Skip to content

ทำไมบางคน…?

  • ผื่นคัน ลมพิษขึ้นบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ แทบจะอาบยาสเตียรอยด์แทนน้ำก็ยังไม่หายขาด
  • กินอะไรนิดหน่อย ก็ท้องเสีย ท้องอืดง่าย
  • เป็นสิวเรื้อรัง ขึ้นๆยุบๆ
  • ไมเกรนถามหาเป็นประจำ
  • อ่อนเพลียง่าย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง

บางที คุณอาจจะเป็นโรคภูมิแพ้อาหารแฝงอยู่ก็ได้!!!

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของเราตอบสนองต่อสิ่งหนึ่งมากเกินไป ซึ่งสิ่งนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่อันตรายต่อมนุษย์เลยด้วยซ้ำ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ ดอกไม้ หรือ แม้แต่อาหารที่เราทานกันอยู่เป็นประจำ

การแพ้อาหารจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  1. การแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน (Food allergy) ก็คือ เกิดการแพ้ขึ้นอย่างฉับพลัน ภายใน 2 ชั่วโมง เช่น บางคนแพ้อาหารทะเล กินแล้วหน้าบวมทันที เป็นต้น การแพ้แบบนี้เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของเราตอบสนองต่อสิ่งเร้า รวดเร็วและไวเกินไป ร่างกายจะตอบสนองโดยการสร้างแอนตี้บอดี้ชนิด IgE ออกมา เพื่อให้เม็ดเลือดขาวเข้ามาจู่โจมสิ่งที่มันคิดว่าเป็นศัตรู ผลคือ จะเกิดการหลั่งสารต่างๆ เช่น ฮีสตามีน ลิวโคเตอีน ซึ่งทำให้เราเกิดเป็นอาการ แพ้ ลมพิษ บวม แดง เป็นต้น 
  2. การแพ้อาหารแบบแฝง (Food Intolerance) เป็นปฏิกิริยาที่ภูมิต้านทานตอบสนองต่ออาหารที่แพ้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยร่างกายจะหลั่งแอนตี้บอดี้ชนิด IgG ขึ้นมา IgG จะเข้าไปจับกับอาหารที่แพ้ กลายเป็น Ag-Ab complex ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เกิดเป็นอาการต่างๆตามมา เช่น ท้องเสีย ท้องอืด ปวดหัว อาการบวมน้ำ ผิวหนังอักเสบ สิว เป็นต้น มักเป็นอาการแบบเรื้อรัง คนที่มีอาการมักไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง

ภูมิแพ้อาหารแฝงคืออะไร ปกติก็กินนม กินถั่วได้ ทำไมอยู่ๆถึงแพ้หละ?

หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมอยู่ๆเกิดการแพ้อาหารได้ ทั้งๆที่เคยกินมาแต่เด็กไม่เห็นเป็นอะไร ทั้งนี้เนื่องจากโรคภูมิแพ้อาหารแฝงเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง เกิดจากการที่ลำไส้ของเราย่อยอาหารสิ่งหนึ่งไม่ได้หรือย่อยได้ไม่ทัน จากการที่เรารับประทานอาหารชนิดนั้นๆมากเกินไป หรือ ร่างกายไม่มีเอนไซม์ในการย่อยอาหารนั้น หรือไม่ใช่อาหารพื้นเพที่เราเคยทานกัน จนร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ชนิด IgG ขึ้นมาต่อต้าน

