Skip to content

PM 2.5 คืออะไร ?

PM 2.5 ชื่อเต็มคือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน

PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้ ไม่ว่าจะมาจากธรรมชาติ เช่น ไฟป่า หรือมาจากฝีมือมนุษย์ เช่น การเผาขยะ การเผาไหม้เชื้อเพลิง การก่อสร้างต่างๆ ล้วนก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ขึ้นได้

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปัจจุบัน

ปัจจุบันฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการคาดการของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจัยสภาพทางอุตุนิยมวิทยาที่ความกดอากาศสูงจะแผ่ปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศปิด ลมสงบ ฝุ่นละอองยังคงนิ่งและสะสมในพื้นที่จนเกินมาตรฐาน รวมถึงสถานการณ์เอลนีโญจากปลายฤดูฝนของปี 2566 จะส่งผลต่อเนื่องให้อุณหภูมิมีแนวโน้มจะสูงขึ้น ทำให้อากาศร้อนและแล้ง นอกจากนี้ปริมาณฝนของประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าปกติ จากปัจจัยที่กล่าวมากจะส่งผลให้ PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในต้นปี 2567

PM 2.5 ส่งผลต่อค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI)

ดัชนีคุณภาพอากาศเป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในภาพรวม ซึ่ง PM 2.5 เป็นหนึ่งในเกณฑ์การวัดดัชนีคุณ โดยนอกจาก PM 2.5 ยังมีเกณฑ์อื่นที่ใช้ในการวัด AQI คือ 1. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) 2. ก๊าซโอโซน (O3) 3. ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) 4. ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) 5. ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ดังนั้น ดัชนีคุณภาพอากาศจะเพิ่มขึ้นหากค่า PM 2.5 สูงขึ้น

ดัชนีคุณภาพอากาศมีผลกับสุขภาพอย่างไร ?

ค่าดัชนี AQI ที่สูงขึ้นจะมีผลกับสุขภาพโดยตรง โดยประเทศไทยกำหนดให้ AQI ต่ำกว่า 50 ถือว่าเป็นค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่ไม่กระทบต่อสุขภาพ โดยหาก AQI อยู่ในช่วง 51-100 จะมีผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และจะกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจได้หากผู้ป่วยอยู่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน หาก AQI อยู่ในช่วง 101 ถึง 150 ผู้ป่วยทางเดินหายใจควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และ AQI มากกว่า 151 ขึ้นไปทั้งผู้ป่วยและผู้ที่สุขภาพดีควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง

นอกจากนี้ค่า PM 2.5 ยังถูกกำหนดมาตรฐานเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 โดยให้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม.

ทำไม PM 2.5 จึงเป็นฝุ่นร้ายทำลายสุขภาพ ?

จากการศึกษาความสัมพันธ์ของฝุ่น PM 2.5 กับโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัส พบว่า PM 2.5 มีอิทธิพลให้การระบาดของโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก PM 2.5 ทำหน้าที่เป็นแกนให้ละอองไวรัสควบแน่นหรือยึดเกาะไว้บนผิว คล้ายตัวช่วยของพาหะนำพาไวรัสแต่ไม่ใช่พาหะโดยตรงของไวรัส นอกจากนี้ PM 2.5 ยังสามารถผ่านการกรองของจมูกและผ่านไปสู่ปอดได้เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองอักเสบได้ง่าย และยังมีผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอด้วยเช่นกัน โดยพบว่าผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ที่มี PM 2.5 สูง จะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าและรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีการกำเริบของโรคสัมพันธ์กับค่า PM 2.5 ที่สูงขึ้น โดย PM 2.5 ที่สูงขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ทั้งทางระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงอาการอักเสบบริเวณผิวหนัง และยังส่งผลต่อการกำเริบของผู้ป่วยหอบหืดด้วยเช่นกัน

การป้องกันและการปฏิบัติตัวในพื้นที่ PM 2.5 เกินมาตรฐาน

  1. การใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ป้องกัน PM 2.5 ได้ รวมไปถึงหน้าการ N95 N99 โดยความสวมใส่ในพื้นกลางแจ้งที่มีค่า PM 2.5 เกินกว่ามาตรฐาน
  2. การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในอาคาร โดยเลือกเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5
  3. การออกกำลังกายเป็นประจำและการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายและภูมิคุ้มกันแข็งแรงอยู่เสมอ
  4. งดการสูบบุหรี่
  5. รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
เอกสารอ้างอิง
  1. Domingo, J.L., Marques, M. and Rovira, J. 2020. Influence of airborne transmission of SARS-CoV-2 on COVID-19 pandemic. Environmental Research. 188; 109861.
  2. Fattorini, D. and Regoli, F. 2020. Role of the chronic air pollution levels in the Covid-19 outbreak risk in Italy. Environmental Pollution. 114732.
  3. Feng, C., Li, J., Sun, W., Zhang, Y. and Wang, Q. 2016. Impact of ambient fine particulate matter (PM2.5) exposure on the risk of influenza-like-illness: a time-series analysis in Beijing, China. Environmental Health. 15(1); 17.