Skip to content

เมื่อมีอาการประจำเดือนขาด อาจมีความกังวลใจเกี่ยวกับโอกาสการตั้งครรภ์ได้ การใช้ชุดตรวจครรภ์ด้วยตนเองเป็นวิธีที่สะดวกและง่าย และราคาไม่แพง แต่หลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีใช้ ประสิทธิภาพชุดตรวจครรภ์ต่างๆ        ต้องตรวจเวลาไหนถึงจะแม่นยำ บทความนี้จะช่วยสรุปประเด็นเกี่ยวกับการใช้งานชุดตรวจครรภ์ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นดังนี้

หลักการทำงานของชุดตรวจครรภ์

ชุดตรวจครรภ์เป็นการตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจี (HCG – Human Chorionic Gonadotropin) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งมาจากรก ซึ่งจะเริ่มตรวจพบได้คือประมาณ 6 วันหลังจากมีการปฏิสนธิ แต่ระดับฮอร์โมนระดับ HCG ยังต่ำมาก และจะเพิ่มขึ้นถึงช่วงอายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ จึงควรตรวจประมาณ 14 วันหลังจากมีการปฏิสนธิคือ 1 เดือนหลังประจำเดือนมาหรือหมดไปครั้งสุดท้าย (ตรวจทันทีที่รอบเดือนมาไม่ตรงตามกำหนด) หรือ เพื่อป้องกันทดสอบลบที่ผิดพลาดตรวจเมื่อ 1 สัปดาห์หลังจากที่รอบเดือนมาไม่ตรงตามกำหนด

ชุดตรวจครรภ์มีกี่ประเภท

ชุดตรวจครรภ์มี 3 ประเภท ได้แก่
1. ชุดตรวจครรภ์แบบจุ่ม (Test strip)

ประกอบด้วย แผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ และ ถ้วยตวงปัสสาวะ (อาจมีหรือไม่มีก็ได้) มีวิธีการตรวงดังนี้

  • เก็บปัสสาวะใส่ถ้วยตวง
  • นำแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ด้านที่มีลูกศรชี้ลงจุ่มลงไปในถ้วยตวง 3 วินาที
  • ระวังไม่ให้น้ำปัสสาวะซึมขึ้นมาเลยขีดที่กำหนด อาจทำให้แผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ไม่มีประสิทธิภาพได้
  • นำแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ออกจากถ้วยตวง และวางบนพื้นผิวแห้งสนิทในแนวนอน
  • รออ่านผลการทดสอบ 5 นาที
2. ชุดตรวจครรภ์แบบตลับหรือหยด (Pregnancy Test Cassette)

ประกอบด้วย แผ่นตลับทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้วยตวงปัสสาวะ (อาจมีหรือไม่มีก็ได้) และหลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ มีวิธีการตรวงดังนี้

  • เก็บปัสสาวะใส่ถ้วยตวง
  • นำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะเข้าไปในปริมาณพอเหมาะ หยดน้ำปัสสาวะลงบนตลับทดสอบที่วางบนพื้นราบประมาณ 3-4 หยด (ไม่ควรหยดมากกว่านี้)
  • รออ่านผลการทดสอบ 5 นาที
3. ชุดตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน (Pregnancy Midstream Tests)

ประกอบด้วย แท่งทดสอบการตั้งครรภ์ มีวิธีการตรวงดังนี้

  • ถอดฝาครอบออกพร้อมกับถือแท่งทดสอบโดยให้หัวลูกศรชี้ลง (หงายด้านที่เป็นช่องอ่านผลขึ้น)
  • ปัสสาวะผ่านบริเวณแท่งซับน้ำปัสสาวะซึ่งจะอยู่บริเวณต่ำกว่าลูกศรให้ชุ่มประมาณ 5 วินาที
  • วางแท่งทดสอบการตั้งครรภ์ไว้ในแนวราบ
  • รออ่านผลการทดสอบ 3-5 นาที
  • ห้ามแกะพลาสติกที่ช่องอ่านผลออก

