Skip to content

Glutathione คุณประโยชน์ดีๆที่ไม่ได้มีแค่เรื่องผิวขาว

กลูตาไธโอน(Glutathione) เป็นสารที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ชนิด คือ ไกลซีน (Glycine) แอลซิสเทอีน (L-Cysteine) และแอลกลูตาเมต (L-Glutamate)

โดยทั่วไปเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายสามารถผลิตกลูตาไธโอนได้เอง และถูกผลิตมากที่สุดที่ตับ ปอด ไต ม้าม ตับอ่อน และเลนส์แก้วตา  แต่หากว่าร่างกายเกิดการเจ็บป่วย อยู่ในภาวะความเครียด อ่อนล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือแม้แต่อายุที่มากขึ้น จะทำให้ระดับกลูตาไธโอนในร่างกายลดต่ำลงได้

พบว่าในคนที่มีระดับกลูตาไธโอนต่ำมีความเกี่ยวข้องกับพยาธิสภาพของโรคหลายชนิด เช่น อัลไซเมอร์, พาร์คินสัน, เอชไอวี, ไวรัสตับอักเสบซี, เบาหวานชนิดที่ 2, โรคหัวใจและหลอดเลือด, stroke, ลําไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล, พังผืดในปอด, กลุ่มอาการหายใจลําบากในผู้ใหญ่ (ARDS) และต้อกระจก เป็นต้น

หน้าที่ของกลูตาไธโอน(Glutathione)

1. เพิ่มภูมิต้านทาน (IMMUNE BOOSTER)

กลูตาไธโอนช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาว ให้มีประสิทธิภาพที่ดีในการป้องกันและจัดการกับเชื้อโรคทั้งไวรัส แบคทีเรีย สิ่งแปลกปลอมในร่างกาย รวมถึงเซลล์มะเร็ง

2. ขจัดสารพิษ (DETOXIFIER)

กลูตาไธโอนในตับจะจับสารพิษที่ไม่ละลายน้ำให้เปลี่ยนเป็นสารที่ละลายน้ำ และกำจัดออกทางไตหรือทางลำไส้ ดังนั้นตับและไตซึ่งเป็นอวัยวะที่มีของเสียและสารพิษสะสมมากที่สุด จึงพบว่าอวัยวะทั้งสองนี้มีปริมาณกลูตาไธโอนที่ถูกผลิตออกมามากที่สุด เพื่อทำหน้าที่กำจัดของเสีย ในทำนองเดียวกัน ปอด ก็พบกลูตาไธโอนในปริมาณสูง เพื่อกำจัดของเสียจากที่คนเราหายใจเอาฝุ่นละอองและควันพิษเข้าไป

นักวิจัยพบว่า เนื้อสมอง ระบบเส้นประสาท เต้านม และต่อมลูกหมาก มีองค์ประกอบส่วนมากเป็นไขมัน ดังนั้นจึงมีแนวโน้มเป็นแหล่งสะสมของสารพิษหรือสารที่ไม่ละลายน้ำแต่ละลายสะสมในไขมันมากกว่าอวัยวะอื่นๆ เป็นสาเหตุที่ว่าในปัจจุบันพบอุบัติการณ์การเกิดโรคความจำเสื่อม (Alzheimer) มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก มากขึ้นนั่นเอง


ดังนั้นหากร่างกายมีปริมาณกลูตาไธโอนไม่เพียงพอ จะทำให้ตับและอวัยวะต่างๆขจัดของเสียและสารพิษได้ไม่ดี ส่งผลทำให้ของเสียสะสมอยู่ในร่างกาย ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆได้

3. ต้านอนุมูลอิสระ (ANTIOXIDANT)

กลูตาไธโอน จัดว่าเป็น “Master antioxidant” ช่วยต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะกลุ่ม ROS (reactive oxygen species) เช่น  hydroxyl radical, lipid peroxyl radical, peroxynitrite และ H2O2 ซึ่งอนุมูลอิสระกุล่มนี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจแข็งตัว(atherosclerosis) หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เช่น HIV, rheumatoid arthritis, cancer เป็นต้น

อนุมูลอิสระเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นขณะที่เราหายใจ การเผาผลาญพลังงานระดับเซลล์ การรับประทานอาหาร ล้วนแต่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระทั้งสิ้น ซึ่งในปกติแล้วร่างกายของเราจะมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ แต่เมื่อใดที่อนุมูลอิสระมากกว่าสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย หรือเรียกว่าเกิด Oxidative stress เซลล์ในร่างกายก็จะโดนทำลายจนเกิดความเสื่อม โดยอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจะไปทำลายตั้งแต่ cell membranes, proteins, nucleic acids เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเสื่อมชรา

4. เพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย (ENERGIZER)

ไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) คืออวัยวะหนึ่งของเซลล์ที่ทำหน้าที่เหมือนโรงงานในการเผาผลาญและเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานให้กับเซลล์ในรูปแบบของ ATP (Adenosine Triphosphate) โดยการแปลงออกซิเจนและสารอาหารที่เรากินเข้าไป ทำให้มนุษย์ทำกิจกรรมต่างๆได้

ซึ่งตัวชี้วัดหนึ่งถึงโรคชราหรือการแก่ก่อนวัย คือประสิทธิภาพของไมโทคอนเดรีย ยิ่งไมโทคอนเดรียมีประสิทธิภาพดี ยิ่งมีพลังและทำให้แก่ช้าลง

ทุกครั้งที่ไมโทคอนเดรียสร้างพลังงานออกมา จะเกิดอนุมูลอิสระตามมาด้วยเสมอ ซึ่งอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำลายเซลล์ภายในร่างกายแล้ว ยังสามารถทำลายไมโทคอนเดรียเองได้ด้วย ทำให้ไมโทคอนเดรียมีประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานลดลง เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความชราภาพและก่อให้เกิดโรคต่างๆตามมาได้

โดยปกติไมโทครอนเดรียสามารถสร้างกลูตาไธโอนมาเพื่อต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น แต่หากว่าร่างกายอยู่ในสภาวะที่ความเครียด หักโหม อ่อนล้า หรือรับประทานอาหารที่มากเกินไป ทำให้ไมโทครอนเดียต้องเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานตลอดเวลา ก็อาจจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่มากเกินกว่าที่กลูตาไธโอนจะขจัดออกไปได้

5. ปรับเม็ดสีผิวให้ขาวกระจ่างใส (SKIN WHITENING)

โดยปกติร่างกายของคนเราจะสร้างเซลล์เม็ดสีเมลานินอยู่ 2 ชนิด คือ Eumelanin (เซลล์เม็ดสีผิวคล้ำ) และ Pheomelanin (เซลล์เม็ดสีผิวขาว) กลูตาไธโอนเพิ่มการสร้าง Pheomelanin ด้วย 2 กลไก คือ ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ไม่ให้สร้างเมลานิน และช่วยเปลี่ยน Eumelanin ให้เป็น Pheomelanin ทำให้เม็ดสีผิวเป็นชนิดขาวมากขึ้น

6. เพิ่มความยาวเทโลเมียร์

Glutathione ช่วยลดการเกิดภาวะ oxidative stress ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมของเซลล์ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เทโลเมียร์ถูกทำลายได้ โดยมีการศึกษาพบว่า ระดับกลูตาไธโอนที่สูงขึ้นในช่วงวัยเด็กนั้นสัมพันธ์กับเทโลเมียร์ที่ยาวขึ้นในช่วงบั้นปลายของชีวิต

วิธีการเพิ่มระดับกลูตาไธโอน

1. ให้กรดอะมิโน cysteine ซึ่งเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นของการสร้าง Glutathione

