Skip to content

เมื่อตั้งครรภ์หรือเตรียมพร้อมที่จะตั้งครรภ์ นอกจากการรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารครบถ้วนแล้ว การรับประทานอาหารเสริมบำรุงครรภ์ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนเพิ่มพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ก็จำเป็นเช่นกัน โดยวิตามินแต่ละชนิดที่จำเป็นได้แก่

กรดโฟลิก (Folic Acid)

กรดโฟลิก (Folic Acid) คือวิตามินบี 9 มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลาก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากกรดโฟลิกจะช่วยป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่ปกติได้แก่ ภาวะที่ไม่มีสมองและกระโหลกศีรษะ (Anencephaly) และ การสร้างกระดูกและไขสันหลังผิดปกติ (Spina bifida) ในช่วงตั้งครรภ์ 3-4 สัปดาห์แรกได้ โดยสามารถเริ่มรับประทานได้ตั้งแต่เริ่มวางแผนการตั้งครรภ์ (3 เดือนก่อนตั้งครรภ์) ขนาด 400 ไมโครกรัม หรือ 0.4 มิลลิกรัม วันละครั้ง จนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากแพทย์พิจารณาว่าทารกมีความเสี่ยงที่จะเกิดการพัฒนาการของสมองและไขสันหลังที่ผิดปกติได้แก่

  • เคยมีประวัติตั้งครรภ์ที่ทารกมีพัฒนาการของสมองและไขสันหลังที่ผิดปกติมาก่อน
  • มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน
  • มีภาวะน้ำหนักเกิน
  • มีภาวะโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease)
  • กำลังใช้ยารักษาโรคเกี่ยวกับโรคลมชักอยู่
  • กำลังใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV) หากมีปัจจัยเสี่ยง

หากแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง อาจพิจารณาขนาดยาที่สูงขึ้น 4-5 มิลลิกรัมต่อวันได้ โดยรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน

วิตามินดี (Vitamin D)

วิตามินดี (Vitamin D) ช่วยในการดูดซึมของแคลเซียมและฟอสฟอรัส เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ฟัน และ กล้ามเนื้อ โดยในหญิงตั้งครรภ์ต้องการวิตามินดี 10 ไมโครกรัมต่อวัน และ ไม่ควรเกิน 100 ไมโครกรัม (4,000 IU) ต่อวัน อาจเป็นอันตรายได้

ธาตุเหล็ก (Iron)

เมื่อตั้งครรภ์ร่างกายจะต้องการธาตุเหล็ก (Iron) มากกว่าปกติถึง 2 เท่า เนื่องจากธาตุเหล็กจะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบินช่วยในการลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกายทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยปริมาณที่ต้องการ 30-60  มิลลิกรัมทุกวันขณะตั้งครรภ์

การเทียบปริมาณธาตุเหล็กชนิดต่างๆ

ธาตุเหล็กและเกลือชนิดต่างๆให้ปริมาณธาตุเหล็ก (Elemental Iron)
Ferrous sulfate (desiccated)37%
Ferrous fumarate33%
Ferrous sulfate (hydrated)20%
Ferrous gluconate12%

วิตามินซี (Vitamin C)

การรับประทานวิตามินซีจะช่วยเสริมภูมิคุ้นกัน และ ช่วยเสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนือให้แข็งแรงในขณะตั้งครรภ์ได้ โดยควรได้รับปริมาณวิตามินซีขณะตั้งครรภ์ดังนี้

  • หญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 18 ปี หรือ ต่ำกว่า ควรได้รับปริมาณวิตามินซี 80 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่เกิน 1,800 มิลลิกรัมต่อวัน
  • หญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 19 ปี ขึ้นไป ควรได้รับปริมาณวิตามินซี 85 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

โดยได้รับจากการรับประทานผักและผลไม้ก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องทานอาหารเสริม เนื่องจากการศึกษาพบว่าการรับประทานวิตามินซีขนาดสูง (1000 มิลลิกรัมต่อวัน) ในหญิงตั้งครรภ์ ไม่ได้ช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด หรือ ทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานได้ และการรับประทานวิตามินซีมากเกินไปอาจทำให้ไม่สบายท้องได้

แคลเซียม (Calcium)

แคลเซียมเป็นส่วนช่วยในการสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ ช่วยป้องกันครรภ์เป็นพิษ และ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารน้อย ควรได้รับปริมาณแคลเซียม (Elemental Calcium) 1.5-2.0 กรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้งต่อวัน พร้อมอาหาร และ รับประทานห่างจากนมและธาตุเหล็ก 2 ชั่วโมงขึ้นไป

การเทียบปริมาณแคลเซียมชนิดต่างๆ

แคลเซียมและเกลือชนิดต่างๆให้ปริมาณแคลเซียม (Elemental Calcium)
Calcium Carbonate40%
Calcium Phosphate34-40%
Calcium Citrate Malate24%
Calcium Acetate23%
Calcium Citrate21%
Calcium Lactate14%
Calcium Gluconate9%

วิตามินที่ควรหลีกเลี่ยงในหญิงตั้งครรภ์

วิตามินเอ (Vitamin A)

การรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของ วิตามินเอ (Vitamin A) ขณะตั้งครรภ์อาจสะสมทำให้ทารกมีโอกาสพิการได้

วิตามินอี (Vitamin E)

การรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของ วิตามินอี (Vitamin E) ขณะตั้งครรภ์อาจสะสมทำให้ปวดท้อง และมีความเสี่ยงในการเกิดถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนดได้

Reference
  1. Vitamins, supplements and nutrition in pregnancy [Internet]. NHS; 2020 [cited 2023 Jun 15]. Available from: https://www.nhs.uk/pregnancy/keeping-well/vitamins-supplements-and-nutrition/
  2. Folic acid [Internet]. Centers for Disease Control and Prevention; 2022 [cited 2023 Jun 17]. Available from: https://www.cdc.gov/ncbddd/folicacid/about.html
  3. WHO. Developing and validating an iron and folic acid supplementation indicator for tracking progress towards global nutrition monitoring framework targets. Final report – June 2018. Geneva: World Health Organization; 2018
  4. LiverTox: Clinical and Research Information on Drug-Induced Liver Injury [Internet]. Bethesda (MD): National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases; 2012-. [Table, Concentrations of elemental iron in typical iron tablets] Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK548214/table/Iron.T1/
  5. Rumbold A, Ota E, Nagata C, Shahrook S, Crowther CA. Vitamin C supplementation in pregnancy. Cochrane Database of Systematic Reviews 2015, Issue 9. Art. No.: CD004072. DOI: 10.1002/14651858.CD004072.pub3
  6. WHO recommendation: Calcium supplementation during pregnancy for the prevention of pre-eclampsia and its complications. Geneva: World Health Organization; 2018. Licence: CC BY-NC-SA 3.0 IGO
  7. Kubala J. What supplements are safe during pregnancy and what aren’t? [Internet]. Healthline Media; 2020 [cited 2023 Jun 20]. Available from: https://www.healthline.com/nutrition/supplements-during-pregnancy