Skip to content

“จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย ทำไมมันปวดมันเมื่อยไม่หายซักที, ปวดซ้ำๆ ปวดทุกวี่ทุกวัน ทำงานไม่ไหวแล้ว”

หลายๆคนคงเคยประสบปัญหาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังแบบนี้ ทั้งแบบทราบสาเหตุ เช่น ยกของหนัก เล่นกีฬา หรือแบบไม่ทราบสาเหตุ แต่อย่างไรก็ตามการปวดกล้ามเนื้อย่อมส่งผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังลดประสิทธิภาพการทำงานด้วย ดังนั้นการปวดเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว

 

อะไรคือการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง?
  • โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง หรือ Myofascial Pain Syndrome (MPS) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด โดยเกิดอาการปวดร้าว ณ จุดที่ไวต่อการกระตุ้น หรือที่เรียกว่า Trigger points (Trp) ที่มักแฝงอยู่ในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดทั่วร่างกาย จากนั้นอาการปวดก็จะแผ่กระจายออกไปยังส่วนต่างๆของบริเวณกล้ามเนื้อนั้น ซึ่งรูปแบบการปวดก็จะแตกต่างกันไปตามกลุ่มกล้ามเนื้อนั้นๆ และการปวดจะไม่เป็นไปตามการกระจายตัวของเส้นประสาท ในบางคน
  • อาการปวดอาจหายได้เอง แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดต่อเนื่องเรื้อรัง และมีอาการแย่ลง บริเวณที่พบการปวดได้บ่อย คือ คอ บ่า หลัง ไหล่ และหลังส่วนล่าง กลุ่มอาการนี้พบได้บ่อยถึง 30 % ในผู้ป่วยทางกระดูกและกล้ามเนื้อ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุประมาณ 30-60 ปี
  • สาเหตุของการปวดมักเกิดจากการใช้งานมัดกล้ามเนื้อเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง เช่น เกิดจากการนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ, การเล่มกีฬาโดยใช้กล้ามเนื้อเดิมซ้ำๆทุกวัน พอเราใช้กล้ามเนื้อนั้นอย่างต่อเนื่อง กล้ามเนื้อจะเกร็งตัวสะสมจนทำให้เลือดเข้าไปไหลเวียนได้น้อย เมื่อใช้ปลายนิ้วกดคลําจะพบเป็นก้อนพังผืดแข็งๆ หรือตึงเปนลําอยูภายในขนาดประมาณ 0.5-1 ซม. ซ่อนอยู่ในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ จนสุดท้ายกล้ามเนื้อจะขาดเลือดและออกซิเจน เกิดการคั่งค้างของของเสียจากการเมตาบอไลท์ จนเกิดเป็นการอักเสบ บวม และปวดร้าวไปยังบริเวณใกล้เคียง

 

อาการของการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง สามารถสังเกตอาการได้ว่า จะมีอาการ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดร้าวลึกๆ ของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาจปวดตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะเวลากดแล้วรู้สึกเจ็บ ความรุนแรงของการปวด มีตั้งแต่เริ่มรำคาญไปจนถึงทรมานจนไม่สามารถขยับบริเวณนั้นได้ บางรายอาจมีอาการมือชา เท้าชา และขาชาร่วมด้วย และบางรายอาจมีอาการนอนหลับยาก หรือถึงขั้นนอนไม่หลับ และขั้นที่เลวร้ายอาจลามไปถึงโรคที่เกี่ยวกับกระดูกเลยทีเดียว

 

