Skip to content

ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยย่อมเกิดความเป็นห่วงว่าลูกรักที่กำลังทั้งเล่นทั้งเรียนกับเพื่อนๆอยู่ที่โรงเรียนนั้นจะได้รับเชื้อโรคอะไรปนเปื้อนกลับมาบ้าง หนึ่งในโรคฮิตตอนนี้คงหนีไม่พ้นคือ การติดเชื้อกลุ่มไวรัสโรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-And-Mouth Disease; HFMD) ที่มักจะพบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี

สาเหตุของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) และกลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง

อาการของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง และอ่อนเพลีย หลังจากมีไข้ 1-2 วัน จะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายในตามมา โดยอาจเกิดควบคู่ไปกับแผลร้อนในด้วย

การติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก

โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสผ่านน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรงหรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือของผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กเป็นหลัก

โรคมือ เท้า ปาก กับการใช้วัคซีนป้องกัน

ต้องแจ้งให้ท่านผู้ปกครองทราบก่อนเลยว่า วัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีเพียงวัคซีนที่ครอบคลุมเชื้อเอนเทอโรไวรัส A71 (EV71) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดที่ทำให้เกิดความรุนแรงได้สูงสุด โดยทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือภาวะสมองอักเสบ มักพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า วัคซีนนี้จึงเหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี โดยฉีด 2 เข็ม โดยในการฉีดนั้นเว้นระยะห่างจากวัคซีนเข็มแรกเป็นเวลา 1 เดือน

แต่อย่างไรก็ตามสถิติในไทยกลับพบว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นไวรัสชนิดคอกซากีไวรัส A16 (CA16) ซึ่งเป็นชนิดที่มีความรุนแรงน้อยกว่า และแสดงอาการทางผิวหนังเป็นหลัก เช่น มีตุ่มขึ้นที่เพดานปาก มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า รอบก้น และเมื่อหายแล้วบางรายจะมีร่องรอยที่เล็บทิ้งไว้ ณ ปัจจุบันนี้หลักฐานทางวิชาการยังไม่พบว่าวัคซีน EV71 นี้จะสามารถป้องกันข้ามสายพันธุ์ไปถึงไวรัสกลุ่มคอกซากีได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อมากกว่าการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค

แนวทางปฏิบัติเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อทือ เท้า ปาก

แนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อมือ เท้า ปาก รวมถึงป้องกันอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง มีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อย ๆ 
  • รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด
  • ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม
  • ผู้ดูแลควรใช้ผ้าสะอาดหรือทิชชู่ปิดปากปิดจมูกเด็กทุกครั้งที่ไอหรือจาม และเมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
  • หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย

หวังว่าทุกท่านจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโรคมือ เท้า ปาก เพื่อดูแลลูกหลานของเราไม่มากก็น้อยนะคะ  ด้วยความห่วงใยจากเราชาวเซฟ แอนด์ เซฟ ฟาร์มาซีค่าาา

อ้างอิง

Bumrungrad International Hospital. โรคมือ เท้า ปาก. [Online]. วันที่สืบค้น 24 สิงหาคม 2565. Available From : https://www.bumrungrad.com/th/conditions/hand-foot-mouth

PopPad. โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) Online]. วันที่สืบค้น 24 สิงหาคม 2565. Available From : โรคมือเท้าปาก – อาการ, สาเหตุ, การรักษา – พบแพทย์ (pobpad.com)

กรุงเทพธุรกิจ. วันที่สืบค้น 24 สิงหาคม 2565. Available From : “วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก” กลุ่มไหนควรได้รับ เปิดอาการ ความรุนแรง (bangkokbiznews.com)