Skip to content

เป็นที่ทราบดีว่าโพรไบโอติกส์มีประโยชน์หลายด้าน เช่น ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้  ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน ลดโคเลสเตอรอล และอื่น ๆ นอกจากนี้สารที่สร้างโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ เช่น  bacteriocins, lactic acid และ hydrogen peroxide หรือที่เรารู้จักในชื่อของ postbiotics ยังมีคุณสมบัติในการต้านทานจุลินทรีย์ก่อโรค พบว่าโพรไบโอติกส์ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2014 ที่อเมริกามียอดขายโพรไบโอติกส์ 1.1 พันล้าน US dollars และมียอดขายทั่วโลกถึง 25 พันล้าน US dollar

โพรไบโอติกส์ คืออะไร

โพรไบโอติกส์คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ไม่ก่อโรค ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของมนุษย์ มีการนำโพรไบโอติกส์มาใช้ในการรักษาทั้งโรคทางเดินอาหารและโรคอื่น ๆ เช่น ท้องเสียเฉียบพลัน โรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ Atopic eczema ซึ่งปริมาณและชนิดของโพรไบโอติกส์ที่ใช้ในการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละโรค 

โพรไบโอติกส์ออกฤทธิ์ในร่างกายอย่างไร

โพรไบโอติกส์ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้ด้วยกลไกใดนั้น ยังไม่รู้แน่ชัด ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากหลายกลไกร่วมกัน คือ เมื่อรับประทานโพรไบโอติกส์เข้าไป จุลินทรีย์จะผ่านกระเพาะอาหาร และจับที่เยื่อเมือกของทางเดินอาหารป้องกันไม่ให้เชื้ออื่น ๆ ที่เป็นเชื้อก่อโรคมาจับที่เยื่อบุทางเดินอาหารได้ จุลินทรีย์บางชนิด เช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium จะสร้าง lactic acid, acetic acid และ propionic acid ซึ่งสารเหล่านี้จะช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรค นอกจากนี้โพรไบโอติกส์ยังช่วยปรับสมดุลของภูมิต้านทานได้อีกด้วย

จุลินทรีย์แต่ละชนิดให้ประโยชน์ในเรื่องใดบ้าง

Lactobacillus acidophilus และ Bifidobacterium infantis

  • ประโยชน์: ช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อ Salmonella typhimurium, Clostridium perfringens และ Aeromonas hydrophila
  • กลไลการออกฤทธิ์: สร้างสาร bacteriocins และสารอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติยั้บยั้งการเจริญของเชื้ออื่น ๆ 

L. casei, L. acidophilus และ B. bifidum

  • ประโยชน์: เสริมสร้างภูมิต้านทาน
  • กลไกการออกฤทธิ์: เสริมสร้างการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด phagocyte, NK cell และช่วยส่งเสริมการสร้างแอนติบอดีและสาน Cytokine

L. acidophilus, S. thermophilus, B. longum, L. rhamnosus GG และ B. bifidum

  • ประโยชน์: ช่วยป้องกันการเกิดอาการท้องเสีย ช่วยยับยั้งเชื้อ Escherichia coli, Salmonella, Shigella, Clostridium difficile และ Rotavirus ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุของการเกิดท้องเสีย
  • กลไกการออกฤทธิ์: สร้างสารที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อก่อโรค เช่น bacteriocins, hydrogen peroxide, carbon dioxide และ diacetyl

B. longum, L. casei Shirota, L. acidophilus, Bifidobacterium spp. และ L. rhamnosus GG

  • ประโยชน์: ช่วยป้องกันการเจริญของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง
  • กลไกการออกฤทธิ์: ยับยั้งจุลินทรีย์ที่เปลี่ยนสาร procarcinogen ไปเป็นสาร carcinogen (สารก่อมะเร็ง) 

L. acidophilus

  • ประโยชน์: ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล
  • กลไกการออกฤทธิ์: ช่วยยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลและช่วยให้น้ำดีแตกตัว

L. acidophilus, B. angulatum, B. breve, B. bifidum, B. longum

  • ประโยชน์: ช่วยเกี่ยวกับอาการ  Lactose intolerance
  • กลไกการออกฤทธิ์: ช่วยสร้าง Beta-D-galactodidase ซึ่งช่วยในการย่อยน้ำตาลแลคโตส

L. acidophilus, Bifidobacterium spp.

  • ประโยชน์:  ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • กลไกการออกฤทธิ์: ช่วยยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori โดยการสร้างกรดแลคติก และสาร bacteriocins

L. rhamnosus GG

  • ประโยชน์: ช่วยบรรเทาอาการลำไส้อักเสบและช่วยลดความรุนแรงจากปฏิกิริยาการแพ้อาหารโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
  • กลไกการออกฤทธิ์: ช่วยย่อยโปรตีนเคซีนให้เป็นเปบไทด์สายสั้นๆ และกรดอะมิโน ช่วยเพิ่มการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocytes

กินโพรไบโอติกส์อย่างไรให้เกิดประโยชน์

  1. รับประทานในช่วงท้องว่าง เช่น ก่อนอาหารหรือระหว่างมื้ออาหาร เนื่องจากจุลินทรีย์โดยส่วนใหญ่ถูกทำลายโดยน้ำย่อยในทางเดินอาหาร
  2. เลือกจุลินทรีย์ให้ถูกชนิด เช่น  Lactobacillus ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย
  3. ปริมาณจุลินทรีย์ไม่ควรต่ำว่า 1,000 ล้าน CFU แต่การรับประทานโพรไบโอติกส์ในปริมาณมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้
  4. หลีกเลี่ยงการทานพร้อมกับน้ำร้อน เพราะจุลินทรีย์อาจถูกความร้อนทำลายได้
  5. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน มีบรรจุภัณฑ์ที่ดี มี อย.
อ้างอิง
  1. Yadav MK, Kumari I, Singh B, Sharma KK and Tiwari SK. Probiotics, prebiotics and synbiotics: Safe options for next-generation therapeutics. Applied Microbiology and Biotechnology (2022) 106:505–521.
  2. Wieërs G, Belkhir L,Enaud R, Leclercq S and Philippart SR. How probiotics affect the microbiota. Front. Cell. Infect. Microbiol., (2019). Doi: 10.3389/fcimb.2019.00454.
  3. Kim AK, Guevarra RB, Kim YT, Kwon J, Kim H, et al.  Role of Probiotics in Human Gut Microbiome-Associated Diseases. Microorganism for functional foods. 
  4. Wane D. Clinical uses of probiotics. (2016) 95(5):e2658. doi: 10.1097/MD.0000000000002658
  5. โรงพยาบาลสมิติเวช. บทความเพื่อสุขภาพ ‘โพรไบโอติกส์’ เสริมภูมิคุ้มกัน แนะนำอาหารโพรไบโอติกสูงที่ควรทาน Avaiable at: https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/probiotics
  6. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ ต่างกันอย่างไร? Available at: https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/july-2019/probiotics-and-prebiotics