Skip to content

จาก PCOS สู่สุขภาพดี: เรื่องราวที่คุณต้องรู้

PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) หรือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นภาวะผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายผู้หญิง ทำให้รังไข่มีถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนมาก และมีการผลิตฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ซึ่งส่งผลต่อรอบเดือน การตกไข่ และอาจทำให้มีปัญหาในการตั้งครรภ์ได้ พบได้ประมาณร้อยละ 5 – 10 ของหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุตั้งแต่ 18 ถึง 45 ปี

อาการของ PCOS ที่พบบ่อย

  • ภาวะมีบุตรยาก: เนื่องจากไข่ไม่ตกหรือมีการตกไข่ผิดปกติ
  • รอบเดือนผิดปกติ: ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มาขาดหาย หรือมามากผิดปกติ
  • มีขนดก: ขึ้นขนตามตัวและใบหน้ามากผิดปกติ เช่น บริเวณริมฝีปาก บั้นท้าย หรือหน้าอก
  • สิว: เกิดสิวอักเสบเรื้อรัง
  • ผมบางหรือศีรษะล้าน: ผมร่วงมากผิดปกติ
  • น้ำหนักเกินหรืออ้วน: มักพบร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน
  • มีถุงน้ำในรังไข่: พบได้จากการตรวจอัลตร้าซาวด์

สาเหตุของ PCOS

สาเหตุที่แน่ชัดของ PCOS ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น

  • พันธุกรรม: มีประวัติครอบครัวเป็น PCOS
  • ฮอร์โมน: ความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินและฮอร์โมนเพศชาย
  • การอักเสบระดับต่ำเรื้อรัง: ร่างกายมีการอักเสบเรื้อรังเล็กน้อย

การวินิจฉัย

ปัจจุบันภาวะ PCOS ใช้เกณฑ์วินิจฉัยตาม International Evidence-based Guideline for the assessment and management of polycystic ovary syndrome 2023 โดยการวินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็น PCOS ต้องมีลักษณะเข้าได้ตามเกณฑ์ 2 ใน 3 ข้อดังต่อไปนี้

  1. มีลักษณะทางคลินิกของภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจนมากกว่าปกติหรือตรวจพบระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนในเลือดสูงกว่าปกติ (clinical/biochemical hyperandrogenism)

2. มีความผิดปกติของการตกไข่ (ovulatory dysfunction)

3. การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงพบลักษณะ Polycystic ovaries หรือระดับฮอร์โมน anti-mullerian hormone (AMH) เพิ่มขึ้น

การรักษา

จะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยแพทย์อาจแนะนำให้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม: ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก เพื่อควบคุมให้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้ระดับอินซูลินในเลือดลดลง ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลลดระดับของแอนโดนได้ จึงสามารถลดภาวะขนดก ช่วยปรับรอบประจำเดือน เพิ่มโอกาสในการมีบุตร ช่วยลดความเสี่ยงของโรค metabolic syndrome และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
  • จัดการความเครียด: ความเครียดอาจส่งผลต่อฮอร์โมนและทำให้อาการ PCOS แย่ลง การฝึกผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ หรือโยคะ อาจช่วยได้
  • ใช้ยา: ยาคุมกำเนิด ยาลดความดันโลหิต ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • การผ่าตัด: ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
  • อาหารเสริม:
    • วิตามินดี: ช่วยปรับปรุงการทำงานของอินซูลิน ลดการอักเสบ และอาจช่วยลดระดับเทสโทสเตอโรน
    • โอเมก้า-3: ช่วยลดการอักเสบ ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และอาจช่วยปรับปรุงระดับไขมันในเลือด
    • อิโนซิทอล: มีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และอาจช่วยกระตุ้นการตกไข่
    • โปรไบโอติก: ช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและการทำงานของฮอร์โมน

เอกสารอ้างอิง

  1. Teede, H., Tay, C. T., Laven, J. S., Dokras, A., Moran, L. J., Piltonen, T., Costello, M., Boivin, J., Redman, L. M., Boyle, J., Norman, R. J., Mousa, A., & Joham, A. E. (2023). Recommendations from the 2023 international evidence-based guideline for the assessment and management of polycystic ovary syndrome. European Journal of Endocrinology, 189(2), G43–G64. https://doi.org/10.1093/ejendo/lvad096
  2. Sheehan, M. T. (2004). Polycystic ovarian Syndrome: Diagnosis and management. Clinical Medicine & Research, 2(1), 13–27.
  3. Kiani, A. K., Donato, K., Dhuli, K., Stuppia, L., & Bertelli, M. (2022). Dietary supplements for polycystic ovary syndrome. Journal of preventive medicine and hygiene, 63(2 Suppl 3), E206–E213. https://doi.org/10.15167/2421-4248/jpmh2022.63.2S3.2762