Skip to content

สื่อออนไลน์มีการแนะนำการรับประทาน N-acetylcysteine เม็ดฟู่ทุกวัน เพื่อหวังผลทำให้ขาวขึ้น ซึ่งการรับประทานยาโดยไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคหรือคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร อาจนำไปสู่การทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมได้ วันนี้จะมาแนะนำและทำความรู้จัก Acetylcysteine

Acetylcysteine หรือ N-acetylcysteine มีข้อบ่งใช้คือ เป็นยาแก้พิษจากการรับประทานยา paracetamol เกินขนาด และ เป็นยาละลายเสมหะ (mucolytic agent)(1) ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา และรับได้จากโรงพยาบาล โดยมีขนาด 100, 200 และ 600 mg ที่มีรูปแบบผงชง และรูปแบบเม็ดฟู่ขนาด 600 mg โดยมีชื่อการค้า เช่น Naclong, Fluimucil, Mega muclear หรือ mysoven เป็นต้น N-acetylcysteine มีขนาดยาที่ไม่ควรได้เกินในหนึ่งวันคือ 2400 mg/วัน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก เป็นต้น ผลข้างเคียงเมื่อใช้ระยะยาวตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ปี มีผลข้างเคียงในระดับที่ไม่รุนแรงคือ การคลื่นไส้ (2)

N-acetylcysteine มีกลไกในการเพิ่มปริมาณ glutathione ในร่างกาย โดย ซึ่งกลไกนี้สามารถกระตุ้นการผลิตเม็ดสี pheomelanin (เม็ดสีเหลืองแดง) มากกว่าเม็ดสี eumelanin (เม็ดสีน้ำตาลดำ) และพบว่า N-acetylcysteine สามารถขัดขวางการสร้างเม็ดสีเมลานิน โดยการเชื่อมโยงกับ copper เพื่อยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดสีเมลานิน ด้วยสารประกอบเชิงซ้อนของตัวเอง การทำงานของ N-acetylcysteine ในทั้งสองกลไกนี้อาจส่งผลทำให้ผู้ใช้มีผิวขาวสว่างขึ้นได้ (3)(4)

จากการศึกษาอาสาสมัครประชากรผู้หญิงไทย จำนวน 40 คน โดยให้อาสาสมัคร 20 คนรับประทาน N-acetylcysteine 900 mg วันละ 2 ครั้ง และ 20 คนได้รับยาหลอก เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ศึกษาผลของ N-acetylcysteine ต่อการทำให้ผิวขาว พบว่า mean melanin index ของทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน และพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา 1 ราย เกิดการคลื่นไส้ ที่อาการไม่รุนแรงและหายไปเอง สรุปได้ว่า N-acetylcysteine มีกลไกในการขัดขวางการผลิตเม็ดสีเมลานิน แต่การศึกษาในมนุษย์พบเพียง 1 การศึกษาที่ไม่แสดงประสิทธิภาพ จึงไม่มีหลักฐานในการสนับสนุนการใช้ยา N-acetylcysteine เพื่อผลการทำให้ผิวขาวขึ้น (5)

ทั้งนี้การใช้ยาหรืออาหารเสริมทุกชนิด ควรอยู่ภายใต้การให้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดและความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง
  1. Acetylcysteine. In: Lexi-Drugs Multinational online [database on the internet]. Hudson (OH):Lexicomp, Inc.; 22 Nov. 2022; [cited 23 Nov. 2021]. Available from: https://online.lexi.com.
  2. Calverley P, Rogliani P, Papi A. Safety of N-Acetylcysteine at High Doses in Chronic Respiratory Diseases: A Review. Drug Saf. 2021 Mar.;44(3):273-90.
  3. Sonthalia S, Daulatabad D, Sarkar R. Glutathione as a skin whitening agent: Facts, myths, evidence and controversies. Indian J. Dermatol Venereol Leprol. 2016 May.-Jun.;82(3):262-72.
  4. Pedre, B. et al. (2021) ‘The mechanism of action of N-acetylcysteine (NAC): The emerging role of H2S and sulfane sulfur species’, Pharmacology & Therapeutics, 228, p. 107916. doi:10.1016/j.pharmthera. 2021.107916.
  5. นายแพทย์เนติวุธ คณาคร. การศึกษาผลของการรับประทาน เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีนที่ทำให้ผิวขาว. วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2565]. เข้าถึงได้จาก: http://libdoc.dpu.ac.th/thesis/Netiwut.Kan.pdf.