Skip to content

แคลเซียมมีประโยชน์ยังไง

หลายคนก็คงจะตอบว่า ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่าแคลเซียมมีประโยชน์มากกว่านั้น

แคลเซียม 99%อยู่ในกระดูก 1%อยู่ในเลือด ปกติแล้ว99%ของแคลเซียมในร่างกายจะสะสมอยู่ในกระดูกและฟัน ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ส่วนอีก1%ที่เหลือจะอยู่ในเลือด,กล้ามเนื้อและน้ำในเซลล์ ซึ่ง1%นี่แหละที่มีความสำคัญมาก เพราะมันจะคอยควบคุมสมดุลแร่ธาตุต่างๆ  ช่วยในการเต้นของหัวใจ  ช่วยในการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ  เกี่ยวข้องกับกระบวนการแข็งตัวของเลือด  การหลั่งเอนไซม์และฮอร์โมน  ไปจนถึงเหนี่ยวนำการส่งสัญญาณกระแสประสาทในร่างกาย ถ้าเมื่อไหร่แคลเซียม1%ที่อยู่ในเลือด ในกล้ามเนื้อต่างๆของเราลดลง ร่างกายเลยต้องหาวิธีทางต่างๆที่จะไปดึงแคลเซียมในกระดูกออกมาให้อยู่ในเลือดในระดับปกติ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้กระดูกพรุน วิธีหนึ่งก็คือคอยหมั่นเติมแคลเซียม 1% ไม่ให้พร่อง อาจจะทำได้โดยการรับประทานแคลเซียมเสริม ไม่ว่าจะจากอาหาร หรือ อาหารเสริม เพื่อไม่ให้ร่างกายไปดึงแคลเซียมจากกระดูกออกมาชดเชยกับแคลเซียมในเลือดที่เสียไปนั่นเอง

อยากสูง อยากกระดูกแข็งแรงหรอ… ก็กินแคลเซียมสิ

หลายคนมีความเข้าใจว่าแคลเซียมเป็นองค์ประกอบของกระดูก ถ้าอยากกระดูแข็งแรงก็ต้องกินแคลเซียมสิ   ซึ่งมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่อาจจะยังไม่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ในการดูดซึมแคลเซียมต้องอาศัยปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Vitamin D ที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหาร, แร่ธาตุต่างๆที่เป็น cofactor คอยช่วยจับตัวกับแคลเซียมเพื่อพาแคลเซียมเข้ากระดูกหรือมีส่วนช่วยในการสร้างกระดูก เช่น magnesium, boron, manganese, zinc, copper เป็นต้น หรือสภาวะความเป็นกรดในทางเดินอาหารก็มีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมบางชนิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นการรับประทานแคลเซียมอย่างเดียวเพื่อช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง จึงไม่เพียงพอ

แคลเซียมมีมากมายหลากหลาย จะเลือกยังไงดี

         แคลเซียมโดยทั่วไปจะแตกต่างกันที่รูปแบบของเกลือ ซึ่งโดยปกติแล้วแคลเซียมจะไม่สามารถอยู่เดียวดายโดยลำพังได้ มันจะต้องรวมร่างกับเกลือซักชนิดหนึ่งก่อน ซึ่งเกลือนี่แหละ ที่เป็นจุดสร้างความแตกต่างให้กับแคลเซียมที่เรารับประทาน

ก่อนอื่นจะขอแบ่งชนิดของแคลเซียมตามแหล่งที่มาออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

  1. แคลเซียมที่มาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต
    •  เช่น พวกแร่ธาตุ หินปูน ได้แก่ แคลเซียมคาร์บอเนต
      แคลเซียมกลุ่มนี้เป็นที่นิยมมากที่สุดในท้องตลาด เนื่องจากหาง่าย มีราคาถูก และมักจ่ายในโรงพยาบาล แต่มีข้อเสียคือ การดูดซึมต่ำมาก เพียงแค่ 10% เท่านั้น และต้องอาศัยกรดเพื่อช่วยในการดูดซึม จึงต้องรับประทานหลังอาหารทันที นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก และเสี่ยงต่อการเกิดหินปูนจากแคลเซียมเกาะตามหลอดเลือดได้
  2. แคลเซียมที่มาจากพืช เช่น ข้าวโพด, สาหร่าย, ปะการัง ได้แก่ แคลเซียมแอลทรีโอเนต, แคลเซียมซิเตรท, อะความิน เป็นต้น
    • แคลเซียมกลุ่มนี้ดูดซึมได้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องอาศัยกรดเพื่อช่วยในการดูดซึม มีอัตราการดูดซึมสูงถึง 90-95% สามารถรับประทานก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้ ข้อเสียคือ ราคาสูง และเกลือบางชนิดมี elemental calcium ที่ต่ำ
  3. แคลเซียมที่มาจากสัตว์ เช่น เกล็ดปลา ได้แก่ ไฮดรอกซีแอปาไทต์ (Hydroxyapatite) เป็นต้น
    • แคลเซียมชนิดนี้จะมีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับกระดูกมนุษย์มากที่สุด จึงดูดซึมได้ดีมาก ผลข้างเคียงน้อย แต่ข้อเสียคือ ราคาสูงกว่าชนิดอื่น

