จากกระแสในโลกโซเชียลที่ว่าด้วยการป่วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายของนายแพทย์หนุ่มท่านหนึ่ง ทั้งที่มีร่างกายแข็งแรงมาก ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี ทานอาหารสุขภาพเป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่เคยสูบบุหรี่ ที่สำคัญคือเขาไม่มีอาการแสดงเลย จนกระทั่งมารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่มะเร็งลุกลามไปทั่วทั้งพื้นที่ปอดข้างหนึ่งเสียแล้ว กรณีศึกษานี้ทำให้สังคมต้องกลับมาทบทวนถึงสาเหตุที่สำคัญ และความรุนแรงของโรคมะเร็งปอดกันอีกครั้ง
สถิติของโรคมะเร็งปอด
สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society : ACS) ประเมินว่าปี 2022 จะพบผู้ป่วยมะเร็งปอดมากขึ้น 236,740 คน และเสียชีวิต 130,180 คน โดยผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่ เป็นผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งปอดอยู่ที่ 70 ปี
สำหรับในประเทศไทยนั้น พบว่าโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง ซึ่งข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถิติสาธารณสุขปี 2562 พบว่าแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 คน หรือคิดเป็น 47 คนต่อวัน เป็นเพศชาย 10,766 คน และเพศหญิง 6,456 คน และพบผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอด ประมาณ 14,586 คน หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน แบ่งเป็นเพศชาย 9,361 คน และ เพศหญิง 5,225 คน
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอด
หลายๆคนคงพอจะทราบกันแล้วว่าตัวการที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปอดนั้นคือการสูบบุหรี่ เพราะถือเป็นการนำสารก่อมะเร็งเข้าสู่ปอดโดยตรง แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยก่อโรคต่างๆอีกมากที่เราไม่ควรมองข้าม ดังนี้
- บุหรี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอดโดยตรง ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่
- การสูดดมควันบุหรี่จากคนใกล้ตัว มลพิษทางอากาศ รวมถึงฝุ่นควัน โดยเฉพาะ PM 2.5 สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้ 1-1.4 เท่า
- การได้รับสารพิษ เช่น สารเรดอน (radon) ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง ไม่มีรส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ ของมนุษย์ สารนี้นับเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดในมนุษย์เป็นอันดับที่สอง รองจากสารต่างๆ ในบุหรี่
- การได้รับแร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส (asbestos) เป็นสารก่อมะเร็งที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งโทษและพิษภัยของแร่ใยหินนั้นก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด ไต และโรคมะเร็งที่มีชื่อว่า Mesothelioma สารนี้พบได้ในกระเบื้องมุงหลังคาแบบลูกฟูก ท่อระบายน้ำ กระเบื้องปูพื้น ฝ้าเพดาน ฝาผนัง ฉนวนกันความร้อน ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ และพลาสติกขึ้นรูปต่างๆ
- การได้รับสารพิษและโลหะหนัก เช่น สารหนู รังสี ไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
- อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบในคนอายุน้อยกว่านั้นได้
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้ไม่ได้สูบบุหรี่
สัญญาณเตือนของโรคมะเร็งปอด
มักจะมีอาการน่าสงสัย ดังนี้
- ไอเรื้อรัง
- ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด
- มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด
- เจ็บหน้าอก
- น้ำหนักลด
- เหนื่อยง่าย หรืออ่อนเพลียตลอดเวลา
- เบื่ออาหาร
- บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อบ่อย
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
ปัจจุบันการคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดแบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose helical computerized tomography) แต่เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง จึงมีคำแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ อย่างไรก็ตามการป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆตามที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนี้ลงได้
แนวทางการรักษามะเร็งปอด
สิ่งสำคัญของการรักษามะเร็งปอด คือ การพิจารณาตำแหน่ง ขนาด และระยะของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งมีการรักษาหลักๆดังนี้
- ผ่าตัด (Surgery) ใช้สำหรับการรักษามะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่มี การแพร่กระจาย ขนาดก้อนไม่ใหญ่เกินไป และไม่มีการยึดติดกับอวัยวะสำคัญต่างๆ การผ่าตัดเป็นทางเลือกที่พิจารณาเป็นลำดับแรกๆ เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้
- ฉายรังสี (Radiology) เป็นการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น จึงอาจใช้ไม่ได้ผลกับระยะมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ แต่อาจใช้เฉพาะจุดเพื่อควบคุมการลุกลาม โดยการฉายรังสีจะใช้เวลาไม่นานและไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น กลืนลำบาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีได้
- ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการให้ยาที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการฉีดหรือผสมสารละลายหยดเข้าไปทางหลอดเลือด ซึ่งตัวยาจะผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดและเข้าสู่เซลล์มะเร็งทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง
- ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นวิธีการรักษาที่เจาะจงต่อเซลล์มะเร็งโดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งโปรตีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ทำให้มีผลข้างเคียงน้อยและได้ผลดีในผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษา มักใช้เป็นการรักษาสำรอง เมื่อล้มเหลวจากการให้ยาเคมีบำบัด
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษาที่หวังผลเพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ เพิ่มการตรวจจับและการทำลายเซลล์มะเร็งมีประสิทธิภาพ
- การรักษาแบบผสมผสาน โดยทั่วไปการรักษามะเร็งจะใช้มากกว่าหนึ่งวิธีขึ้นไป ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาและผลข้างเคียงของแต่ละวิธี เพื่อให้ความร่วมมือในการรักษาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
อ้างอิง
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. (ม.ป.ป.). มะเร็งปอด. เรียกใช้เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.bumrungrad.com/th/conditions/lung-cancer
- โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์. (ม.ป.ป.). Original Content By SiPH. เรียกใช้เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565 จาก http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/621/Lungcancer
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). มะเร็งปอด…มะเร็งที่คนป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด. เรียกใช้เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.nci.go.th/th/images/image_index/infographic/November_L.jpg
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (10 พฤษจิกายน 2565). มะเร็งปอด ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม. เรียกใช้เมื่อ 22 พฤษจิกายน 2565 จาก https://www.thaihealth.or.th/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1-2/