Skip to content

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นการเกิดโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก จึงพบได้บ่อย โดยโรคลมแดดนั้นจัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไปและไม่สามารถลดอุณหภูมิร่างกายลงได้ ร่วมกับร่างกายมีภาวะขาดน้ำ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เส้นเลือดส่วนปลายจะขยายตัวเพื่อระบายความร้อน เมื่ออยู่ในสภาวะที่อากาศร้อนเป็นเวลานานทำให้เลือดค้างอยู่ในหลอดเลือดส่วนปลาย เข้าสู่หัวใจได้น้อยลง ทำให้หัวใจพยายามบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง ความดันโลหิตต่ำ เมื่อเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญเช่น สมอง หัวใจ ไม่พอจะทำให้ระบบอวัยวะล้มเหลวส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

ผู้ที่มีความเสี่ยง

  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป
  • เด็กแรกเกิด หรือ อายุต่ำกว่า 4 ปี
  • ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือ คาเฟอีน เป็นประจำ
  • ผู้ที่ออกกำลังกาย หรือ ทำงานกลางแจ้งที่อยู่กลางแดด อากาศร้อนชื้นเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคหัวใจ ปอด ไต น้ำหนักเกิน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2
  • ผู้ที่ได้รับยาหรือสารเสพติดบางชนิดเช่น Amphetamine, Cocaine, ยาต้านเศร้ากลุ่ม Tricyclic antidepressants, ยาแก้แพ้, ยาลดน้ำหนัก, ยาขับปัสสาวะ, ยากันชัก, ยาความดันกลุ่ม Beta-blockers และ ยาหดหลอดเลือด (Vasoconstrictors) เป็นต้น

อาการ

อาการของโรคลมแดดอาจเกิดขึ้นทันทีหรือค่อยๆมีอาการได้ ซึ่งจัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์โดยอาการที่พบได้แก่

  • มีไข้สูง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป รู้สึกร้อนเมื่อสัมผัสที่ผิว
  • อาจมีเหงื่อออกมากหรือไม่มีก็ได้ โดยระยะแรกมักมีเหงื่อออกมาก แต่สุดท้ายจะเกิดภาวะไร้เหงื่อเนื่องจากการขาดสารน้ำและต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ
  • กล้ามเนื้อหดเกร็ง เป็นตะคริว
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • มีภาวะหายใจเร็ว
  • ทรงตัวไม่อยู่
  • มีภาวะสับสน
  • มึนงง ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง รู้สึกหิวน้ำ
  • ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะสีเข้ม
  • ระบบอวัยวะล้มเหลว
  • พบภาวะโคม่า และ เสียชีวิตได้

ในเด็กทารกหรือเด็กเล็กที่ระบบการควบคุมอุณหภูมิร่างกายยังทำงานไม่ดีอาจเกิดโรคลมแดดได้อย่างรวดเร็ว โดยอาการที่พบได้แก่

  • มีไข้สูงมากกว่า 39.4 องศาเซลเซียส
  • หมดสติ
  • มีความร้อนเกิดขึ้นที่ผิวหนัง หรือ เหงื่อออก
  • ผิวแดง
  • อัตราการเต้นของหัวใจสูง
  • หายใจสั้น
  • ภาวะเหนื่อยล้า หรือ เคลื่อนไหวได้ช้า
  • สับสน มึนงง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  • ย้ายผู้ป่วยเข้าภายในตัวอาคารหรือในที่ร่มที่มีอากาศเย็น อากาศถ่ายเทสะดวก
  • ติดต่อโรงพยาบาลหรือหน่วยงานฉุกเฉินต่างๆ
  • จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนราบ หนุนขาสูงเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองได้ดีขึ้น
  • หากผู้ป่วยมีสติให้ค่อยๆจิบน้ำเย็นเรื่อยๆ
  • คลายกระดุมเสื้อ หรือ ถอดเสื้อผ้าเพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น
  • ลดอุณหภูมิร่างกายโดยสเปรย์ละอองน้ำบนตัวผู้ป่วย
  • ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำหรือ น้ำแข็งประคบเย็นบริเวณรักแร้ ซอกคอและขาหนีบ