ข้อดีข้อเสียของชุดตรวจครรภ์แต่ละประเภท

 ชุดตรวจครรภ์แบบจุ่มชุดตรวจครรภ์แบบตลับหรือหยดชุดตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน
ข้อดีราคาถูก เป็นที่นิยมขีดชัด อ่านผลสะดวกใช้งานง่าย ปัสสาวะไม่เลอะ
ข้อเสียคลาดเคลื่อนได้ง่าย ปัสสาวะอาจหกเลอะได้หากหยดเกินที่กำหนดอาจทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้ราคาสูงกว่าชนิดอื่น

การอ่านผลชุดตรวจครรภ์

การอ่านผลเพื่อความแม่นยำควรอ่านภายใน 5 นาที หากทิ้งไว้นานอาจทำให้ผลผิดพลาดได้ โดยชุดตรวจครรภ์จะมีแถบแสดงผล 2 แถบ ได้แก่ แถบควบคุม (C-Control) และแถบแสดงผลการทดสอบ (T-test) แสดงผลได้ดังนี้

  • ตรวจแล้วแถบสีขึ้น 1 ขีด ที่ C แสดงว่าชุดทดสอบทำงานปกติ ไม่ตั้งครรภ์
  • ตรวจแล้วแถบสีขึ้น 1 ขีด ที่ T แสดงว่าชุดทดสอบเสีย อาจเกิดจากใช้ปัสสาวะทิ้งไว้นาน หรือชุดตรวจการตั้งครรภ์ใกล้หมดอายุ ควรทดสอบโดยใช้ชุดตรวจใหม่อีกครั้ง
  • ตรวจแล้วแถบสีขึ้น 2 ขีด (ชัดเจน หรือ ขีด T ขึ้นจางเนื่องจากฮอร์โมนเอชซีจียังคงต่ำอยู่) แสดงว่าตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตามควรทดสอบอีกครั้งหลังจากทดสอบครั้งแรก 2-3 วันหรือพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดยืนยันผลที่ชัดเจน

ผลตรวจการตั้งครรภ์ผิดพลาด

ผลตรวจการตั้งครรภ์ผิดพลาดอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆดังนี้

  • มีการใช้ยาช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ หรือ ผู้ที่มีประวัติการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก อาจทำให้เกิดผลบวกที่ผิดพลาดได้ เนื่องจากตัวยามีส่วนผสมของฮอร์โมนเอชซีจี
  • มีประวัติเป็นซีสต์ที่มดลูก ตั้งครรภ์นอกมดลูก วัยทอง อาจทำให้เกิดผลบวกที่ผิดพลาดได้

คำแนะนำการใช้ชุดตรวจครรภ์

เพื่อความแม่นยำในการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองควรปฏิบัติดังนี้

  • ควรซื้อชุดตรวจครรภ์ 2 ชุด ตรวจชุดที่ 2 หลังจากทดสอบครั้งแรก 2-3 วัน
  • ควรตรวจด้วยน้ำปัสสาวะครั้งแรกหลังจากตื่นนอน เนื่องจากพบฮอร์โมนเอชซีจีสะสมตลอดทั้งคืนเยอะที่สุด
  • เมื่อฉีกซองชุดตรวจ ควรตรวจทันที หากทิ้งไว้อาจมีความชื้นเข้าชุดตรวจ ทำให้ผลไม่แม่นยำได้
  • ควรจับเวลาในการอ่านผลแต่ละครั้ง
เอกสารอ้างอิง
  1. Grünebaum BA. How early can pregnancy be detected? [Internet]. 2019 [cited 2023 Jul 27]. Available from: https://www.babymed.com/pregnancy-tests/how-early-can-pregnancy-be-detected-with-a-test#sthash.rZO7wHTH.dpuf
  2. 4 วิธีตรวจการตั้งครรภ์ ที่ผู้หญิงควรรู้ [Internet]. 2021 [cited 2023 Jul 27]. Available from: https://ch9airport.com/4-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B9%8C/
  3. การทดสอบการตั้งครรภ์ [Internet]. 2018 [cited 2023 Jul 27]. Available from: https://www.medicthai.com/%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%97%e0%b8%94%e0%b8%aa%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a0%e0%b9%8c/