Skip to content

เภสัชอยากเล่า เรื่องเมา ๆ เราช่วยได้

บทความนี้เอาใจสายปาร์ตี้กันหน่อยค่ะ 🙂  บ่อยครั้งที่เราต้องร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ แฮงค์เอ้าท์กับเพื่อน ๆ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช่ไหมล่ะคะ … เภสัชเองก็ได้รับคำถามจากนักดื่มดัวยงเข้ามาบ่อย ๆ ว่า “มียาแก้แฮงค์ขายไหม?” หรือ “แพ้แอลกอฮอล์ ทานแล้วหน้าแดงตลอด มียารักษาหรือเปล่า?” …. พอถามกันเข้ามากขึ้น เภสัชไม่นิ่งนอนใจค่ะ เลยได้ไปทำการค้นคว้าข้อมูลที่น่าสนใจมาสรุปและแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกัน

Q: ยาแก้แฮงค์ มีจริงหรือเปล่า?

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่าทำไมเราถึงมีอาการ Hang-Over หรือเมาค้างหลังจากที่ดื่มแอลกฮอล์ อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เวลาที่เราดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในร่างกาย แอลกอฮอล์เมื่อผ่านเข้าไปสู่ตับจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์ไปเป็น Acetaldehyde ซึ่งเป็นสารตัวกลางที่เป็นพิษต่อเซลล์ ทำให้แสดงอาการต่าง ๆ ออกมา เช่น ตื่นมาแล้วปวดศีรษะมึนงง ไม่สดชื่น จำอะไรไม่ค่อยได้ คลื่นไส้อยากจะอาเจียน ปากคอแห้ง กระหายน้ำมาก ใจสั่น เป็นต้น 

ใครที่เคยมีประสบการณ์แย่ ๆ จากการแฮงค์มาแล้วน่าจะพอเข้าใจ และเกิดความสงสัยว่า มียาอะไรที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหล่านี้ได้หรือไม่ … ต้องขอแสดงความเสียใจไว้ก่อนเลยค่ะ เพราะในปัจจุบันยังไม่มียาลดการเมาหรือยาสูตรสำเร็จแก้อาการเมาค้างได้ แต่อย่าเพิ่งหมดหวังกันนะคะ ถึงแม้ว่าจะไม่มียาช่วย แต่ว่าตามกลไกของร่างกายจะมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า “Acetaldehyde dehydrogenase” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ALDH ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องนี้ ในการเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของ Acetaldehyde ไปเป็น Acetate ซึ่งไม่มีพิษ  ดังนั้นจึงสามารถอนุมานได้ว่า ถ้าเรามีปริมาณเอนไซม์ ALDH เพิ่มขึ้น อาการแฮงค์ก็จะหายได้ไวขึ้นนั่นเอง

ที่มา: Biomedicines 2018, 6(4), 106; https://doi.org/10.3390/biomedicines6040106

ว่าแต่ … เราจะมีวิธีเพิ่ม ALDH ได้อย่างไรบ้างล่ะ?  เภสัชได้อ่านงานวิจัยหนึ่งตีพิมพ์ในปี 2019 ที่ผ่านมา เขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารหลาย ๆ ชนิดแล้วพบว่า ลูกแพร์ มะนาวหวาน และน้ำมะพร้าว สามารถช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ ALDH ได้ ไม่แน่ในอนาคตอาจมีสูตรแก้แฮงค์ที่ผสมผสานผลไม้ทั้ง 3 ชนิดนี้ก็ได้นะ …

นอกจากนี้ เภสัชขอแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อให้หายแฮงค์ได้เร็วขึ้น เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ Acetaldehyde รวมถึงแอลกอฮอล์ที่ตกค้างถูกขับออกมาทางปัสสาวะ และรับประทานวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ เข้าไปทดแทนเพื่อให้ร่างกายสดชื่นขึ้น กระปี้กระเปร่ามากขึ้น เช่น วิตามินบีรวม วิตามินซี แมกนีเซียม L-Cysteine เป็นต้น ซึ่งมักจะผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารที่เคลมสรรพคุณในการแก้แฮงค์ ซึ่งหาซื้อได้ทั้งจากร้านยาและร้านค้าทั่วไป (ไม่ได้จัดเป็นยานะคะ)

Q: มียาแก้อาการหน้าแดงเวลาดื่มแอลกอฮอล์ไหม?