ประเภทของ  Myofascial pain syndrome(MPS)
  1. Acute Myofascial pain syndrome คือ Myofascial pain syndrome ที่เป็นมาไม่นานเกินสองเดือน ส่วนใหญ่มักพบสาเหตุหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิด muscle overload ชัดเจน เช่น ปวดหลังจากถูพื้น ไปยกของหนัก หรือหกล้มหลังกระแทก ทำให้มีการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อ เกิดเป็น Trigger Point ตามมา เมื่อเวลาผ่านไปอาการต่างๆมักจะดีขึ้นตามลำดับ
  2. Subacute Myofascial pain syndrome คือ Myofascial pain syndrome ที่มีอาการมากกว่า 2 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน
  3. Chronic Myofascial pain syndrome คือ Myofascial pain syndrome ที่เป็นมาเป็นเวลานานมากกว่า 6 เดือน มีการรบกวนต่อการนอนหลับ บั่นทอนสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตในด้านส่วนตัว ครอบครัวและสังคมได้บ่อย

 

แนวทางการรักษา  Myofascial pain syndrome(MPS)
การรักษาระยะสั้น 
  • เป็นการรักษาที่เรามักจะเลือกเป็นทางแรกเมื่อมีอาการเจ็บป่วย นั่นก็คือการใช้ยานั่นเอง ซึ่งยาที่ใช้แก้ปวดอักเสบของกล้ามเนื้อมักเริ่มต้นด้วยยาที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างพาราเซตามอล(paracetamol) ข้อควรระวังคือควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคตับ และห้ามรับประทานเกิน 4  g/วัน และหากเมื่อใช้ไปซักพักอาจพบว่าพาราฯลดอาการปวดไม่ไหวแล้ว อาจเปลี่ยนมาใช้กลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียร์รอยด์ หรือNSAIDs  เช่น Ibuprofen Diclofenac Naproxen Meloxicam Etoricoxib Celecoxib เป็นต้น
  • ประสิทธิภาพของยาในกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันมากนัก เราจึงมักเลือกตามอาการข้างเคียงของยาแต่ละตัวในเหมาะสมกับภาวะของคนไข้ ดังนั้นการซื้อยาจึงควรซื้อจากร้านยาที่มีเภสัชกรเท่านั้น ซึ่งอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้นจึงควรรับประทานหลังอาหารทันที และหากมีการใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อการเกิดโรคทางหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงโรคไตได้อีกด้วย ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงเหมาะกับการใช้ชั่วคราวเฉพาะเมื่อมีอาการปวดเท่านั้น ซึ่งก็คงหลีกเลี่ยงได้ยากมากสำหรับอาการปวดเรื้อรังเช่นนี้ ยากลุ่มต่อมาที่ไว้ใช้เป็นทางเลือกสำหรับการปวดที่รุนเเรงสุด คือ ยากลุ่มโอปิออยด์ เช่น Tramadol Morphine(มีเฉพาะในโรงพยาบาล) สาเหตุหนึ่งที่เราเก็บยากลุ่มนี้ไว้เป็นทางเลือกสุดท้ายก็เพราะ ยากลุ่มนี้มีอาการข้างเคียงเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นง่วงซึม คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก ตลอดจนกดการหายใจ และกระตุ้นการชักได้
  • นอกจากนี้ก็ยังมีการรักษาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังด้วยการฉีดยา (Trigger Point Injection) โดยใช้วิธีการฉีดยาชาลงไปในบริเวณ Trigger Point  วิธีนี้เป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายและให้ผลการรักษาที่ดี แต่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีจึงจะสามารถทำได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ส่วนวิธีอื่นๆที่อาจได้ผล คือ การนวดกดจุด การฝังเข็ม การประคบร้อน เป็นต้น

 

การรักษาระยะยาว : การใช้อาหารเสริมเป็นตัวช่วยในการป้องกันและรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ที่สามารถใช้ต่อเนื่องได้อย่างปลอดภัย เเละเห็นผลได้ดีในระยะยาว โดยอาหารเสริมที่แนะนำ มีดังนี้
Curcumin

