Skip to content

สังฆทานยา คือ การจัดสังฆทาน เพื่อนำไปถวายแก่พระสงฆ์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรักษาป้องกันโรคภัย และส่งเสริมสุขภาพ

…ในสังฆทานยา ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง…

สังฆทานยา ควรประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์กับพระสงฆ์ในด้านสุขภาพ ดังนี้

  1. ยาสามัญประจำบ้าน เนื่องจากยาสามัญประจำบ้านผู้ใช้ยาสามารถอ่านรายระเอียดการใช้ยาจากฉลากยาได้ โดยสามารถรักษาอาการป่วยเบื้องต้นได้ และมีความปลอดภัย
  2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เนื่องจากสมุนไพรในปัจจุบันมีความปลอดภัย และสามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ดี แต่ควรเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา และขายในขายยาหรือร้านขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ
  3. ชุดอุปกรณ์ทำแผล เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ควรใส่ในชุดสังฆทานยา เพราะนอกจากการป่วยแล้ว อาการบาดเจ็บต่างๆ ที่พระสงฆ์อาจเกิดได้มากกว่าคนปกติ เช่น การบาดเจ็บที่เท้าเนื่องจากไม่ใส่รองเท้าแตะ หรือพระธุดงค์ที่มีการเดินทางเข้าป่า เกิดบาดแผลจากกิ่งไม้ แมลงสัตว์กัดต่อย ชุดอุปกรณ์ทำแผลเบื้องต้นจะช่วยเรื่องอาการเหล่านี้ได้
  4. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อถวายพระในชุดสังฆทานยาสามารถเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีประโยชน์ในด้านภูมิคุ้มกันได้ เช่น วิตามินซี แร่ธาตุสังกะสี

การเลือกสังฆทานยาตามคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
โดยคำนึงถึง “3 เลือก 1 ห้าม” เพื่อความปลอดภัยของพระภิกษุ ดังนี้

  1. เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่ปลอดภัย 
    เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถสังเกตที่ฉลากโดยระบุคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” พร้อมระบุเลขทะเบียนที่ถูกต้องบนฉลากของยา
  2. เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่มีลักษณะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ 
    เลือกยาที่อยู่ในสภาพเม็ดสมบูรณ์ไม่บิ่น หัก ฉีกขาด สีไม่เปลี่ยน ไม่มีการบวม หากเป็นยาน้ำให้สังเกตสีน้ำใสไม่ขุ่น ไม่มีตะกอน หากเป็นยาน้ำแขวนตะกอนให้สังเกตการเขย่าแล้วยากระจายตัวดีไม่เป็นก้อน เป็นต้น หรือเลือกซื้อยาที่ร้านยาคุณภาพที่มีการเก็บรักษายาอย่างมีมาตรฐาน
  3. เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงฉลากและเอกสารกำกับยา 
    เลือกซื้อยาสามัญประจำบ้านจะมีรายละเอียดวิธีใช้ยา ฉลากและเอกสารกำกับยาครบถ้วน ทำให้พระสงฆ์สามารถอ่านแล้วใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
  4. ห้ามนำผลิตภัณฑ์ยาหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุ มาจัดชุดสังฆทาน
    สังเกตผลิตภัณฑ์ยาข้างขวดจะระบุวันที่ผลิต และวันหมดอายุ โดยหากซื้อสังฆทานยาสำเร็จรูปหรือจัดสังฆทานเอง ควรสังเกตวันหมดอายุของยาก่อนเสมอ
….ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ ยาอันตราย ความหวังดีที่อาจส่งผลร้ายแรง….

ปัจจุบันมีความเข้าใจผิดเรื่องสังฆทานยาเป็นจำนวนมาก มีการใส่ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงยาอันตรายเข้าไปด้วย ทำไมยาเหล่านี้จึงไม่ควรใส่ในชุดสังฆทาน

  1. การใช้ยา เนื่องจากเป็นยาอันตราย การใช้ยาเหล่านี้จึงควรอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย การใช้ยาโดยขาดการแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญอาจทำให้การรักษาโรคไม่หาย หรืออาการแย่ลงกว่าเดิม
  2. ผลข้างเคียงของยา ยาอันตรายหลายๆตัว มักมีผลข้างเคียงหลังจากรับประทาน เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม ท้องเสีย จึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
  3. เกิดอันตรกิริยากับยาอื่นๆ หรือที่เรียกกันว่า “ยาตีกันเนื่องจากพระสงฆ์แต่ละรูป อาจมีโรคประจำตัวและมียาประจำตัวอยู่แล้ว การรับประทานยาจึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
  4. ทำให้โรคประจำตัวแย่ลง เนื่องจากโรคประจำตัวของพระสงฆ์บางโรค จะมีข้อจำกัดในการใช้ยา ดังนั้นยาอันตรายควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อป้องกันไม่ให้โรคประจำตัวดังกล่าวแย่ลง
  5. การแพ้ยา เนื่องจากพระสงฆ์บางรูปอาจมีการแพ้ยา ซึ่งอาการแพ้ยามีตั้งแต่รุนแรงน้อย เช่น ผื่นคัน ลมพิษ ไปจนถึงรุนแรงมาก เช่น ผิวหนังไหม้ หายใจไม่ออก ไปจนถึงเสียชีวิตดังนั้นการใช้ยาจึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

“ดังนั้นการจัดสังฆทานยาให้ปลอดภัยควรซื้อที่ร้านขายยาและปรึกษาเภสัชกรเสมอ”