Skip to content

“ปวดหัวตุบๆ ปวดหัวข้างเดียวบ้างสองข้างบ้าง ปวดหัวด้วยจะอ้วกด้วย ปวดหัวแล้วเห็นแสงวูบวาบ”

ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการเหล่านี้ บอกได้เลยว่าเตรียมตัวไว้ให้ดี เพราะคุณอาจจะกำลังเป็นผู้ป่วยไมเกรน โรคปวดหัวสุดฮิต เป็นแล้วเป็นอีกไม่หายซักที มีอาการขึ้นมาทีไรก็สุดแสนจะทรมานเหลือเกินนนนน

ไมเกรนเกิดจากอะไร? 😵

จริงๆแล้วไมเกรนนั้นยังไม่สามารถค้นพบสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่มีหลายทฤษฎีที่เชื่อว่าไมเกรนเกิดจากการที่เซลล์ประสาทถูกกระตุ้นมากเกินไป จนทำให้สมองทำงานผิดปกติ เรียกภาวะที่เกิดขึ้นดังกล่าวว่า cortical spreading depression (CSD) ซึ่งจะเริ่มต้นที่สมองส่วนหลัง (occipital lobe) จากนั้นส่งสัญญาณไปที่สมองส่วนหน้า กระบวนการนี้เองที่ทำให้เห็นแสงวูบวาบเวลาปวดศีรษะไมเกรน นอกจากนี้ยังมีสัญญาณส่งไปยัง Trigeminal nerve หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่คอยรับรู้ความรู้สึก และควบคุมการทำงานของใบหน้า แต่เจ้าตัวปัญหาที่แท้จริงคือสารต่างๆที่หลั่งออกมา หลังจากที่ถูกกระตุ้นต่างหาก เช่น calcitonin gene-related peptide (CGRP), substance P, glutamate, prostaglandin, nitric oxide ซึ่งเหนี่ยวนำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบและขยายตัวขึ้น หลอดเลือดที่เกิดการอักเสบหรือขยายตัวนี้ก็สามารถส่งสัญญาณย้อนกลับไปกระตุ้นที่ก้านสมอง เกิดการส่งสัญญาณต่อไปที่ thalamus และ somatosensory cortex หรือก็คือสมองที่ใช้ในการรับรู้ความเจ็บปวดนั่นเอง 

ยังมีบางทฤษฎีที่บอกว่าไมเกรนเกิดจากการที่สมองมีระดับสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า Serotonin (5-HT) ผิดปกติไป โดยปกติสารนี้จะสามารถทำให้เกิดหลอดเลือดหดตัวได้ แต่ในผู้ป่วยไมเกรนมักจะมี serotonin ลดลง จนเกิดเป็นอาการไมเกรนขึ้นมาได้ในที่สุด และก็มีอีกหลายการศึกษาที่พบว่าไมเกรนมักจะมาพร้อมกับรอบเดือน เชื่อกันว่าการที่ระดับฮอร์โมน estrogen ลดลงอย่างทันทีทันใดในช่วงก่อนการมีประจำเดือนนั้นสามารถกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ รวมไปถึงการที่ร่างกายมีความผันผวนของระดับเอสโตรเจน ก็ยังส่งผลให้มีการหลังสารอักเสบตัวร้ายอย่าง PEG-2 ที่ทำให้หลอดเลือดขยาย แล้วเกิดเป็นไมเกรนได้ในที่สุด ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ได้สอดคล้องกับที่ว่ายาคุมกำเนิด และฮอร์โมนทดแทน สามารถกระตุ้นการเกิดไมเกรนได้เช่นกัน

 

อะไรเอ่ยกระตุ้นไมเกรนได้?

หลายๆท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าปัจจัยที่กระตุ้นไมเกรนนั้นได้วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินบางประเภท เช่น ช็อคโกแลต ยีสต์ เนยแข็งและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากนม ผลไม้ตระกูลซิตรัส  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสารเติมแต่ง เช่น สารให้ความหวานแอสปาร์แตม สารกันเสีย และผงชูรส(โมโนโซเดียมกลูตาเมต) รวมไปถึงอาหารแปรรูปต่างๆไม่ว่าจะเป็นฮอทดอก ลูกชิ้น กลุ่มเครื่องดื่มเองก็สามารถกระตุ้นไมเกรนได้ไม่เเพ้กัน ทั้งชา กาแฟ ไวน์ เบียร์เหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ต่างๆ จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอาหารโปรดของใครหลายๆคนเลยนะคะ แต่สำหรับผู้ป่วยไมเกรนเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงดีกว่า เพื่อเป็นการป้องกันไมเกรนตัวร้ายนะคะ

