Skip to content

ในปัจจุบันวิถีชีวิตคนยุคใหม่ต้องต่อสู้กับสภาวะเศรษฐกิจและความกดดันมากมายทั้งจากการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคม ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมา โดยความเครียดเป็นภาวะของความรู้สึก ความคิด หรืออารมณ์ที่เกิดจากการบีบคั้นกดดัน เมื่อมีภาวะความเครียดสะสมเป็นเวลานาน นอกจากจะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลงแล้ว ภาวะความเครียดที่สะสมเป็นระยะยาวอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ส่งผลให้มีอาการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และความคิด ทำให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างมาก

เทคนิคการลดความเครียดมีมากมายหลากหลายทางเลือก ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยวิธีการเพิ่มฮอร์โมนความสุขให้กับร่างกาย เป็นอีกทางเลือกที่สามารถช่วยบรรเทาความเครียดได้อย่างตรงจุด ฮอร์โมนความสุขที่เกี่ยวข้องมีอยู่ 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่ โดพามีน (Dopamine) เป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับความพึงพอใจ ความรัก ความปรารถนา ความคิดถึง แรงบันดาลใจ ความจดจ่อ ความกระตือรือร้น โดยโดพามีนมีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาทหลายๆ ส่วน  ไม่ว่าจะเป็น การทำงานของระบบประสาทสมอง การเคลื่อนไหว ความจำ และการเรียนรู้ ทั้งนี้ หากมีระดับโดพามีนในร่างกายต่ำเกินไป จะทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่และซึมเศร้าได้ และอีกตัวคือ เซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนต้านความเครียด ตัวนี้จะหลั่งจากสมองและทางเดินอาหาร มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมณ์ พฤติกรรม และการนอนหลับ เมื่อร่างกายมีระดับเซโรโทนินที่ต่ำเกินไปจะส่งผลให้มีความผิดปกติด้านพฤติกรรมและอารมณ์ มีอาการเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับรวมไปถึงอาการซึมเศร้า

การรับประทานโปรไบโอติกสามารถเพิ่มฮอร์โมนโดพามีนและเซโรโทนินได้

โดยปกติจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารเป็นที่ยอมรับในแง่ของการช่วยให้ระบบการทำงานภายในร่างกายดีขึ้น มีการรับประทานโปรไบโอติกเพื่อปรับสมดุลในลำไส้ รักษาอาการท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน หรือใช้สำหรับเพิ่มภูมิคุ้มกัน แต่ยิ่งไปกว่านั้น จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เหล่านี้ยังมีความสามารถที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตอีกด้วย

โปรไบโอติกสายพันธ์ Lactobacillus plantarum DSM 28632 (PS128) เป็นแบคทีเรียที่มีอิทธิพลต่อสมองและระบบประสาท หรือที่เรียกว่า ไซโคไบโอติก (Psychobiotics) สามารถช่วยเพิ่มปริมาณโดพามีน และเซโรโทนินในสมองอย่างสมดุล สำหรับไซโคไบโอติกคือแบคทีเรียที่จะอาศัยอยู่ภายในลำไส้ และมีอิทธิพลส่งผลต่อสมอง โดยสมองและลำไส้สามารถติดต่อสื่อสารไปกลับกันได้ผ่านเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) ในแนวไขสันหลัง เลือด และสารสื่อประสาทมากมาย ซึ่งทำงานร่วมกันระหว่างระบบประสาทและฮอร์โมน รวมถึงมีผลต่อการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน การย่อยอาหาร และเมแทบอลิซึม

มีการศึกษาในหนูทดลองเพื่อวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของแบคทีเรียกับความเครียดในสมอง พบว่าความเครียดนั้นเกิดจากปริมาณแบคทีเรียในลำไส้ที่ไม่ปกติ ส่งผลให้เกิดการอักเสบในลำไส้ สามารถสรุปได้ว่า ไซโคไบโอติก คือส่วนสำคัญต่อการทำงานของระบบสำไส้ของหนู โดยไม่เพียงแต่ช่วยกำจัดอาการอักเสบ และเสริมภูมิคุ้มกันเท่านั้น แต่ยังช่วยลดพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเครียดอีกด้วย นอกจากนี้ในการทดลองกับหนูทดลองยังแสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียในลำไส้ของหนู มีความสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่างลำไส้และสมอง  สภาวะแบคทีเรียในลำไส้ไม่สมดุลเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยยังค้นพบอีกว่าในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์และโรคออทิสติกส่วนใหญ่มักพบปัญหาการอักเสบในลำไส้ของผู้ป่วย โดยการแพทย์แผนปัจจุบันได้นำไซโคไบโอติกซึ่งเป็นโปรไบโอติกที่มีประโยชน์ต่อสภาวะทางอารมณ์มาใช้บำบัดรักษาอาการทางจิตเวช เช่น ลดความเครียด ลดความวิตกกังวล และ ลดภาวะซึมเศร้าอย่างแพร่หลาย  นอกจากนั้นไซโคไบโอติกยังมีคุณสมบัติที่ดีอีกมากมาย ได้แก่ ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้า ควบคุมความอยากอาหาร ลดอาการผิดปกติในเด็กออทิสติก เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย และ ช่วยปรับสมดุลอาหาร จึงทำให้ไซโคไบโอติกเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยดูแลสุขภาพจิตของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

References
  1. Ho YT, Tsai YC, Kuo TBJ, Yang CCH. Effects of Lactobacillus plantarum PS128 on Depressive Symptoms and Sleep Quality in Self-Reported Insomniacs: A Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Pilot Trial. Nutrients. 2021 Aug 17;13(8):2820. doi: 10.3390/nu13082820. PMID: 34444980; PMCID: PMC8402034.
  2. Wu SI, Wu CC, Tsai PJ, Cheng LH, Hsu CC, Shan IK, Chan PY, Lin TW, Ko CJ, Chen WL, Tsai YC. Psychobiotic Supplementation of PS128TM Improves Stress, Anxiety, and Insomnia in Highly Stressed Information Technology Specialists: A Pilot Study. Front Nutr. 2021 Mar 26;8:614105. doi: 10.3389/fnut.2021.614105. PMID: 33842519; PMCID: PMC8032933.
  3. Cowen PJ, Browning M. What has serotonin to do with depression? World Psychiatry. 2015 Jun;14(2):158-60. doi: 10.1002/wps.20229. PMID: 26043325; PMCID: PMC4471964.
  4. Hashemi P, Dankoski EC, Lama R, Wood KM, Takmakov P, Wightman RM. Brain dopamine and serotonin differ in regulation and its consequences. Proc Natl Acad Sci U S A. 2012 Jul 17;109(29):11510-5. doi: 10.1073/pnas.1201547109. Epub 2012 Jul 9. PMID: 22778401; PMCID: PMC3406817.