Skip to content

โรคพาร์กินสันเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ โดยอัตราการเกิดโรคแปรผันตรงกับอายุที่มากขึ้น ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะมีผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันถึง 1% โดยในช่วงเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2533 จนถึง 2559 พบว่ามีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านคน เป็น 6.1 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุ

โรคพาร์กินสันเกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่สร้างสารสื่อประสาทโดพามีน จนนำไปสู่ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยจะเริ่มเคลื่อนไหวช้าลง มีการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อขณะเดิน เสียการทรงตัว มีอาการสั่น มีความผิดปกติของการแสดงทางใบหน้า กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น

จากข้อมูลการศึกษาพบว่าโปรตีน B-cell lymphoma 2 สัมพันธ์กับโรคพาร์กินสัน โดยพบว่าหากโปรตีนชนิดนี้ลดลงจะส่งผลให้การสร้างสารโดพามีนในสมองลดลงด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าการจับตัวเป็นก้อนของโปรตีน alpha-synuclein หรือที่เรียกกันว่า Lewy body ในสมองก็ทำให้เกิดโรคพาร์กินสันเช่นกัน

สำหรับสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคพาร์กินสันยังไม่เป็นที่รู้แน่ชัด โรคพาร์กินสันอาจเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น พันธุกรรม หรือปัจจัยภายนอก เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต การได้รับอุบัติเหตุทางศีรษะ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน การได้รับสารบางอย่างเข้าสู่ร่างกาย เช่น ยาฆ่าแมลง หรือสารโลหะหนัก เป็นต้น

มีการศึกษาพบว่าความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดโรคพาร์กินสัน เมื่อจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเกิดความไม่สมดุลจะทำให้เกิดสร้างสารบางอย่างที่นำไปสู่การเกิดโรคลำไส้อักเสบ แต่เนื่องจากทางเดินอาหารและสมองมีการเชื่อมโยงสื่อสารกัน (ผ่านเส้นประสาท Vagus nerve) จึงส่งผลให้เซลล์สมองเกิดการอักเสบและระบบประสาทถูกทำลายอย่างช้าๆ  ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารจึงเป็นเหมือนกุญแจที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคพาร์กินสัน ดังนั้นการที่มีความสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารอาจช่วยชะลอสภาวะโรคหรือแม้กระทั่งอาจนำไปใช้ในการรักษาต่อไป

ทำความรู้จักกับ Microbiome

ไมโครไบโอม (Microbiome) เป็นการเรียกแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัสที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ไมโครไบโอมเหล่านี้จะมีสัดส่วนที่แปรเปลี่ยนไปตลอดชีวิตของเรา อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น อายุ อาหารที่รับประทาน การออกกำลังกาย รวมถึงการใช้ยา ซึ่งจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะร่วมกันแบบภาวะอิงอาศัย (Symbiotic ecosystem) มีความเกี่ยวข้องกับเยื่อบุผิวทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างทางเดินอาหารกับสมอง 

จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ช่วยส่งเสริมให้เยื่อกั้นระหว่างหลอดเลือดและสมอง (Blood-brain barrier) มีความเเข็งแรง และจุลินทรีย์เหล่านี้จะสร้างสาร Short chain fatty acids (SCFAs) เช่น acetate, propionate และ butyrate เป็นต้น  สารที่สร้างจากจุลินทรีย์ที่ดีเหล่านี้เป็นแหล่งพลังงานให้กับเซลล์ในทางเดินอาหาร ช่วยให้เซลล์ในทางเดินอาหารมีความแข็งแรงและยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อต้านกระบวนการอักเสบ ยังมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเกิดลำไส้อักเสบ

การเกิดโรคบางอย่าง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคลำไส้อักเสบ โรคออทิสติก โรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ชนิดของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะโรคที่เป็น เช่น พบว่าในคนที่เป็นโรคพาร์กินสันจะมีแบคทีเรียสกุล Akkermansia เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์กับโรคพาร์กินสัน

ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารอาจส่งผลให้จุลินทรีย์ตัวร้ายเพิ่มจำนวนขึ้นซึ่งเจ้าจุลินทรีย์ตัวร้ายเหล่านี้จะสร้างสาร endotoxin ทำให้เกิดความผิดปกติของผนังทางเดินอาหาร และการเกิดกระบวนการอักเสบ จนนำไปสู่การทำลายเยื่อบุของทางเดินอาหาร นอกจากนี้สารที่ก่อให้เกิดการอักเสบในทางเดินอาหารเหล่านี้อาจไหลเวียนเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่สมองได้และทำให้เกิดการทำลายสมองในที่สุด 

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน a-synuclein ทั้งในสมองและในทางเดินอาหาร ซึ่งการสะสมหรือการเกาะกลุ่มกันของ a-synuclein ในสมองเป็นสาเหตุให้เกิดโรคพาร์กินสัน นอกจากนี้สาร lipopolysaccharide ที่เยื่อหุ้มเซลล์ของจุลินทรีย์ตัวร้ายบางกลุ่มก็สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเกาะกลุ่มของโปรตีน a-synuclein ได้เช่นกัน จึงเป็นที่มาว่าจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคพาร์กินสันได้อย่างไรนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง
  1. Xiromerisiou G., Marogianni C., Androutsopoulou A., Ntavaroukas P., Mysiris D., and Papoutsopoulou S. Parkinson’s Disease, It Takes Guts: The Correlation between Intestinal Microbiome and Cytokine Network with Neurodegeneration. Biology 2023:12(93);1-13.
  2. Klann EM., Dissanayake U., Gurrala A., Farrer M., Wagle A., Adolfo S. et al. The Gut–Brain Axis and Its Relation to Parkinson’s Disease: A Review. Front. Aging Neurosci 2022:13. Doi: 10.3389/fnagi.2021.782082.
  3. ศ.นพ. รุ่งโรจน์ พิทยศิริ. โรคพาร์กินสัน. Available at: https://www.medparkhospital.com/