ในกลุ่มที่ดื่มเหล้าแล้วหน้าแดง ตัวแดง สิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่าอาการแพ้แอลกอฮอล์หรอกนะคะ… แต่มีสาเหตุมาจาก Acetaldehyde เจ้าปัญหาอีกเช่นเคย โดยส่วนใหญ่นั้นพบได้ในคนเอเชียเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่ามียีนที่ส่งผลต่อการทำงานของเอนไซม์ ALDH ที่ทำงานได้น้อยกว่าเชื้อชาติอื่น  ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะที่ Acetaldehyde จะคั่งในกระแสเลือดมาก ซึ่งเราอาจใช้วิธีการแก้ไขแบบเดียวกันกับการแก้แฮงค์ก็ได้ เนื่องจากมีปัจจัยการเกิดแบบเดียวกัน

แต่ก็ยังมีคนมาปรึกษาเภสัชอีกค่ะ ว่ามีการนำยารักษาโรคกระเพาะอักเสบในกลุ่ม H2-antagonist มาใช้ในการแก้ปัญหาหน้าแดงนี้ได้หรือไม่ … ขอตอบตามหลักวิชาการนะคะ โดยหลักการทำงานของตัวยาในกลุ่มนี้จะช่วยชะลอกระบวนการเปลี่ยนแปลงของแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดไปเป็น Acetaldehyde ให้เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ พอไม่เกิดการคั่งของ Acetaldehyde แล้ว ก็แก้ปัญหาเรื่องหน้าแดง ตัวแดงได้ค่ะ …. แต่เดี๋ยวก่อน ! อย่าเพิ่งไปรีบหาซื้อกันนะคะ เพราะว่าเมื่อเราไปชะลอกระบวนการนี้ แล้วแอลกอฮอล์ที่เราดื่มเข้าไปมันก็จะยิ่งอยู่ในตัวเราได้นานขึ้นน่ะสิ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่ดีอย่างแน่นอน ! ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งทำให้เมาหนักและเมานานมากขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้นหากใช้ยาผิดวัตถุประสงค์แบบนี้ทุกครั้งไป ในระยะยาวจะเกิดอันตรายได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในทางเดินอาหารอีกด้วย เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสียเลยค่ะ…. เพราะงั้นเภสัชไม่แนะนำวิธีนี้เด็ดขาดค่ะ

ก่อนจากกัน เภสัชก็ขอย้ำเตือนนะคะ ว่าอะไรที่มากเกินไปก็ย่อมไม่ดีทั้งนั้น อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีอยู่แล้วว่าการดื่มส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง ทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ ช้าลง ขาดความยั้งคิด อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไขมันสะสมที่ตับ (fatty liver) และทำให้อวัยวะภายในทำงานหนัก หากดื่มมากไปจนกลายเป็นขาดไม่ได้แล้ว หายนะตามมาแน่นอนค่ะ ฉะนั้น ดื่มอย่างมีสติ ดื่มพอประมาณ และเมาไม่ขับนะคะ

References:

  1. Teschke R. Alcoholic Liver Disease: Alcohol Metabolism, Cascade of Molecular Mechanisms, Cellular Targets, and Clinical Aspects [Internet]. Biomedicines 2018 [cited 22 Aug 2022], 6(4), 106; Available from: https://doi.org/10.3390/biomedicines6040106
  2. Srinivasan S, Dubey KK, Singhal RS. Influence of food commodities on hangover based on alcohol dehydrogenase and aldehyde dehydrogenase activities. Curr Res Nutr Food Sci [Internet]. Nov 2019 [cited on 22 Aug 2022]; (1):8-16. Available from: https://doi.org/10.1016/j.crfs.2019.09.001.
  3. ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท. เทคนิค แก้ Hang Over. [อินเตอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 22 สิงหาคม 2565] เข้าถึงได้จาก: https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%AE%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C
  4. PPTV Online. อาการหน้าแดง จากการดื่มแอลกอฮอล์ เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง! [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 22 สิงหาคม 2565] เข้าถึงได้จาก: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B9%8C/88236