Skip to content

ปัจจุบันปัญหาที่เภสัชกรส่วนมากพบในร้านขายยา คือการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ไม่ถูกต้อง ซึ่งยายอดฮิตที่คนมักใช้ผิดและเข้าใจผิดกันมากที่สุดคือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ในทางการแพทย์เรียกว่า “ยาปฏิชีวนะ(Antibiotics)” หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ “ยาแก้อักเสบ” นั่นเอง 

ยาแก้อักเสบ สรุปแล้วคืออะไรกันแน่ แก้อักเสบเรามันตรงกับแก้อักเสบเภสัชกรหรือไม่?

❌ยาแก้อักเสบที่คนทั่วไป เข้าใจ เช่น  Amoxicillin, Zithromax®, Cravit® ยาแคปซูลเขียวฟ้า แคปซูลฟ้าขาว แคปซูลดำแดง เป็นต้น… ซึ่งจริงๆแล้วคือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

✔️ยาแก้อักเสบที่ถูกต้อง = ยา Anti-inflamation ใช้บรรเทาอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน บางชนิดสามารถลดไข้ได้ เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Arcoxia®, Celebrex® เป็นต้น

“อาการเจ็บคอ” เป็นอาการเด่นที่พบในโรคคอหอยอักเสบ (pharyngitis) ร้อยละ 80 มี สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส…ซึ่งไม่จำเป็นต้องทานยาปฏิชีวนะในการฆ่าเชื้อ

เมื่อมีอาการเจ็บคอ สิ่งแรกที่เราต้องทำการประเมินก่อนว่าเราเจ็บคอจากสาเหตุอะไร เช่น

  1. ติดเชื้อแบคทีเรีย โดยต้องมีอาการเข้าข่ายมากกว่า 3 ข้อดังนี้
1.มีไข้>38องศาเซลเซียส  2.ไม่ไอ  3.ส่องคอแล้วพบฝ้าขาวที่ต่อมทอนซิล  4.คลำพบต่อมน้ำเหลืองโต หรือ กดเจ็บ 

การเจ็บคอจากสาเหตุนี้ พบได้น้อยมาก ไม่เกินร้อยละ 20 มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย group A β-hemolytic streptococcal (GABHS) โดยเป้าหมายของการใช้ยาปฏิชีวนะ คือ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนโรคไข้รูมาติค ผลลัพธ์ที่ได้รองลงไปคือช่วยลดอาการเจ็บคอซึ่งได้ผลไม่มากนัก (คือ ลดอาการเจ็บคอให้หายได้เร็วขึ้นกว่าไม่ใช้ยาเพียง 0.5 วัน) ดังนั้นหากจะใช้เพื่อลดอาการเจ็บคอจึงไม่เหมาะสมนัก ทั้งนี้เนื่องจากการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างพร่ำเพรื่อจะก่อให้เกิด ปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา

2. ติดเชื้อไวรัส เช่น โคโรน่าไวรัส ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่หายได้เอง

3. คออักเสบ ระคายคอจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ใช้เสียงเยอะ กินของเผ็ด ของทอด กรดไหลย้อน เป็นต้น

ถ้าเจ็บคอ ควรใช้ยาอะไรดี?

โดยทั่วไปแล้ว “อาการเจ็บคอ” เป็นอาการที่หายเองได้ไม่ว่ามีสาเหตุทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรีย GABHS หรือ ติดเชื้อไวรัส แต่หากผู้ป่วยมีความไม่สบายมากจากอาการเจ็บคอ มียาทางเลือกอื่นที่จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ เช่น

