Skip to content

Collagen Type 2 เคล็ดลับเพื่อการบำรุงกระดูกอ่อนและข้อต่อ

เมื่ออายุมากขึ้น ข้อต่อและกระดูกอ่อนในร่างกายจะเริ่มเสื่อมสภาพลง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการปวดข้อและเข่าได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเกิดจากการสึกหรอและเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่หุ้มข้อ กระดูกอ่อนเหล่านี้ทำหน้าที่สำคัญในการปกป้องและดูดซับแรงกระแทกภายในข้อเข่า เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อมสภาพลง กระดูกภายในข้อจะเกิดการเสียดสีกัน ส่งผลให้เกิดการอักเสบและปวด การลดการอักเสบ ป้องกันการสลายของกระดูกอ่อน และส่งเสริมการสร้างกระดูกอ่อนใหม่ จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดข้อและช่วยให้ข้อต่อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทำความรู้จักกับ Collagen type II

คอลลาเจน เป็นโปรตีนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนต่อกันเส้นใย ร่างกายสร้างได้เองตามธรรมชาติ และเป็นส่วนประกอบหลักของ ผิวหนัง ผม เล็บ กระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ผนังหลอดเลือด มีหน้าที่เพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่อวัยวะต่างๆ คอลลาเจนมีหลายชนิดและมีความแตกต่างกันในหน้าที่การทำงาน โดย Collagen Type II หรือคอลลาเจนชนิดที่ 2 เป็นคอลลาเจนชนิดเดียวกับที่พบในเซลล์กระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อ มีสัดส่วนมากกว่า 90% ของคอลลาเจนทั้งหมดในเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน หน้าที่หลักของ Collagen Type 2 คือ

  • รักษาความแข็งแรงและยืดหยุ่นของกระดูกอ่อน ทำให้กระดูกอ่อนสามารถรองรับน้ำหนักและแรงกดทับได้ดี
  • ลดการเสียดสีระหว่างกระดูกในขณะที่เคลื่อนไหว จึงช่วยป้องกันการสึกหรอของกระดูกและลดโอกาสเกิดการอักเสบในข้อต่อ
  • ช่วยกระตุ้นเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูกอ่อนให้มีจำนวนมากขึ้น จึงเป็นคอลลาเจนสำหรับบำรุงกระดูก
บทบาทของ Collagen type II ในโรคข้อเข่าเสื่อม

มีการศึกษาให้ Collagen type II 40 mg ต่อวัน เปรียบเทียบกับการให้ยาหลอกเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า Collagen type II ลดอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ โดยลดความเจ็บปวด ลดอาการข้อฝืดตึง และเพิ่มความสามารถในการใช้งานของข้อ อีกทั้งยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดีอีกด้วย และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงในการศึกษา จึงสรุปได้ว่า Collagen type II มีประสิทธิภาพดีในการบรรเทาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมและมีความปลอดภัยสูง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้
  1. ควรระมัดระวังในผู้ที่มีอาการแพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื่องจาก Collagen type II ในอาหารเสริมมักสกัดจากสัตว์ เช่น กระดูกอ่อนบริเวณหน้าอกของไก่ เป็นต้น
  2. การรับประทาน Collagen type II อาจพบอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้, ท้องผูก, ท้องเสีย, ปวดศีรษะ และผื่นแพ้บนผิวหนัง เป็นต้น
  3. ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน collagen type II เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการใช้ในประชากรกลุ่มนี้
เอกสารอ้างอิง
  1. Luo C, Su W, Song Y, Srivastava S. Efficacy and safety of native type II collagen in modulating knee osteoarthritis symptoms: a randomised, double-blind, placebo-controlled trial. J Exp Orthop [Internet]. 2022;9(1):123. Available from: http://dx.doi.org/10.1186/s40634-022-00559-8
  2. Wongkarnpat [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพมหานคร: วงการแพทย์; แนวทางการดูแลและส่งเสริมสุขภาพข้อเข่า. [เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567]. ที่มา: https://www.wongkarnpat.com/viewya.php?id=2487
  3. Phyathai [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพมหานคร: โรงพยาบาลพญาไท; เคล็ดลับ…เพิ่มความแข็งแรงให้ข้อเข่า ด้วย Bone And Joint. [เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567]. ที่มา: https://www.phyathai.com/th/article/2781-เคล็ดลับ___เพิ่มความแข็งแรงให้ข้อเข่า