Skip to content

เมื่อนึกถึงโรคยอดฮิตอันดับต้น ๆ ของไทยและทั่วโลก เชื่อว่าหนึ่งในนั้นต้องมีโรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นโรคหรือภาวะที่เป็นภัยเงียบเนื่องจากไม่มีอาการแสดงออกให้เห็นชัดเจน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวและมักจะปล่อยปะละเลย หากไม่ได้รับแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะนำไปสู่ภาวะอื่นที่มีความรุนแรงตามมาได้ อาทิเช่น โรคหลอดเลือดสมองที่จะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจโตซึ่งมีโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ หรือทำให้มีภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะซึ่งเป็นสัญญาณของโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น  

โดยปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงจะมีเรื่องของพันธุกรรมและพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น การทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง การสูบบุหรี่ ภาวะอ้วน ขาดการออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

หากใครเคยได้รับประทานยาลดความดันโลหิตก็จะทราบดีว่า แพทย์มักจะสั่งยาให้รับประทานหลังอาหารเช้า ด้วยเหตุผลหนึ่งคือเพื่อความสะดวกและป้องกันการหลงลืมทานยา แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรับประทานยาลดความดันโลหิตไม่จำเป็นต้องยึดติดกับมื้ออาหารเสมอไป 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในปี 2020 มีข้อมูลจากผลการศึกษาในประเทศสเปนพบว่าการรับประทานยาลดความดันโลหิตในช่วงเวลาก่อนนอน มีประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตได้ดีกว่าการรับประทานยาในเวลาเช้าหรือกลางวัน นอกจากนั้นยังสามารถลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้มากกว่าอีกด้วย

งานวิจัยดังกล่าวได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่รับประทานยาลดความดันอย่างน้อย 1 ชนิด จำนวน 19,084 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มเท่า ๆ กัน ให้กลุ่มหนึ่งรับประทานยาลดความดันในตอนเช้า อีกกลุ่มให้รับประทานในตอนกลางคืน จากนั้นติดตามผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ได้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงตอนกลางคืนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิตจากอาการเหล่านี้น้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาในตอนเช้า ตามทฤษฎีระบุว่ากลไกการทำงานของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับความดันโลหิตคือ Renin Angiotensin Aldosterone System (RAAS) จะมีทำงานสูงสุดขณะที่นอนหลับ จึงมีความเป็นไปได้ว่าการรับประทานยาก่อนนอนจะทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

หลาย ๆ ท่านที่อ่านมาจนถึงจุดนี้คงเกิดคำถามในใจว่า ‘รู้อย่างนี้แล้ว เราเปลี่ยนไปกินยาความดันตอนก่อนนอนกันดีกว่าไหม?’  … ต้องชี้แจงก่อนว่า อย่างไรก็ตามงานวิจัยดังกล่าวยังมีข้อจำกัดอยู่มาก และไม่อาจการันตีได้ว่าทุกคนจะได้ผลการรักษาเหมือนกับผู้ป่วยในงานวิจัยที่กล่าวมาในข้างต้น ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตและการเกิดโรคแทรกซ้อนที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้ทันทีก็คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ  นอกจากนี้ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งหากมีปัญหาหรือสงสัยเกี่ยวกับยาที่รับประทานอยู่ และแน่นอนว่าไม่ควรปรับเปลี่ยนวิธีการกินยาเอง เนื่องจากแพทย์อาจมีเหตุผลอื่นที่จำเป็นมากกว่า และแพทย์จะไม่สามารถประเมินผลการรักษาได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการรับประทานยาลดความดันโลหิตและยาโรคเรื้อรังอื่น ๆ ควรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรับประทานให้ตรงเวลาในทุก ๆ วันเพื่อรักษาระดับยาในเลือดให้มีมากเพียงพอที่จะออกฤทธิ์ครอบคลุม 24 ชั่วโมง และหมั่นตรวจติดตามระดับความดันโลหิตอยู่เสมอเพื่อให้เห็นแนวโน้มว่าสามารถควบคุมความดันให้เป็นปกติได้หรือไม่

อ้างอิง

  • Hermida RC, Crespo JJ, Dominguez-Sardina M, Otero A, Moya A, Rios MT, et al. Bedtime hypertension treatment improves cardiovascular risk reduction: the Hygia Chronotherapy Trial. Eur Heart J. 2020 Dec 21;41(48):4565-4576.