สาเหตุของการมี GSH ในร่างกายมักเกิดจากการขาด cysteine ซึ่งเป็น limiting amino acid แต่ปัญหาของการให้ cysteineคือมีการละลายที่ต่ำ และมีรายงานการเกิดพิษในหนูทดลอง จึงอาจให้ Methionine และ N-acetyl cysteine (NAC) ซึ่งเป็นสารต้นต้นของ cysteine ทดแทนได้

2. กินอาหารที่มีซัลเฟอร์ (Sulfur-Rich Foods)

ซัลเฟอร์เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อการสร้างกลูตาไธโอน พบได้มากในอาหารจำพวกโปรตีนและพืช เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อวัว สัตว์ปีก ปลา บล็อกโครี กะหล่ำ ผักเคล เป็นต้น

3. รับประทานวิตามินซีให้เพียงพอ

วิตามินซีช่วยเพิ่มระดับกลูตาไธโอนได้ โดยมีการศึกษาพบว่าการรับประทานวิตามินซี 500-1000 มก./วัน เป็นเวลา 13 สัปดาห์ สามารถเพิ่มระดับกลูตาไธโอนในเม็ดเลือดขาวได้ 18% และมีการศึกษาพบว่าการรับประทานวิตามินซี 500 มก./วัน สามารถเพิ่มระดับกลูตาไธโอนในเม็ดเลือดแดงได้ 47%

4. รับประทานโปรตีนให้เพียงพอและหลากหลาย

เพื่อให้ได้รับกรดอะมิโนที่เป็นสารตั้งต้นของการสร้าง glutathione ให้ครบถ้วน

ปริมาณการรับประทาน glutathione

ผู้ใหญ่

  • รูปแบบรับประทาน : 500-2000 มก./วัน
  • Intravenously (IV) : 10-20 mg/kg body weight

ผลข้างเคียง

  • การรับประทาน glutathione ขนาดสูงอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง ตัวร้อนแดง คัน หายใจลำบาก เป็นต้น
  • การรับประทาน glutathione เป็นเวลานาน อาจทำให้ระดับสังกะสีในร่างกายต่ำได้
  • การใช้ glutathione ในรูปแบบสูดดมอาจทำให้เอาการหอบหืดกำเริบได้ (exacerbate asthma)

ความปลอดภัย

  • Glutathione ได้รับการรับรองความปลอดภัย “generally recognized as safe” (GRAS) จาก US Food and Drug Administration (FDA)
  • ข้อมูลในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรยังมีจำกัด

ข้อจำกัดของ glutathione ในรูปแบบรับประทาน

เนื่องจาก glutathione เป็นโปรตีน ดังนั้นการเสริม glutathione ในรูปแบบรับประทานอาจได้ผลที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากโดนทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาพบว่าการรับประทาน glutathione ในรูปแบบ liposomal หรือ แคปซูลที่มีความสามารถในการป้องกันกรด อาจช่วยเสริมประสิทธิภาพของ glutathione ได้

แหล่งอ้างอิง
  1. Lee E, Park HY, Kim SW, Kim J, Lim K. Vitamin C and glutathione supplementation: a review of their additive effects on exercise performance. Physical Activity and Nutrition. 2023 Sep;27(3):36.
  2. Anderson ME. Glutathione: an overview of biosynthesis and modulation. Chemico-biological interactions. 1998 Apr 24;111:1-4.
  3. Marí M, Morales A, Colell A, García-Ruiz C, Kaplowitz N, Fernández-Checa JC. Mitochondrial glutathione: features, regulation and role in disease. Biochimica et Biophysica Acta (BBA)-General Subjects. 2013 May 1;1830(5):3317-28.
  4. Drugs.com [Internet]. Glutathione. [Updated: 15 July 2024, Cited: 20 August 2024]. Available from: https://www.drugs.com/npp/glutathione.html
  5. ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล.(2556). กลูตาไธโอน ต้านโรคชะลอวัย. สืบค้น 16 สิงหาคม 2567,จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article