โดยปกติเซลล์ที่ลำไส้ของเราจะมีการเรียงตัวชิดแน่นกันอย่างเป็นระเบียบ เพื่อคัดกรองสารอาหารต่างๆที่ผ่านการย่อยแล้วเข้าสู่ลำไส้ แต่เมื่อเราได้รับอาหารที่ลำไส้ย่อยไม่ได้ ย่อยไม่ทัน หรือ อาหารที่มีสารพิษตกค้าง นานๆเข้า ลำไส้จะเกิดการระคายเคือง และเกิดการอักเสบ ถ้าลำไส้เกิดการอักเสบเรื้อรัง เซลล์ระหว่างลำไส้เกิดอาการบวม จนเกิดช่องว่างระหว่างเซลล์ หรือที่เรียกว่าภาวะลำไส้รั่ว (leaky gut syndrome) ทำให้อาหารบางชนิดที่ยังย่อยไม่สมบูรณ์หลุดรอดเข้าไปในกระแสเลือด จนร่างกายคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และ หลั่งสารก่ออักเสบ สารก่อภูมิแพ้ต่างๆกระจายไปทั่วร่างกาย จึงไม่แปลกที่พบว่าอาการของโรคภูมิแพ้อาหารแฝงจะเกิดทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ไมเกรน ท้องเสีย ท้องอืด สิว อ่อนเพลีย เป็นต้น 

โดยอาการจากโรคภูมิแพ้อาหารแฝงจะไม่ปรากฏทันที แต่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เรารับประทานอาหารนั้นๆไปสักพักหนึ่ง อาจจะเป็นวันถึงสัปดาห์ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง

อาหารมีมากมายหลายร้อยชนิด จะรู้ได้ยังไงว่าเราแพ้อะไร

ในปัจจุบันจะมีการตรวจหาภูมิแพ้อาหารแฝง โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับแอนติบอดี้ IgG ต่ออาหารที่เราแพ้ หรือ food intolerance test  โดยจะแสดงผลออกมาเป็นค่า สูง (Elevated) ปานกลาง (Borderline) ปกติ (Normal) ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการแพ้ต่ออาหารชนิดนั้นๆ มีหน่วยความเข้มข้นของแอนติบอดี IgG เป็น ยูนิตต่อมิลลิลิตร (U/ml) 

โดยอาหารที่คนส่วนใหญ่แพ้มักเป็นอาหารจำพวก นม ไข่ ปลา สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง ข้าวสาลี กลูเตน (โปรตีนชนิดหนึ่งในข้าวสาลี) สมุนไพร แอลกอฮอล์ ยีสต์ เป็นต้น

วิธีการรับมือเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้อาหารแฝง

วิธีที่ดีที่สุด ถ้าเรารู้ว่าเราแพ้อะไรก็ควร หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้เหล่านั้น หรือถ้าเราไม่มั่นใจว่าเราแพ้อะไร ลองสังเกตตัวเอง โดยเริ่มจากการงดอาหารที่คนมักแพ้กัน เช่น กลูเตน นม ไข่ ถั่ว ประมาณ 3-6 เดือน ถ้าอาการต่างๆดีขึ้นก็เป็นไปได้ว่าเราแพ้อาหารสิ่งนั้น

การเป็นภูมิแพ้อาหารแฝง เราไม่จำเป็นต้องอดอาหารที่เราแพ้ไปตลอดชีวิต เพียงแต่เราไม่ควรรับประทานอาหารชนิดเดียวปริมาณมากและบ่อยเกินไป เพราะนั่นเป็นการทำให้ลำไส้ของเราย่อยไม่ทัน และก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้แฝงตามมาได้ ถ้าเราอดใจไม่ไหวจริงๆ อาจจะแก้ปัญหาโดยการกินทีละน้อยๆ นานๆกินทีพอให้หายอยากก็ช่วยได้ นอกจากนี้เราควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย หมั่นรับประทานจุลินทรีย์ตัวดีเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ลำไส้แข็งแรง

อย่าลืมว่าโรคภูมิแพ้ไม่ว่าชนิดใด การป้องกันและหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ สำคัญกว่าการรักษา 
ดังคำกล่าวที่ว่า “Prevention is better than Cure”

อ้างอิง

  • หนังสือ โรคภูมิแพ้ allergy ของ พญ.สิรินันท์ บุญยะลีพรรณ, ผศ. นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
  • บทความเผยแพร่สู่ประชาชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. น้ำหนักขึ้นง่าย สิวก็ไม่หาย สัญญาณภาวะลำไส้รั่ว[ออนไลน์]. [เข้าถึงเมื่อ 17 สิงหาคมม 2564]. เข้าถึงได้จาก :  https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/469/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7/