  • ยาบรรเทาอาการปวด paracetamol มีฤทธิ์ลดไข้ บรรเทาปวด โดยมีการศึกษาพบว่า การใช้ยา paracetamol ในขนาด 1,000 มิลลิกรัมครั้งเดียว หรือ 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัมครั้งเดียว ลดอาการเจ็บคอหลังได้รับยา 2-3 ชั่วโมง ได้ผลทั้งในผู้ใหญ่และเด็กร้อยละ 31-50 เมื่อเทียบกับยาหลอก
  • ยาในกลุ่ม NSAIDs มีฤทธิ์ในการลดไข้และต้านอักเสบ โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Cyclooxygenase (COX) ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ
    ในปีค.ศ. 2000 Thomas M. และคณะ รวบรวมการศึกษา randomized controlled trial (RCT) จำนวน 66 การศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาที่ใช้ยาทางเลือกในการบรรเทาอาการเจ็บคอ พบว่าในผู้ใหญ่ การใช้ยา ibuprofen ขนาด 200 มิลลิกรัมครั้งเดียว หรือ 400 มิลลิกรัมครั้งเดียว สามารถลดอาการเจ็บคอหลังได้รับยา 2 ชั่วโมงได้ร้อยละ 32-47 และลดอาการเจ็บคอหลังได้รับยา 4-6 ชั่วโมงได้ร้อยละ 70-80 เมื่อเทียบกับยาหลอก ส่วนในเด็กอายุ3-12 ปีการใช้ยา ibuprofen ขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ครั้งเดียวสามารถลดอาการเจ็บคอหลังได้รับยา 2 ชั่วโมงได้ร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับยาหลอก 
  • ฟ้าทะลายโจร ฟ้าทะลายโจรเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก มีข้อบ่งชี้เพื่อใช้ในการบรรเทาอาการเจ็บคอและอาการของโรคหวัด มีกลไกในการบรรเทาอาการของโรคหวัดโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบและลดไข้ 
  • สเปรย์พ่นคอ ลูกอม
  • ใช้ความเย็นเพื่อลดอาการบวม เช่นทานน้ำเย็น อมน้ำแข็ง

ข้อเสียของการกินยาฆ่าเชื้อพร่ำเพรื่อ

การได้รับยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็น  ได้รับทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ ท้องเสีย แผลเลือดออก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิด “เชื้อดื้อยา” 

“เชื้อดื้อยา” คือ เชื้อโรคที่สามารถทนทานต่อฤทธิ์ของยาปฎิชีวนะที่เคยใช้ได้ผลในการฆ่าเชื้อโรคชนิดนั้นมาก่อน ทำให้ต้องใช้เวลารักษานานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงขึ้น หรือ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งที่น่ากังวลคือ เชื้อดื้อยาสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาโดยตรง, สัตว์ที่นำมาปรุงอาหารเคยได้รับยาปฏิชีวนะขณะเลี้ยง เช่น หมู ไก่ ทำให้คนที่รับประทานได้รับส่วนของยาปฏิชีวนะเข้าในร่างกายด้วย

โดยทั่วไปผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง มักไม่เกิดอันตรายจากเชื้อดื้อยา แต่ผู้ที่ต้องเฝ้าระวังและป้องกันมากขึ้น คือ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ ผู้ป่วยหนัก ผู้ที่ได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะ หรือสวมใส่อุปกรณ์ทางการแพทยเ์ข้าร่างกายเป็นเวลานาน รวมถึงผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ จะทำให้มีโอกาสติด เชื้อดื้อยาได้ง่ายนั่นเอง

“อาการเจ็บคอ” เป็นอาการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาหายารักษา ผู้ป่วยบางส่วนมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการ ใช้ยาต้านจุลชีพในอาการเจ็บคอ มักเรียกหายาต้านจุลชีพเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ จนทำให้เกิดปัญหาการใช้ยาต้านจุลชีพ อย่างไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจในการเลือกใช้ยามากขึ้น ใช้ยาได้อย่างเหมาะสม และไม่ซื้อยาปฏิชีวนะทานพร่ำเพรื่อ

เอกสารอ้างอิง

  1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในร้านยา. แนวทางการใช้ยาต้านจุลชีพในโรคคอหอยอักเสบ. เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2566. เข้าถึงจาก: https://www.pharmacy.psu.ac.th/images/rdu-eagle2018.pdf
  2. งานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อโรงพยาบาลกุมภวาปี. “คู่มือเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา.” PDF file. เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2566. https://kumpawapihospital.go.th/newsite/file_download/1662352040.pdf