Skip to content

หลายคนคงเคยได้ยินภาวะจอตาเสื่อมหรือจอประสาทตาเสื่อมซึ่งพบได้บ่อยมากในผู้ที่ต้องทำงานหรือใช้คอมพิวเตอร์มาก แล้วโรคนี้คืออะไร อันตรายหรือไม่?… ควรบำรุงและรักษาอย่างไรดีนะ?

จอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) คือภาวะเรื้อรังที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นมีสาเหตุจากการเสื่อมในส่วนกลางของจอประสาทตาซึ่งเป็นบริเวณที่รับภาพได้ชัดเจน พบได้มากเมื่ออายุมากขึ้นโดยช่วงแรกจะไม่แสดงอาการใดๆปรากฏให้เห็นและการดำเนินของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ จึงแนะนำให้บุคคลที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  ซึ่งโรคจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น  อายุที่เพิ่มขึ้น การสูบบุหรี่ โรคอ้วน แสงแดด การที่ร่างกายขาดสารอาหาร เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี สังกะสี ลูทีน กรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 และปัจจัยทางพันธุกรรม

👉 จอประสาทตาเสื่อมมีกี่ประภท?

  • จอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (dry macular degeneration) มีลักษณะของจอประสาทตาที่บางลง บริเวณศูนย์กลางจอประสาทตาเริ่มเสื่อมลง ตรวจพบว่ามีจุดสีเหลืองบริเวณจอรับภาพตรงกลางของจอประสาทตา ที่ชื่อว่า drusen อยู่ใต้ผนังชั้นนอกสุดของจอ  สามารถทำลายเซลล์รับแสงได้ มักไม่แสดงอาการของโรคปรากฏให้เห็น อาจส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงอย่างช้าๆ เห็นภาพบิดเบี้ยว มองภาพไม่ชัด ต้องใช้แสงในการมองมากกว่าปกติและอาจมีการดำเนินของโรคไปเป็นจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียกได้
  •  จอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (wet macular degeneration) พบในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม 10-15%  การดำเนินของโรคจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตาบอด พบว่าเกิดจากการที่เซลล์จอประสาทตาเสื่อม บางลงและมีหลอดเลือดผิดปกติที่งอกขึ้นใหม่ในผนังลูกตาชั้นกลาง ส่งผลให้ของเหลวในหลอดเลือดรั่วไหลไปโดนจุดรับภาพ ทำให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นภาพบิดเบี้ยวไปและ/หรือเกิดจุดทึบกลางภาพที่มองเห็นส่งผลให้เห็นเป็นเงาดำบริเวณกึ่งกลางภาพที่มองเห็น

👉 อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม

อาการโดยทั่วไปที่เหมือนกันของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้ง 2 ประเภท มีดังนี้

  •  มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
  •  มองในที่สว่างไม่ชัด ต้องใช้แสงเพิ่มในการมองหรือแพ้แสง อยู่ในที่แสงจ้านานๆไม่ได้ ควรสวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่ในที่แสงจ้า
  • ปรับสายตาจากการมองเห็นในที่มืดมาที่สว่างไม่ค่อยได้
  •  สูญเสียความสามารถในการมองเห็น ตามัว มีจุดดำหรือเงาบังอยู่ตรงกลางภาพ
  •  เห็นสีผิดเพี้ยน

หากพบอาการใดอาการหนึ่งข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียด

👉 ปัจจัยเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อม

  •  อายุที่มากขึ้น สามารถพบได้ในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ควรได้รับการตรวจเช็คจอประสาทตาทุก 1 ปี
  • การสูบบุหรี่ จึงควรงดหรือเลิกสูบบุหรี่
  • ความเครียด
  • มองหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรทานลูทีน (lutein) หรือซีแซนธิน (zeaxanthin) เสริมควบคู่กับการสวมแว่นกรองแสงสีฟ้าขณะใช้อุปกรณ์
  • การอักเสบหรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อดวงตา
  •  ภาวะความดันโลหิตสูง รวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตและมีระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  •  ระดับแคโรทีนอยด์ในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก
  • วัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและไม่ได้รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน มักมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคนี้

👉 การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม

ในปัจจุบันมีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมได้หลายวิธีด้วยกัน ซึ่งอยู่ในการดูแลของแพทย์เฉพาะทาง เช่น การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ การใช้ Growth Factor การใช้สารอาหารควบคู่กับการรักษา

👉 การใช้ลูทีนและซีแซนทีนในการป้องกันหรือชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม

ลูทีน (lutein) และซีแซนธิน (zeaxanthin) เป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ซึ่งเป็นรงควัตถุที่มีสีเหลือง ส้ม แดง มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เสริมฤทธิ์ของวิตามินซีและวิตามินอี ยังพบสารเหล่านี้ในจอประสาทตามากที่สุดบริเวณโฟเวีย (Fovea) ซึ่งเป็นบริเวณที่รับภาพได้ชัดเจนที่สุด รงควัตถุเหล่านี้ทำหน้าที่ในการกรองแสงโดยสามารถกรองแสงได้ครอบคลุมหลายความยาวคลื่น โดยเฉพาะแสงสีฟ้าที่มีพลังงานสูงส่งผลต่อจอประสาทตามากที่สุด ซึ่งพบได้บ่อยจากแสงหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตและหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น จากการศึกษาในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ให้รับประทานอาหารเสริมที่มีปริมาณลูทีน 10 มิลลิกรัมและซีแซนธิน 1 มิลลิกรัม ร่วมกับวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ เป็นเวลา 6 เดือน พบว่ามีการสะสมของรงควัตถุในจอประสาทตามากขึ้นและผลการทดสอบการมองเห็นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  • Lim LS, Mitchell P, Seddon JM, Golz GF, Wong TY. Age-related macular degeneration. Lancet 2012;379:1728-38.
  • Coleman HR, Chan CC, Ferris III FL, Chew EY. Age-related macular degeneration. Lancet 2008;372:1835-45.
  • จารุวรรณ แซ่โค้ว, ภฤศ หาญอุตสาหะ, วนิดาลิขิตสินโสภณ.บทบาทของพยาบาลกับการรักษาแบบโฟโตไดนามิคทางจักษุวิทยา. รามาธิบดีพยาบาลสาร 2552;15(1):15-24.
  • Nowak JZ. Age-related macular degeneration (AMD): pathogenesis and therapy. Pharmacol Rep 2006;58:353-63.
  • Beatty S, Koh H-H, Henson D, Boulton M. The role of oxidative stress in the pathogenesis of agerelated macular degeneration. Surv Ophthalmol 2000;45(2):115-34.
  • Wolf-Schnurrbusch UEK, Zinkernagel MS, Munk MR, Ebneter A, Wolf S. Oral lutein supplementation enhances macular pigment density and contrast sensitivity but not in combination with polyunsaturated fatty acids. IOVS 2015;56(13):8069-74.
  • จอประสาทตาเสื่อม. [Internet]. เข้าถึงได้จาก: https://www.pobpad.com/จอประสาทตาเสื่อม ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ .จอประสาทตาเสื่อม. [Internet]. เข้าถึงได้จาก: http://med.swu.ac.th/msmc/optic/index.php/77-latest-news/152-2019-07-08-06-45-55