Skip to content

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ร่วมกับเชื้อไวรัสโควิด-19 (co-infection) เป็นการเพิ่มความรุนแรงของโรค  ซึ่งเป็นอันตรายในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง และสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง 29-55 เปอร์เซ็นต์!!!

ช่วงนี้โควิด19 ระลอกใหม่เริ่มกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เป็นเชื้อกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังมาแรง  อาการที่เด่นชัดของสายพันธุ์นี้ได้แก่ “อ่อนเพลีย เหนื่อย, ไอแห้ง, เจ็บคอ, ไข้, มีน้ำมูก, ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และถ่ายเหลว”

ในขณะเดียวกัน ช่วงนี้หน้าฝน เป็นฤดูที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดอีกเช่นกัน แถมอาการส่วนใหญ่ก็คล้ายกันจนบางทีแยกแทบไม่ออก ทำให้หลายๆคนที่เริ่มมีอาการต้องมาระแวงว่านี่เราติดเชื้อโควิดไปแล้วหรืออย่างไร ทั้งๆที่จริงๆอาจจะเป็นเชื้อไวรัสอื่นๆก็ได้ วันนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดนี้กัน รวมถึงความรุนแรง อาการที่พบ และความจำเป็นในการฉีดวัคซีนกันค่ะ

ไวรัสเหมือนกัน แต่คนละชนิดกันนะเออ!

ไข้หวัดใหญ่เกิดจาก เชิ้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) มีระยะฟักตัว 1-3 วัน แบ่งเป็นสายพันธุ์ใหญ่ๆ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ เอ บี และซี ในขณะที่ COVID-19 เกิดจาก เชื้อไวรัสโคโรน่า (Coronavirus) มีระยะฟักตัว 2-14 วัน

เชื้อไวรัสทั้งสองชนิดแพร่กระจายได้ผ่านสารคัดหลั่ง เช่นการไอ จาม น้ำมูก ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การใส่แมส และการล้างมือ ฉีดแอลกอฮอล์บ่อยๆ เป็นการป้องกันได้ดีมากเลยทีเดียวค่ะ 

อาการแตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ตรงไหน?

ไข้หวัดใหญ่ มีอาการเด่นคือ ไข้สูง และปวดเมื่อยเนื้อตัวมาก อาจจะมีอาการเจ็บคอและคัดจมูกร่วมด้วย แต่ไม่ค่อยพบน้ำมูก บางรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุจะมีอาการถ่ายเหลวร่วมด้วย ในขณะที่ COVID-19 อาการเด่นจะเป็น  ไอแห้งๆ และมีไข้ไม่สูง ไม่ค่อยพบน้ำมูก หากมีอาการประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย

ซึ่งมีความน่ากังวลมันอยู่ตรงนี้ เพราะอาการแสดงของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกันมาก ทำให้อาจจะเกิดความสับสนในการจำแนกโรคได้ 

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมกับฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่?

ได้ค่ะ  จากคำแนะนำจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศคำแนะนำ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมกับ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ในวันเดียวกัน โดยไม่ต้องเว้นระยะห่างเนื่องจากเป็นเชื้อคนละชนิดกัน โดยแนะนำให้ฉีดที่แขนคนละข้าง

ผู้ป่วยที่รักษาจนหายแล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ไหม?

มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกครั้ง หากไม่ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง แต่ในรายงานสถานการณ์ตอนนี้ มีผู้ป่วยที่กลับมาป่วยซ้ำน้อยมาก โดยถึงแม้ในปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีแพร่หลาย  แต่พบว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังคงสามารถป่วยจากไข้หวัดใหญ่ได้  เนื่องจากวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพเพียง 40-60 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปี

Co-infection ความรุนแรงเมื่อติดพร้อมกันทั้ง 2 เชื้อ

ล่าสุดพบข้อมูลว่าผู้ป่วยติดเชื้อร่วมกันได้ทั้ง 2 โรค การติดเชื้อทั้งสองโรคในเวลาเดียวกันหรือ co-infection จะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของโรค  ซึ่งเป็นอันตรายในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง  เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์

โดยการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาและจีนพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆร่วมกันได้สูงถึง 201 และ 80 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และการติดเชื้อร่วมกับโควิด-19 กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ พบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ   ที่น่าตกใจกว่านั้นคือการติดเชื้อร่วมกันนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง 29-55 เปอร์เซ็นต์

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดความสับสนในการตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อร่วมระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 ได้ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนที่ จะติดเชื้อโควิด-19 ยังช่วยลดการนอนโรงพยาบาล หรือเข้ารักษาในโรงพยาบาลสั้นกว่าคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนการติดเชื้อโควิด-19

ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ให้คำแนะนำว่าประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่

  • หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 
  • เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดและเบาหวาน 
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 
  • ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 
  • ผู้ที่มีโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ควรได้เป็นประจำทุกปี โดยแนะนำให้ฉีดก่อนฤดูฝน (ช่วงเดือนพฤษภาคม) หรือก่อนฤดูหนาว (ช่วงเดือนตุลาคม) ซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่

ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ก็อย่าลืมไปฉีดวันซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่กันด้วยนะคะ 🙂

เอกสารอ้างอิง 

  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ วัคซีนสำคัญในช่วงการระบาดของโรคโควิด19. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/august-2021/influenza-virus-covid-19