Skip to content

วิตามินเอ และ อนุพันธ์ของวิตามินเอ

ด้วยชื่อต่างๆ ที่คล้ายกัน จึงอาจก่อให้เกิดความสับสนขึ้นได้ ว่าสรุปแล้ว สารเหล่านี้คือตัวเดียวกันไหม สามารถใช้แทนกันได้หรือไม่ หลายๆ คนอาจจะยังคงไม่ทราบ และยังเข้าใจผิดในเรื่องนี้อยู่ บทความนี้จะอธิบายให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างสารต่างๆเหล่านี้ พร้อมทั้งแนะนำวิธีใช้อย่างถูกต้อง

Q : สารเหล่านี้คืออะไรกันนะ? ใช่สิ่งเดียวกันไหม?

จริงๆ แล้ว สารทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคือสิ่งเดียวกัน คือ วิตามินเอ และอนุพันธ์ของวิตามินเอ (vitamin A derivatives) ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า “Retinoid” 

Retinoid คือสารในกลุ่มเบต้าแคโรทีน (beta carotene) ซึ่ง รวมทั้งอนุพันธ์ของวิตามินเอที่สกัดจากธรรมชาติ และที่มาจากการสังเคราะห์ ได้แก่

  1. Retinyl esters เช่น retinyl propionate และ retinyl palmitate  
  2. Retinol (วิตามินเอ)
  3. Retinaldehyde
  4. Retinoic acid (กรดวิตามินเอ) หรือ Tretinoin เช่น Retin-A®, Renova®, Stieva-A®
  5. Retinoid กลุ่มสังเคราะห์
    • Adapalene เช่น Differin®
    • Tazarotene เช่น Tazorac® Zorac® Avage®

Retinoid ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเก่าที่อุดตันรูขุมขน โดยช่วยปรับโครงสร้างชั้นบนสุดของผิวหนังชั้น keratin (keratinization) ที่อยู่ใกล้รูขุมขน ช่วยลดการอุดตันของเคราตินในรูขุมขน จึงลดการเกิด comedone และลดสิวได้ และช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังแท้ เพื่อลดเลือนริ้วรอย ทำให้ผิวเนียนเรียบ มีสีสม่ำเสมอมากขึ้น สามารถรักษาสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีงานวิจัยด้านเสริม whitening agents ช่วยรักษาฝ้าได้ดีมากด้วย 

Q : แตกต่างกันอย่างไร?

สารในกลุ่ม Retinoid ข้างต้น สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามประเภทการขึ้นทะเบียนได้ดังต่อไปนี้

1. Retinoid ที่ถือเป็นเครื่องสำอาง

Retinoid ที่ถือเป็นเครื่องสำอาง ได้แก่ Retinyl esters, Retinol และ Retinaldehyde ซึ่งจัดเป็นสารตั้งต้นเท่านั้น คือ ตัวสารไม่มีฤทธิ์ใดๆ ต้องอาศัยเอนไซม์ในชั้นผิวเปลี่ยนให้เป็นกรดวิตามินเอก่อน แล้วจึงจะสามารถออกฤทธิ์ได้ โดยลำดับการเปลี่ยน คือ  

Retinyl esters Retinol Retinaldehyde Retinoic acid/ Tretinoin (active form)  

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ผลของการใช้สารตั้งต้นเหล่านี้ น้อยกว่าการใช้กรดวิตามินเอทาลงบนผิวโดยตรงทั้งในด้านประสิทธิภาพและการระคายเคือง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงอนุญาตให้ใช้สารเหล่านี้ในเครื่องสำอางได้

2. Retinoid ที่ถือเป็นยา

2.1 Retinoic acid (กรดวิตามินเอ) หรือ Tretinoin

Retinoic acid (กรดวิตามินเอ) และ Tretinoin คือ สารตัวเดียวกัน แค่เรียกต่างกัน Tretinoin เป็น active form ซึ่งหมายถึง สามารถออกฤทธิ์ได้ด้วยตัวเอง มีทั้งที่ผลิตในรูปแบบเจลและครีมใช้ในการรักษาสิวชนิดโคมีโดน (comedonal acne) สิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน และสิวอักเสบ เร่งการสร้างและผลัดเซลล์โดยเฉพาะที่ผนังรูขุมขนเพื่อกำจัดเซลล์ผิวที่ตาย รวมทั้งยับยั้งการหลั่งสารสื่ออักเสบเพื่อลดกระบวนการอักเสบที่ก่อให้เกิดสิว โดยมักถูกนำมาใช้ผสมในผลิตภัณฑ์รักษาสิว ผลิตภัณฑ์ลดรอยแผลเป็น และผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอย เช่น Retin-A®, Renova®, Stieva-A® โดย

  • ในความเข้มข้นสูง (0.1%): ใช้เพื่อรักษาสิว 
  • ในความเข้มข้นต่ำ (0.025, 0.05%): ใช้เพื่อรักษาผิวที่มีริ้วรอยหรือจุดด่างดำอันเป็นผลจากแสงแดด หรือ photodamage กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ช่วยลดรอยแตกลายของผิว (Stretch marks) 

Tretinoin สามารถก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ คือ ทำให้ผิวแห้ง และก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้อย่างรุนแรง ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจัดสารนี้เป็นยา และห้ามใช้ในเครื่องสำอาง

