างคอลลาเจน มีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ 5% Ascorbic acid เทียบกับ 4% Hydroquinone พบว่าการใช้ Ascorbic ใช้ผลที่ดีทางด้านลดการสร้างเม็ดสีที่ผิดปกติจากรังสี UV และมีอาการข้างเคียงที่ต่ำกว่าสามารถใช้ได้ดีในระยะยาวในการรักษาฝ้าได้อย่างปลอดภัย จึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นวิตามินซีเป็นส่วนผสมอยู่ในครีมทาฝ้าหลายยยี่ห้อในปัจจุบัน  หรือจะใช้เป็นแบบกินก็สามารถช่วยป้องกันอาการไหม้แดดได้ โดยมีการใช้วิตามินซีวันละ 2000 mg ร่วมกับวิตามินอี พบว่าสามารถป้องกันอาการไหม้แดดได้ภายใน 8 วันหลังกิน 

  • Pycnogenol

    สารสกัดจากเปลือกต้นสนมาริไทม์ฝรั่งเศส (French maritime pine) มีสารไบโอฟลาโวนอยด์ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง ลดการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิดปกติ ขับผิวหมองคล้ำให้กระจ่างใสอย่างเป็นธรรมชาติ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดส่งผลให้ผิวพรรณมีสุขภาพดี 

  • Beta-carotene

    เบต้าแคโรทีนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มการซ่อมแซมของผิวหนังที่ถูกทำลายจากแสงแดด เพิ่มการสื่อสารระหว่างเซลล์เพื่อลดการตอบสนองต่อการอักเสบที่จะเกิดขึ้นต่อเซลล์ผิว เบต้าแคโรทีมสร้างเม็ดสีเหลืองส้มให้กับผิวหนังทำหน้าที่เหมือนตัวกรองคอยดูดซับแสง UV มีการทดลองให้คนจำนวน 20 คน โดยใช้เบต้าแคโรทีนขนาด 50 mg นาน 6 สัปดาห์ พบว่าสามารถเพิ่มการสะท้อนของแสงแดดได้ 2.3 เท่า

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. แพทย์หญิงรัศนี อัครพันธุ์. การดูแลรักษาฝ้า [อินเทอร์เน็ต]. สถาบันโรคผิวหนัง [เข้าถึงเมื่อ 20 ธ.ค. 2563] เข้าถึงได้จาก: http://inderm.go.th/news/myfile/316074ff15ddea7d8f_Skin%20care.pdf
  2. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. ค่า SPF และ PA ในสารกันแดดคืออะไร [อินเทอร์เน็ต].  [เข้าถึงเมื่อ 7 ม.ค. 2563] เข้าถึงได้จาก: http://www.nsm.or.th/other-service/1757-online-science/knowledge-inventory/sci-article/science-article-nsm.html
  3. ประวิตร พิศาลบุตร พ.บ. โรคฝ้าในเวชปฏิบัติ (Melasma in Clinical Practice) ตอนที่ 1 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 7 ม.ค. 2563] เข้าถึงได้จาก: https://www.doctor.or.th/clinic/detail/7076
  4. โรงพยาบาลขอนแก่นราม. 5 คำถาม ? ว่าด้วยเรื่อง “ฝ้า”  [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 20 ธ.ค. 2563] เข้าถึงได้จาก: http://www.khonkaenram.com/th/services/health-information/health-articles/melasma
  5. Braun, Lesley. Herbs and Natural Supplements, Volume 2 (p. 507). Elsevier Health Sciences APAC. Kindle Edition.