Skip to content

Oxymetazoline คืออะไร

อาการคัดจมูกเกิดจากการที่หลอดเลือดดำบริเวณโพรงจมูกขยายตัวมากขึ้นทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุบริเวณโพรงจมูกส่งผลให้เยื่อบุบริเวณโพรงจมูกบวมและอุดตัน ทำให้หายใจไม่สะดวก[1] Oxymetazoline เป็นยากลุ่ม 1𝜶-adrenergic receptor agonist ออกฤทธิ์หดหลอดเลือดที่บวมบริเวณโพรงจมูก ออกฤทธิ์ภายใน 5-10 นาที[2] ใช้เป็นยาบรรเทาอาการคัดจมูกชั่วคราว ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกิน 3-5 วัน เนื่องจากอาจเกิดการหดหลอดเลือดเป็นเวลานานส่งผลให้เลือดไปหล่อเลี้ยงที่บริเวณเยื่อบุโพรงจมูกน้อยลง และ ความตึงตัวของหลอดเลือด (vasomotor tone) เปลี่ยนแปลงไป เพิ่มการไหลเวียนของเลือดมายังบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก เกิดการคั่งและบวมส่งผลให้การกลับเป็นซ้ำของอาการคัดจมูกหรือคัดจมูกมากยิ่งขึ้น (rebound congestion)[3]

รอยแดงจากสิวเกิดจาก[4-7]

รอยแดงจากการอักเสบของสิว (Post-inflammatory erythema: PIE) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยหลังจากเกิดการอักเสบของสิว อาจจะจางลงได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่อย่างไรก็ตามรอยแดงที่ยังคงอยู่เป็นปัญหาในด้านความสวยงามซึ่งหายได้ยากและใช้เวลานาน ทำให้เกิดความทุกข์ใจและสภาพจิตใจที่แย่ลงได้ ซึ่งในบริเวณรอยแดงจากการอับเสบของสิวนั้นคือการเกิดเส้นเลือดใหม่บริเวณผิวหนังชั้นบน (Peripheral vasculature)  จากกระบวนการสมานแผลหลังการอักเสบของสิว ซึ่งถูกควบคุมด้วยระบบประสาทส่วนปลายชนิดซิมพาเทติก (Peripheral sympathetic innervation) ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ tranexamic acid ในการรักษารอยแดง มีกลไกการออกฤทธิ์คือกดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ(pro-inflammatory cytokines) ชนิด IL-6, TNF-𝜶 นอกจากนี้จะเป็นการใช้หัตถการเช่น การใช้คลื่นวิทยุผสมกับการรักษาด้วย microneedle (Microneedle RF) และ แสง LED vascular laser (wavelength 585-595 nm) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่แพงและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคือเม็ดสีเปลี่ยนแปลงได้

การใช้ Oxymetazoline ในการรักษารอยแดงจากสิว

Oxymetazoline เนื่องจากออกฤทธิ์จับกับตัวรับของระบบประสาทซิมพาเทติกชนิด 𝜶1 ได้ดี และ จับกับตัวรับชนิด 𝜶2 ได้บางส่วน ทำให้เป็นยาที่มีฤทธิหดหลอดเลือดได้ดี นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่ายาในกลุ่มหดหลอดเลือดชนิดจับกับตัวรับของระบบประสาทซิมพาเทติกชนิด 𝜶1 ยับยั้งการจับกินเชื้อของเม็ดเลือดขาว (Neutrophilic phagocytosis) และ ยับยั้งการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) และลดกระบวนการเกิดสารก่อให้เกิดการอักเสบได้ (proinflammatory cytokines)[8] จากการศึกษาของ Naglaa A. และคณะ ทดลองใช้ยาครีม Oxymetazoline 1.5% เตรียมจากยา Otrivin® (Oxymetazoline 0.05%) ผสมกับ liposomal cream base เปรียบเทียบกับ lipogel ที่ไม่ผสมตัวยา ทำการทดลองในอาสาสมัครที่มีรอยแดงเรื้อรัง 0-8 ปี โดยประมาณ โดยให้อาสาสมัครทาครีม Oxymetazoline ที่ใบหน้าด้านซ้าย และ ทา lipogel ที่ด้านขวา วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดรอยแดงของสิวได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จากทั้งการประเมินโดยผู้วิจัยและจากเครื่องวัด biophysic ของผิว[9]