2.2 Adapalene

Adapalene หรือ Differin® ช่วยปรับเซลล์ผิวให้เจริญเติบโตอย่างสมดุล ลดอาการบวมและอักเสบที่ผิวหนัง ช่วยฟื้นฟูผิวหนังให้กลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง ใช้ในการรักษาสิวโดยช่วยลดจำนวนและความรุนแรงของสิว นอกจากนี้ อาจนำมาใช้รักษาอาการอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดย Adapalene พัฒนามาจาก Tretinoin ทำให้เกิดผลดีในเรื่องของการลดผลข้างเคียงลงเมื่อเทียบกับยา Tretinoin เดิม นอกจากนี้การที่ยาคงทนกว่าทำให้สามารถถูกแสงได้มากขึ้น จึงอาจมีการนำยามาทาตอนเช้าได้ด้วย ซึ่งความเข้มข้นที่มีจำหน่ายคือ 0.1%

2.3 Tazarotene

Tazarotene ซึ่งก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า Tretinoin และ Adapalene ใช้รักษาสิวและเรื้อนกวางเช่นกัน โดยมีจำหน่ายที่ความเข้มข้น 0.05 และ 0.1% ภายใต้ชื่อ Tazorac® และ Zorac® ส่วน Avage® ใช้รักษาผิวซึ่งถูกทำร้ายจากแสงแดด 

Q : ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย?

วิธีทายาที่ถูกต้อง

  1. ทำความสะอาดใบหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน 
  2. ซับหน้าให้แห้ง แล้วรอประมาณ 20-30 นาที 

(เนื่องจากผิวที่แห้งสนิทสามารถลดอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นจากยาทา Tretinoin ได้) 

  1. บีบยาประมาณครึ่งนิ้วหรือน้อยกว่าลงบริเวณปลายนิ้วและทายาให้ทั่วใบหน้า วันละ 1 ครั้งก่อนนอน หรือทำตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร 
  • ควรเริ่มใช้ที่ความเข้มข้นต่ำ และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเมื่อผิวคุ้นกับยามากขึ้น
  • ควรหลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบจมูก ปาก ตา และแผลเปิด 
  • กรณีลืมทายา สามารถเว้นการทาในครั้งนั้น แล้วทาในครั้งต่อไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาทาเป็นสองเท่า 
  • กรณีที่ต้องการทายา benzoyl peroxide เสริมในการรักษาสิว แนะนำให้ทายา benzoyl peroxide ในตอนเช้า และทายา Tretinoin หรือ Adapalene ก่อนนอน เพื่อป้องกันการระคายเคืองและผลข้างเคียงอื่นๆ
  • การรักษาด้วยยาทา Tretinoin จะเห็นผลประมาณ 6 สัปดาห์ ดังนั้นจึงควรใช้ยานี้ตามที่ได้รับคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง 
  • หลีกเลี่ยงครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี และกรดไกลโคลิกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการทาร่วมกับกรดซาลิซิลิก (salicylic acid) หรือแชมพูขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของซัลเฟอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้น

การจัดการอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทา

  1. ผิวแห้ง แสบ แดง คัน 🡪 ทาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันบนใบหน้าทุกเช้าหลังทำความสะอาดใบหน้า
  2. ผิวไวต่อแสงมากขึ้น 🡪 หลีกเลี่ยงแสงแดด รวมถึงหลอดไฟยูวีด้วย กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ทาครีมกันแดดหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถปกป้องแสงแดดได้
  3. อาการของสิวที่แย่ลง หลังใช้ยาอาการของสิวอาจแย่ลงในระหว่าง 7-10 วันแรก จากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายเองเมื่อทายาอย่างต่อเนื่อง 

Note: 

สิ่งที่ควรระวังมากที่สุดในการใช้สารในกลุ่มนี้ นอกเหนือไปจากการทำให้ผิวระคายเคือง คือก่อให้เกิด “teratogenic effect” นั่นคือทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ ห้ามใช้สารในกลุ่มนี้ (Retinoids) 

Reference

  • กานต์กวิน เกตภาพ, รสิตา ลีลาวรรณเขต. ยาทารักษาสิว tretinoin ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย. 2564. ใน: คลังข้อมูลยา [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ ม. มหิดล; c2013-2020 – [เข้าถึงเมื่อ 25 ส.ค. 2565]. [ประมาณ 6 น.]. เข้าถึงได้จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=45
  • PobPad [อินเทอร์เน็ต]. บุรีรัมย์: ฟาร์มาบิวตี้แคร์ สกินแคร์โดยเภสัชกร; c2015. retin A และ Retinol; [ม.ป.ป.] [เข้าถึงเมื่อ 25 ส.ค. 2565]; [ประมาณ 5 น.]. เข้าถึงได้จาก
  1. นวียา โรจนผาติวงศ์. Adapalene (อะดาพาลีน). [ม.ป.ป.]. ใน: PobPad [อินเทอร์เน็ต]. เกศริน รัตนพรรณทอง.  [ม.ป.ท.]: บริษัท ราเนลาจ จำกัด; c2022 – [เข้าถึงเมื่อ 25 ส.ค. 2565]. [ประมาณ 5 น.]. เข้าถึงได้จาก https://www.pobpad.com/adapalene-%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%99
  2. กุสาวดี เมลืองนนท์, ภญ. ดร. ยารักษาสิว. [อินเทอร์เน็ต]. [ม.ป.ป.] [เข้าถึงเมื่อ 25 ส.ค. 2565]. เข้าถึงได้จาก https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/acne57.pdf