Skip to content

หน้าร้อนปีนี้ อุณหภูมิพุ่งสูงปรอทแตก หลายคนคงต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว แต่รู้หรือไม่ว่าภัยร้ายจากความร้อนแฝงตัวอยู่ใกล้ๆ “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต!

โรคลมแดด หรือภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (Heatstroke) เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนอุณหภูมิภายในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน หรือบริเวณที่มีความชื้นสูง ซึ่งส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท หัวใจ และไต

โรคลมแดด หรือภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (Heatstroke) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้

1. โรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลังกาย (Exertional Heatstroke)

มักพบในนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายหนักในอากาศร้อนจัด สาเหตุหลักมาจากร่างกายสูญเสียเหงื่อและเกลือแร่ ทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน

2. โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการออกกำลังกาย (Non-exertional or classic heatstroke)

มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก และผู้ที่อยู่ในสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน สาเหตุหลักมาจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่อสภาพอากาศร้อนจัดได้ทัน

จากประเภทของโรคลมแดด จะเห็นว่าทั้งนักกีฬาที่แข็งแรง ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ก็สามารถ มีโอกาสเกิดโรคลมแดดได้เสมอ ดังนั้นการเฝ้าระวังจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

สังเกตตนเองและคนรอบข้างหากมีอาการ ดังนี้

  1. ความรู้สติลดลง มีความสับสน กระวนกระวาย เพ้อ
  2. ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง
  3. ผิวหนังแห้งแดงร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส
  4. เหงื่อออกมากผิดปกติหรือไม่มีเหงื่อเลย
  5. กล้ามเนื้อหดเกร็ง ชัก
  6. เป็นลมหมดสติ

หากมีการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน ควรสังเกตตนเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ หากมีอาการดังกล่าว คือปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือโทรแจ้งสายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน

…แล้วหากพบผู้เป็นโรคลมแดด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร ?…

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  1. แจ้งสายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน
  2. พาผู้ป่วยเข้าสู่พื้นที่ร่ม หรือพื้นที่ที่มีอากาศเย็น
  3. หากผู้ป่วยใส่ชุดหนา รัดแน่น ให้ถอดหรือคลายเครื่องแต่งกายออก
  4. ระบายความร้อนในร่างกายผู้ป่วยด้วยความเย็น เช่น ผ้าชุบน้ำ ถุงน้ำแข็ง โดยประคบหรือวางบริเวณ หน้าผากและข้อพับต่างๆ เช่น คอ รักแร้และขาหนีบ หรือใช้น้ำสเปรย์หรือราดตัวผู้ป่วยได้เลย

การป้องกันและหลีกเลี่ยงโรคลมแดด

  1. การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน
  2. การสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ไม่หนา ไม่รัดแน่น โปร่งโล่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี
  3. การทาครีมกันแดดอยู่เสมอ
  4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งที่มีอากาศร้อน หรือบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้ไม่สะดวก