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ปัจจัยที่กระตุ้นไมเกรนได้ยังเป็นสิ่งแวดล้อมที่คุณกำลังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของอากาศ มลพิษฝุ่นควัน แสงที่สว่างจ้า หรือพื้นที่ที่มีเสียงดังรบกวน รวมไปถึงกลิ่นฉุน ก็สามารถส่งผลต่อประสาทสัมผัสของเราจนกระตุ้นให้เกิดเป็นอาการไมเกรนได้นั่นเอง

 

ปวดหัวแบบไหนกันที่เรียกว่าไมเกรน?

เริ่มแรกเลยผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่มักจะมีอาการเเปลกๆที่เป็นสัญญาณเตือนของการเกิดไมเกรน หรือที่เรียกว่า Prodome เช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวอารมณ์ดีเดี๋ยวเซึมเศร้า ปวดตึงคอ หาวบ่อย กระหายน้ำ/ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น 

และต่อมาผู้ป่วยไมเกรนประมาณ 20 % มักจะมีอาการพิเศษๆ ที่อาจมองเห็นแสงวูบวาบ แสงกระพริบๆ หรือแสงเป็นคลื่น บางรายอาจจะมีการเคลื่อนไหวหรือการพูดลำบาก กล้ามเนื้อคล้ายๆจะอ่อนแรง รู้สึกชาที่มือหรือเท้า ซึ่งอาการเหล่านี้ จะค่อย ๆ เริ่มเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที และจะยังคงมีความรู้สึกนี้เป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงก็ได้ เรียกระยะนี้ว่า ระยะอาการนำ (Aura)

หลังจากนั้นก็เข้าสู่ระยะการปวดศีรษะไมเกรนในที่สุด ซึ่งมักจะปวดตุบๆบริเวณขมับ อาจเป็นได้ทั้ง 1 หรือ 2 ข้าง บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตราพร่า หน้ามืดร่วมด้วย อาจมีอาการกลัวแสงหรือกลัวเสียง ซึ่งอาการปวดส่วนใหญ่จะคงอยู่นานตั้งแต่ 4 ชั่วโมง จนถึง 72 ชั่วโมง และเป็นระยะที่ทรมานมากที่สุด

สุดท้ายหลังจากผ่านช่วงที่ทรมานสุดๆมาแล้วไอ้เจ้าไมเกรนนี้ก็ยังทิ้งอาการตกค้างเอาไว้ เรียกว่าเป็นระยะ Postdome ซึ่งมักจะมีอาการสับสน มึนงง อ่อนล้า อ่อนแรง กว่าจะจบกระบวนการปวดหัวไมเกรนก็เล่นเอาซะปวดหัวขึ้นมาจริงๆเลยนะคะเนี่ย 😅

 

รักษาไมเกรนต้องทำอย่างไร?

