Skip to content

ตาแห้งแก้ไม่หาย…สุดท้ายกลายเป็นภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน!

ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบัน ทั้งการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษ ฝุ่น pm2.5 การใช้ดวงตาไปกับจอโทรศัพท์มือถือ การทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ รวมไปถึงการใช้เครื่องสำอางแล้วทำความสะอาดบริเวณรอบดวงตาได้ไม่ดีพอ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลเสียกับดวงตาได้โดยไม่รู้ตัว

บ่อยครั้งที่เรามักมีอาการแสบตา ตาล้า ตาพร่ามัว ซึ่งมักเป็นอาการแสดงของภาวะตาแห้ง และถ้าหากเราพยายามที่จะพักสายตาก็แล้ว หยอดน้ำตาเทียมก็แล้ว แต่พบว่าอาการตาแห้งยังไม่หายไป นั่นอาจเป็นเพราะมีสาเหตุอื่นที่คุณนึกไม่ถึง อย่างเช่นต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน ทำให้ชั้นน้ำตาไม่คงตัว น้ำตาระเหยง่าย เกิดการระคายเคือง ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้ง และมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อที่เปลือกตาได้ ดังนั้นการสังเกตความผิดปกติของดวงตาและรู้เท่าทันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ

ต่อมไขมันที่เปลือกตา คืออะไร? 

ต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland) คือ ต่อมไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่บริเวณเปลือกตา โดยปกติบริเวณเปลือกตาบนจะมีต่อมไขมันนี้อยู่ประมาณ 30 – 40 ต่อม และเปลือกตาล่าง 20 – 30 ต่อม โดยจะมีรูเปิดของต่อมบริเวณขอบตา ซึ่งต่อมนี้มีหน้าที่ผลิตไขมันมาเคลือบที่ผิวดวงตา เป็นชั้นนอกสุดของน้ำตา โดยน้ำตาคนเรามีอยู่ 3 ชั้น คือ 

  1. ชั้นเมือก (Mucous Layer), 
  2. ชั้นน้ำ (Aqueous Layer) 
  3. ชั้นไขมัน (Lipid Layer) 

ซึ่งชั้นไขมันนี้ จะช่วยป้องกันการระเหยของน้ำตาและรักษาสมดุล ทำให้ตาของเรามีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ไม่ระคายเคืองตา

ภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน

โดยปกติไขมันที่สร้างจากต่อมไขมันที่เปลือกตาจะมีลักษณะสีเหลืองอ่อนค่อนข้างใส สามารถไหลออกจากต่อมโดยง่าย ถ้าต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian Gland Dysfunction) ไขมันที่สร้างออกมาจะมีลักษณะขุ่นและเหนียวข้น ทำให้เกิดการอุดตันบริเวณท่อทางออกของต่อมไขมันที่อยู่บริเวณขอบเปลือกตา ร่วมกันกับปัจจัยต่างๆข้างต้น ทั้งฝุ่นควัน สิ่งสกปรก และเครื่องสำอาง จึงยิ่งส่งเสริมให้เกิดการอุดตันมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ไขมันออกจากท่อได้ยากและลดลง ทำให้ชั้นของน้ำตาไม่คงตัว ขาดความเสถียร น้ำตาจะระเหยง่าย จนในที่สุดเกิดเป็นภาวะตาแห้งและส่วนของไขมันที่เหนียวข้นขึ้นนั้นจะแข็งเป็นคราบเกาะแน่นอยู่บริเวณขอบเปลือกตา ทำให้เกิดการระคายเคืองตา รวมทั้งเพิ่มโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรีย และการเพิ่มจำนวนไรที่ขนตา เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเปลือกตาอักเสบ หรือตากุ้งยิงได้ และหากทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ต่อมไขมันที่เปลือกตาฝ่อและตายไป ไม่สามารถผลิตน้ำมันออกมาได้อีก ส่งผลให้เกิดตาแห้งถาวรและเปลือกตาผิดรูปได้

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน

  • อายุ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
  • การแต่งหน้าบริเวณรอบดวงตา และการเช็ดทำความสะอาดเปลือกตาไม่สะอาดมากพอ
  • การใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ
  • การจ้องมองอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลานาน
  • โรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น เยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้ ตากุ้งยิง เปลือกตาอักเสบ เป็นต้น หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ทำให้ตาแห้ง เช่น ยารักษาสิว ยาจิตเวช