Oxymetazoline ยังใช้ในโรค Rosacea ได้ด้วยนะ

ในปี ค.ศ. 2017 สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้อนุมัติยา Oxymetazoline hydrochloride 1% cream ภายใต้ชื้อการค้า RHOFADE® ในข้อบ่งใช้ในการรักษารอยแดงชนิดเรื้อรังที่เกิดจากโรค Rosacea ซึ่งเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง มีลักษณะเป็นผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง และร่างแหของหลอดเลือดฝอย บริเวณจมูก แก้ม คาง และหน้าผาก อาจมีอาการแสบคัน หน้าบวม ผิวหนังนูนหนา และอาจมีอาการตาแดง ตาแห้ง เคืองตาร่วมด้วย[11] ซึ่งหลายการศึกษาพบว่า Oxymetazoline cream สามารถลดรอยแดงได้หลังจากใช้ยาเป็นเวลา 1 เดือน เมื่อเทียบกับยาหลอก (cream base ที่ไม่มีตัวยา) แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเปรียบเทียบการใช้ยา Oxymetazoline เทียบกับการรักษาโรค Rosacea ด้วยยาชนิดอื่น[10]

ผลข้างเคียงและข้อควรระวังจากการใช้ยา Oxymetazoline ในการรักษารอยแดง

การใช้ยา Oxymetazoline อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ แสบคัน ปวด ผิวแดงมากขึ้นบริเวณที่ทาได้ชั่วคราว (พบได้ 1-3%) ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคความดันโลหิตสูงและต่ำ ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension) และโรคต่อหินมุมปิด  (Angle Closure Glaucoma) เนื่องจากอาจทำให้อาการของโรคแย่ลงได้ นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากข้อมูลด้านการศึกษาความปลอดภัยยังไม่เพียงพอ สำหรับการใช้ยาในผู้สูงอายุ มีการศึกษาในผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) จำนวน 193 คน ได้รับยา Oxymetazoline ในรูปแบบครีมเปรียบเทียบกับยาหลอกพบว่าไม่มีความแตกต่างกันกับผู้ที่มีอายุน้อยในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย[10]

รูปแบบของยา Oxymetazoline

ปัจจุบันมีการนำ Oxymetazoline มาใช้เป็นการใช้ยาแบบนอกข้อบ่งใช้ (off-label) ในการรักษารอยแดงมีการผลิตในรูปแบบครีมคือ RHOFADE® cream (Oxymetazoline HCl cream 1%) ซึ่งมีจำหน่ายเฉพาะต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยมีเฉพาะรูปแบบพ่นและหยดจมูกได้แก่ Oxymetazoline HCl Nasal spray 0.05% และ Oxymetazoline HCl Nasal drops 0.025 % เท่านั้น[2] อย่างไรก็ตามการยาแบบนอกข้อบ่งใช้นี้ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมและยังไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

Reference

  1. Naclerio RM, Bachert C, Baraniuk JN. Pathophysiology of nasal congestion. Int J Gen Med. 2010; 3:47-57.
  2. MIMS Online Thailand. Oxymetazoline [Internet]. Available from: https://www.mims.com/singapore/drug/info/ oxymetazoline?mtype=generic
  3. Wahid NWB, Shermetaro C. Rhinitis medicamentosa [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing [updated 2021 Sep 9; cited 2023 Mar 04]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/ NBK538318/
  4. Min S, Park SY, Yoon JY, Kwon HH, Suh DH. Fractional Micro needling Radiofrequency treatment for Acne-related Post-inflammatory Erythema. Acta Derm Venereol. 2016;96(1):87-91.
  5. Naglaa Agamia, Marwa Essawy & Amira Kassem (2022) Successful treatment of the face post acne erythema using a topically applied selective alpha 1-Adrenergic receptor agonist, oxymetazoline 1.5%, a controlled left to right face comparative trial, Journal of Dermatological Treatment, 33:2, 904-909
  6. Mathew ML, Karthik R, Mallikarjun M, Bhute S, Varghese A. Intense pulsed light therapy for acne-induced post-inflammatory erythema. Indian dermatology online journal. 2018 May;9(3):159.
  7. Erceg A, de Jong EM, van de Kerkhof PC, Seyger MM. The efficacy of pulsed dye laser treatment for inflammatory skin diseases: a systematic review. J Am Acad Dermatol 2013; 69: 609.e8–615.e8.
  8. Shanler SD, Ondo AL. Successful treatment of the erythema and flushing of rosacea using a topically applied selective α1-adrenergic receptor agonist, oxymetazoline. Archives of dermatology. 2007 Nov 1;143(11):1369-71.
  9. Agamia, N., Essawy, M., & Kassem, A. (2022). Successful treatment of the face post acne erythema using a topically applied selective alpha 1-Adrenergic receptor agonist, oxymetazoline 1.5%, a controlled left to right face comparative trial. The Journal of dermatological treatment, 33(2), 904–909.
  10. Rhofade® [package insert]. U.S.A: EPI Health; 2019.
  11. วรัญญา บุญชัย. โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea). คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล;  [updated 2022 Feb 07; cited 2023 Mar 05]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1497