💊การรักษาด้วยยา

เรามาเริ่มกันในส่วนของการใช้ยาก่อนดีกว่า ซึ่งยาสำหรับไมเกรนมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  • ยาที่ใช้ในการบรรเทาปวดไมเกรนเฉียบพลัน 
      1. ยาในกลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอด์ (NSAIDs) โดยจะเริ่มใช้ถ้าหากอาการไม่รุนแรงมาก เช่น Ibuprofen, Naproxen, Celecoxib, Etoricoxib ยากลุ่มนี้มักจะมีอาการข้างเคียงที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และหากให้ติดต่อกันนานๆอาจส่งผลต่อไต เและหัวใจได้
      2. ยากลุ่มทริปแทน (triptans) และยากลุ่ม ergotamine เป็นยาที่จำเพาะเจาะจงกับการปวดไมเกรน ใช้ในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น แต่ยาในกลุ่มนี้มักจะมีอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง คือ นอกจากมันจะไปหดหลอดเลือดที่สมองแล้ว มันยังสามารถหดหลอดเลือดส่วนปลายที่มือและเท้าได้ ทำให้เกิดเป็นอาการชา ปลายมือเท้าเย็น ไปจนถึงขั้นสูงสุด คือทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงปลายมือเท้าจนเกิดเป็นเนื้อตายแล้วต้องตัดอวัยวะทิ้งไปในที่สุด โดยเฉพาะยากลุ่ม ergotamine อีกทั้งมันยังตีกันกับยาตัวอื่นๆได้เยอะ เช่น zithromycin, clarithromycin, ketoconazole, ritonavir หรือ verapamil เป็นต้น ซึ่งหากยิ่งใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับ ergotamine ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงได้
  • ส่วนกลุ่มยาประเภทที่ 2 คือยาที่ใช้สำหรับป้องกันไมเกรน นื่องจากอย่างที่ทราบกันดีว่าโรคปวดศีรษะไมเกรนรักษาได้ไม่หายขาด อีกทั้งยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ จึงมีการใช้ยาป้องกัน เพื่อลดถวามถี่ และลดความรุนแรงของการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน โดยมีข้อบ่งใช้เมื่อมีอาการปวดที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปต่อเดือน หรือมีอาการปวดศีรษะบ่อยมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมีระยะการเกิด attrack แต่ละครั้งนานเกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งยาที่นิยมใช้ในการป้องกันไมเกรนมีดังนี้
      1. ยาในกลุ่ม Beta-adrenergic blockers เช่น propanolol, metoprolol ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรนได้ เพราะการยับยั้ง beta-receptor ในระบบประสาทส่วนกลางที่จะส่งผ่านสัญญาณในระบบ adrenergic pathway อาจจะมีผลกับการทำงานของ 5-HT receptors ในสมองด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบสารสื่อประสาท serotonin ในสมอง นอกจากนี้สำหรับในกรณีของยา propranolol ยังสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ nitric oxide (NO) synthase ด้วย ทำให้ NO ลดลง รวมถึงการเสริมการทำงานของสาร N-methyl-D-aspartate (NMDA) ซึ่งมีคุณสมบัติ membrane-stabilizing properties อีกด้วย ทำให้สามารถป้องกันการเกิดไมเกรนได้ แต่ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดอาการข้างเคียงทางพฤติกรรมได้ เช่น ง่วงซึม อ่อนล้าง่าย, การนอนหลับผิดปกติ, ภาวะซึมเศร้า, ความจำเลวลง และประสาทหลอน เป็นต้น
      2. ยารักษาโรคซึมเศร้า กลุ่ม tricyclic antidepressant เช่น amitriptyline, nortriptyline เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการไมเกรน คาดว่าน่าจะเกิดจากกลไกการยับยั้งการ reuptake ของสาร noradrenaline และ 5-HT หรือยับยั้งการทำงานของ 5-HT2 receptors ยาในกลุ่มนี้มีอาการข้างเคียง คือ ง่วง, รับประทานอาหารเพิ่มขึ้น, ปากแห้ง, ท้องผูก, ปัสสาวะไม่ออก ซึ่งเป็นผลจากฤทธิ์ antimuscarinic effects ซึ่งอาจต้องให้ผู้ป่วยสังเกตและระมัดระวังโดยเฉพาะหากเป็นการใช้ยาในผู้สูงอายุ
      3. ยากันชัก มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่ายากันชักสามารถนำมาใช้ป้องกันไมเกรนมากขึ้น เช่น sodium valproate, toprimate ซึ่งยาตัวนี้นอกจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรน ยังพบว่าการใช้ยาต่อเนื่องมีผลให้น้ำหนักตัวลดลงได้ (ซึ่งยาป้องกันไมเกรนตัวอื่นนั้นมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยา) อาการข้างเคียงที่พได้บ่อย คือ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น
      4. ยากลุ่ม Calcium channel antagonists เช่น Flunarizine สำหรับกลไกการป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการหลั่งสาร 5-HT และการลดการนำกระแสประสาทของเซลล์สมอง แม้ยานี้จะใช้ได้ผลดีแต่อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ ง่วงซึม ซึมเศร้า และถ้าหากใช้ยานี้ในปริมาณที่สูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางและส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อลายได้ โดยอาการที่พบมักเป็น อาการเดินได้ช้าลง ก้าวเดินผิดปกติ มือสั่น กล้ามเนื้อลิ้นพลิก พูดไม่ชัด ในปัจจุบันจึงรณรงค์ให้ลดการใช้ยานี้ลง

 