รักษาตาแห้งจากภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน

  1. ปรับพฤติกรรมการใช้งานสายตา เช่น พักสายตาเป็นระยะๆตามคำแนะนำใช้งาน 20 นาที พัก 20 วินาที และเตือนตัวเองให้กระพริบตาบ่อยขึ้น
  2. หยดน้ำตาเทียม เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
  3. ทำความสะอาดเปลือกตา และล้างเครื่องสำอางรอบดวงตาออกให้หมดจด
  4. ดูแลรักษาดวงตาเป็นประจำ (Lid Hygiene) ดังนี้

4.1 ประคบอุ่นบนเปลือกตา (Warm compresses) ช่วยให้ไขมันที่ข้นเหนียว หรือที่อุดตันท่อของต่อมไขมัน มีความเหลวเพิ่มขึ้น และสามารถขับออกมาจากต่อมได้ดีขึ้น โดยสามารถใช้เจลประคบร้อน หรือผ้าขุนหนูชุบน้ำอุ่นในการประคบที่บริเวณเปลือกตาทั้ง 2 ข้าง เป็นเวลา 10-15 นาที อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส

4.2 การทำความสะอาดเปลือกตา (Lid scrubs) การทำความสะอาดที่เหมาะสมเป็นการช่วยลดการอุดตันของต่อมสร้างน้ำตาและส่งผลให้ภาวะเปลือกตาอักเสบดีขึ้น รวมถึงช่วยชะลอไม่ให้เกิดภาวะตาแห้งมากกว่าเดิม โดยใช้สำลีชุบผลิตภัณฑ์เฉพาะที่ใช้ทำความสะอาดเปลือกตา หรือใช้ยาสระผมสำหรับเด็กอ่อนในอัตราส่วน 1:10เช็ดบริเวณขอบเปลือกตาและโคนขนตาให้สะอาด วันละ 1 – 2 ครั้ง หลังการประคบอุ่น

4.3 การรับประทาน Omega-3 Fatty Acids การเสริมโอเมก้า-3 ที่มักพบได้ใน Fish oil หรือ Flax seeds oil สามารถช่วยให้ต่อมไขมันใต้เปลือกตาผลิตน้ำมันได้ดีขึ้น ลดอาการตาแห้งได้

การดูแลเปลือกตาของเราอย่างถูกวิธี จะส่งผลให้ต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาทำงานได้ดี รวมไปถึงช่วยให้ดวงตาของเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงควรหมั่นดูแลสุขภาพตา และเข้ารับการตรวจตากับจักษุแพทย์เป็นประจำ เพื่อจะได้มีดวงตาที่สดใสอยู่คู่กับเราไปอีกนานแสนนาน

เอกสารอ้างอิง
  1. Care, W. F. (2019, Jun 25). Lid Hygiene, Meibomian Gland Dysfunction and Dry Eyes. Retrieved Apr 23, 2023, from https://wilmingtonfamilyeyecare.com/lid-hygiene-meibomian-gland-dysfunction-and-dry-eyes/#:~:text=Eyelid%20scrubs%20are%20commonly%20recommended,safely%20remove%20debris%2C%20including%20makeup.
  2. Ophthalmology, A. A. (2023, Mar 6). Meibomian Gland Dysfunction (MGD). Retrieved Apr 24, 2023, from https://eyewiki.aao.org/Meibomian_Gland_Dysfunction_(MGD)#:~:text=Although%20both%20oral%20azithromycin%20and,and%20shorter%20duration%20of%20treatment.
  3. Prasad Netralaya, E. C. (n.d.). Meibomian Gland Dysfunction: Causes & Treatment. Retrieved Apr 25, 2023, from https://prasadnetralaya.com/meibomian-gland-dysfunction/
  4. พญ. ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์ Bangkok Hospital. (ม.ป.ป.). ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน หนึ่งในตัวการโรคตาแห้ง. เรียกใช้เมื่อ 23 เมษายน 2023 จาก https://www.bangkokhospital.com/content/meibomian-gland-dysfunction