 

แคลเซียมที่จับกับเกลือแต่ละชนิดจะให้ปริมาณแคลเซียมจริงๆไม่เท่ากัน โดยปริมาณแคลเซียมที่ได้จากเกลือแคลเซียม 100 มิลลิกรัม จะเรียกว่า elemental calcium ยกตัวอย่างเช่น เกลือที่เด่นดังมาก พบได้บ่อย ราคาย่อมเยา มักจ่ายในโรงพยาบาลก็คือ เกลือคาร์บอเนต หรืออยู่ในรูป แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) แคลเซียมชนิดนี้มี elemental calcium 40% หมายถึง ถ้าเรารับประทานแคลเซียมคาร์บอเนต 100 มิลลิกรัม จะได้แคลเซียมจริงๆเพียง 40 มิลลิกรรม  ในขณะที่ถ้าเป็นแคลเซียมซิเตรท (calcium citrate) จะมี elemental calcium 21% หมายถึง ถ้าเรารับประทานแคลเซียมคาร์บอเนต 100 มิลลิกรัม จะได้แคลเซียมจริงๆเพียง 21 มิลลิกรรม เป็นต้น

 

นอกจากดูที่ปริมาณ element calcium แล้ว แคลเซียมที่จับกับเกลือแต่ละชนิดยังมีการดูดซึมที่แตกต่างกันด้วย ดังตารางแสดงด้านล่าง

แคลเซียมในรูปเกลือต่างๆ Elemental calcium (%)ร่างกายดูดซึมได้ (%)
แคลเซียมคาร์บอเนต
(calcium carbonate )
4024
แคลเซียมซิเทรต
(calcium citrate )
2150
แคลเซียมแลคเทส
(calcium lactate)
148.9
แคลเซียมแอล – ทรีโอเนต
(calcium L-threonate)
1390

ดังนั้นจึงขอสรุปว่า วิธีการเลือกแคลเซียมง่ายๆให้พิจารณาที่ 3 ปัจจัย คือ รูปแบบเกลือของแคลเซียม ปริมาณของแคลเซียมที่ได้รับ(elemental calcium) และอัตราการดูดซึมแคลเซียม เป็นต้น

โอ๊ยหมอ ปวดกระดูกไม่ไหวแล้ว ขอซื้อแคลเซียมกินเสริมแก้ปวดกระดูกหน่อย

การปวดบริเวณข้อต่อที่พบบ่อยๆในร้านยา ไม่ว่าจะเป็นปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดเอว ปวดเข่า เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางคนมักเข้าใจผิดว่าเกิดจากกระดูกพรุนหรือเสื่อม แต่จริงๆแล้วมันเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ร่างกายเรามีทั้งกระดูกแกนกลาง กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท ข้อต่อ ที่ทำงานประสานกัน ดังนั้นเราควรพิจารณาว่าอาการปวดของเรามีสาเหตุมาจากส่วนใด เพื่อนำไปสู่การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เหมาะสม

โครงสร้างของกระดูกจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ แกนกระดูก(เป็นแกนกระดูกแข็งๆ) ข้ออ่อนหุ้มกระดูก(เปรียบเสมือนเจราบีที่ช่วยหล่อลื่นบริเวณข้อต่อ) และน้ำเลี้ยงไขข้อ(อยู่ตรงกลางระหว่างข้อต่อ) ดังนั้นอาการปวดบริเวณข้อต่อโดยส่วนใหญ่จึงมักจะมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของ 3 ส่วนนี้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อน้ำเลี้ยงไขข้อลดลง ทำให้ช่องว่างกระดูกแคบลง จนเกิดการชนกันระหว่างข้ออ่อนหุ้มกระดูก ทำให้เวลาขยับร่างกาย หรือ มีแรงกดทับนานๆ จะทำให้เกิดแรงเสียดสีระหว่างข้อต่อ จนเกิดการอักเสบและการปวดได้ 

ดังนั้นการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในร้านยาเพื่อรักษาอาการปวดบริเวณข้อต่อ หรือกระดูก นอกจากแคลเซียมที่ช่วยบำรุงบริเวณแกนกลางกระดูกแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกมากมาย เช่น คอลลาเจนเทปทู ช่วยบำรุงบริเวณข้ออ่อนหุ้มกระดูก, กลูโคซามีน ที่ช่วยเรื่องการเพิ่มน้ำเลี้ยงระหว่างข้อ กระตุ้นการสร้างข้อ ลดอาการปวด นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการอักเสบ เช่น โอเมก้า3, ขมิ้นชัน, โรสฮิบ, คอนดรอยติน เป็นต้น