อาหารเสริม…กับไมเกรน

Magnesium

มีการศึกษาที่พบว่าแมกนีเซียมขนาด 400-500 mg ต่อวัน (maxdose 1200 mg/day) นานต่อเนื่อง 3-4 เดือน สามารถช่วยป้องกันการเกิดไมเกรนกลุ่มที่มีอาการนำ(Migraine with aura)  และจะได้ผลดีมากในกลุ่มที่ปวดไมเกรนขณะมีรอบเดือน เนื่องจากการมีปริมาณแมกนีเซียมที่เพียงพอในร่างกายสามารถช่วยลดการส่งสัญญาณ CSD ไปยังสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดรับรู้เป็นแสงออร่าได้ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการทำงานของเกร็ดเลือด และลดการหลั่งสารเคมีที่กระตุ้นให้เกิดการรู้สึกเจ็บปวด เช่น Substance P และ glutamate อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดเส้นเลือดหดตัวจากสาร serotonin โดยปิดกั้นการแลกเปลี่ยนcalcium-potassium channels บนเซลล์กล้ามเนื้อลาย ส่วนอาการข้างเคียงของเเมกนีเซียมที่พบบ่อยคือ ทำให้ท้องเสีย หรือไม่สบายท้อง 

Riboflavin (Vitamin B2) :

เนื่องจากผู้ป่วยไมเกรน มักจะมีกระบวนการสร้างพลังงานระดับเซล์ (Phosphorylation potential) ที่สมองและกล้ามเนื้อลดลง ซึ่ง riboflavin สามารถช่วยเพิ่มการทำงานในส่วนนี้ได้ เนื่องจากตัวมันเป็นสารตั้งต้นของ coenzyme ที่ใช้ในกระบวนการ electron transfer และมันยังสามารถกระตุ้นให้ไมโตคอนเดรียผลิตพลังงานเพิ่มขึ้นได้ 

มีงานวิจัยที่ให้ข้อมูลว่า riboflavin สามารถป้องกันการเกิดไมเกรนได้อย่างปลอดภัยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ ราคาไม่สูง และ ไม่ตีกันกับ ยาตัวอื่น แต่อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบบ่อย คือ ทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม  โดยขนาดยาที่เเนะนำ คือ riboflavin 200 mg วันละ 2 ครั้ง

Coenzyme Q10 :

CoQ10 เป็น potent antioxidant และเป็นส่วนประกอบในกระบวนการเพิ่มพลังงานระดับเซลล์ โดยเฉพาะในอวัยวะที่มีอัตราการเมแทบอลิซึมสูง เช่น สมอง ซึ่ง CoQ10 ในส่วนนี้จะลดระดับลงได้รวดเร็วมาก มีการศึกษาที่พบว่าสารนี้สามารถช่วยป้องกัน และลดความถี่ของอาการไมเกรนได้ โดยขนาดที่แนะนำ คือ 100-300 mg/day ทานต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน อาจมีอาการข้างเคียงเกี่ยวกับทางเดินอาหารเล็กน้อย ราคาค่อนข้างสูง และสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย ในหญิงตั้งครรภ์

Melatonin :

Melatonin เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้นาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) สมดุล จึงช่วยปรับสมดุลวงจรการนอนหลับได้ ซึ่งมีการศึกษาที่ยืนยันว่าเมลาโทนินนี้มีฤทธิ์เป็น potent antioxidant และมีฤทธิ์ในการบรรเทาปวด ซึ่งพบว่าในผู้ป่วยไมเกรนจะมีฮอร์โมนชนิดนี้น้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการปวดแบบเฉียบพลัน มีการศึกษาที่พบว่าเมลาโทนินสามารถลดความถี่ของการเกิด migraine attack ได้ อีกทั้งยังลดการปวดศีรษะชนิดอื่นได้เช่นกัน ขยาดที่แนะนำคือ melatonin 2-12 mg สามารถเพิ่มขนาดได้ทุก 4 สัปดาห์

 

👩🏻พฤติกรรม…เลี่ยงไมเกรน

  • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่เครียดจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรน เช่น ยีสต์ ช๊อคโกแลต อาหารแปรรูป แอลกอฮอลล์ อาหารแปรรูป เป็นต้น
  • นอนพักในที่มืดและเงียบสงบ
  • ประคบเย็นบริเวณศีรษะ
  • ปรับพฤติกรรมการนอนให้ตรงเวลา และนอนอย่างเพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ลดการใช้สายตาที่มากเกินไป

 

อ้างอิง