การป้องกันโรคลมแดด

วิธีปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลมแดดทำได้ดังนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน หรือ ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เมื่อออกกำลังกายกลางแจ้งนานกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด กิจกรรมกลางแจ้ง การออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานาน เมื่อมีการออกกำลังกายกลางแจ้งควรใช้ผ้าเย็นหรือน้ำแข็งประคบบริเวณคอจะช่วยระบายความร้อนได้ดีโดยไม่กระทบกับระบบฮอร์โมนในร่างกาย
  • เมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อสีดำ ใส่เสื้อสีอ่อน เสื้อที่มีความสามารถในการระบายอากาศได้ดี
  • ทาครีมกันแดดที่มี SPF 30+
  • อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก              
  • จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด

อาหารเสริมที่ช่วยให้ร่างกายทนความร้อนได้ดีขึ้น

เกลือแร่ (Electrolytes)

เมื่อร่างกายมีภาวะขาดน้ำ จะทำให้สมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้มีการขับเหงื่อ ระบายความร้อนออกไม่ได้ การเสริมเกลือแร่ผงชนิดสำหรับออกกำลังกาย หรือวิตามินเกลือแร่รวมชนิดเม็ดฟู่จะเป็นวิธีป้องกันการเกิดโรคลมแดดได้ดี หรือ เครื่องดื่มเกลือแร่ต่างๆก็ช่วยได้เช่นกัน แต่ควรเลือกที่มีปริมาณน้ำตาลไม่สูงมากในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

กรดโฟลิก (Folic acid)

มีการศึกษาการให้ กรดโฟลิก 5 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลา 6 เดือน ในผู้ใหญ่ และ ผู้สูงอายุ ที่ต้องสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน พบว่ากรดโฟลิกและสารเมทาบอไลต์ Methyltetrahydrofolate (5-MTHF) มีส่วนช่วยในการเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือดส่วนปลายขนาดเล็กทำให้เพิ่มการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตได้ดีขึ้น ส่งผลให้ร่างกายควบคุมอุณหภูมิได้ดีมากกว่าคนที่ไม่ได้รับประทานกรดโฟลิกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

แมกนีเซียม (Magnesium)

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเมแทบอลิซึ่มของเซลล์และการสังเคราะห์โปรตีน เอนไซม์ต่างๆ ทำให้ร่างกายมีพลังงาน และ เป็นสารสำคัญชนิดหนึ่งในกระบวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย มีการศึกษาพบว่าผู้ที่ขาดแมกนีเซียมเมื่อสัมผัสแดดเป็นเวลานานมีความเสี่ยงเกิดโรคลมแดดได้ โดยผู้ที่ขาดแม็กนีเซียมจะพบอาการไม่อยากอาหาร อ่อนแรง เหนื่อยง่าย คลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้นการเสริมแมกนีเซียมจะช่วยทำให้ระบบร่างกายควบคุมอุณหภูมิได้ดีขึ้น

โพแทสเซียม (Potassium)

ผู้ที่รับประทานยาขับปัสสาวะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคลมแดดได้มากกว่าคนปกติ การเสริมโพแทสเซียมในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลมแดด หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะได้

เอกสารอ้างอิง
  1. Anna E. Stanhewicz, Lacy M. Alexander, W. Larry Kenney; Folic acid supplementation improves microvascular function in older adults through nitric oxide-dependent mechanisms. Clin Sci (Lond) 1 July 2015; 129 (2): 159–167.
  2. Heatstroke: Symptoms, causes, first aid, recovery, and more [Internet]. Healthline. Healthline Media; [cited 2023 Apr 3]. Available from: https://www.healthline.com/health/heat-stroke#symptoms
  3. Robert S Helman MD. Heat stroke [Internet]. Practice Essentials, Pathophysiology, Etiology. Medscape; 2022 [cited 2023Apr3]. Available from: https://emedicine.medscape.com/article/166320-overview?reg=1&icd=login_success_email_match_norm
  4. Stendig-Lindberg G, Moran D, Shapiro Y. How significant is magnesium in thermoregulation? J Basic Clin Physiol Pharmacol. 1998;9(1):73-85.
  5. Sunderland C, Stevens R, Everson B, Tyler CJ. Neck-cooling improves repeated sprint performance in the heat. Front Physiol. 2015. 6:314.
  6. Nam YH, Bilker WB, Leonard CE, et alOutdoor temperature and survival benefit of empiric potassium in users of furosemide in US Medicaid enrollees: a cohort studyBMJ Open 2019;9:e023809.
  7. ภาวะฉุกเฉินจากความร้อน: Heatstroke [Internet]. ภาวะฉุกเฉินจากความร้อน: Heatstroke | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. [cited 2023Apr3]. Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/bulletin/bul98/v6n2/Heatstroke