เป็นสารสกัดจากขมิ้นชัน ที่มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้ และยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่ายังสามรถลดอาการปวดข้อในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมได้ โดยที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้ยาแก้ปวด Ibuprofen ทั้งผลต่อกระเพาะอาหาร และภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด และภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างชัดเจน โดยขนาดที่แนะนำคือ สารสกัดจากขมิ้นชัน 200-500 มิลกรัม (เลือกยี่ห้อที่ที่มีสารเคอร์คูมินอยด์อยู่ 95%) 2-3 ครั้งต่อต่อวัน

Coenzyme Q10

โคเอนไซม์คิวเท็น (CoQ10) เป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวร่วมในปฏิกิริยาการสร้างพลังงานภายในไมโตคอนเดรีย ซึ่งจำเป็นมากต่อการทำงานของเเทบทุกเซลล์ในร่างกาย โดยเฉพาะในเซลล์ที่มีความต้องการใช้พลังงานสูง เช่น หัวใจ ตับ ไต รวมไปถึงเซลล์กล้ามเนื้อด้วยเช่นกัน ด้วยฤทธิ์ต้านอนุมลอิสระ และช่วยสร้างพลังงานให้กับเซลล์ จึงสามารถนำมาช่วยฟื้นฟูการปวดอักเสบของกล้ามเนื้อได้ จะเห็นได้ว่า CoQ10 เอง ยังถูกนำมาใช้ในกรณีที่กล้ามเนื้อถูกทำลายจากการใช้ยาลดไขมันกลุ่ม Statins ซึ่งสามาถช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อในการทำกิจกรรมประจำวันของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี โดยขนาดที่แนะนำ คือ 100-300 mg/day

L-glutamine

เป็นกรดอะมิโนที่มีมากที่สุดในร่างกาย ซึ่งมีอยู่ถึง 60% ในโครงกระดูกกล้ามเนื้อและมากกว่า 20% โดยตัวมันมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์ growth hormones ที่มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และยังช่วยสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกล้ามเนื้อได้ จะเห็นว่ากลูตามีนถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่นักกีฬา หรือผู้ที่เข้าฟิตเน็ตเป็นประจำ  สำหรับขนาดที่ควรได้รับโดยทั้วไปประมาณ 3-6 กรัมต่อวัน โดยเพิ่มขนาดได้จนถึง 40 กรัมต่อวัน

Omega-3 

เป็นที่ทราบกันอย่างแพร่หลายแล้วว่าโอเมก้า-3 สามารถช่วยบรรเทาอาการอักเสบต่างๆของทั้งข้อ และเนื้อเยื่อในร่างกายได้ โดยรายงานการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Surgical Neurology ระบุว่าน้ำมันปลาสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดคอหรือปวดหลังเรื้อรัง โดยทำการศึกษากับผู้ป่วย 250 คนพบว่าหลังจากรับประทานน้ำมันปลา 75 วัน ผู้ป่วยประมาณ 59% สามารถเลิกรับประทานยาแก้ปวดต่างๆได้ ผู้ป่วยประมาณ 60% พบว่าอาการปวดหลังและปวดคอลดลง และผู้ป่วยกว่า 88% รู้สึกพึงพอใจกับผลที่ได้รับและยืนยันที่จะรับน้ำมันปลาต่อ โดยขนาดของ Fish oil ที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการลดอาการปวดกล้ามเนื้อสูงสุดคือ 3-5 g/day (1400 mg of EPA/ 1000 mg of DHA)

Vitamin D3

วิตามินดีเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อของร่างกายเป็นอย่างมาก มีการศึกษาที่บ่งบอกว่าผู้ที่มีปัญหาการปวดกล้ามเนื้อมักจะมีระดับบวิตามินดีต่ำกว่าเกณฑ์ปกติทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาจเนื่องมาจากการที่มีระดับวิตามินดีต่ำ จะส่งผลให้ตัวรับความรู้สึกปวด (Nociceptors) มีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการได้รับวิตามินดีที่เพียงพอจึงช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้ในระยะยาว โดยขนาดที่แนะนำคือ vitamin D3 800-100 units/day หรือขึ้นอยู่กับระดับการขาดวิตามินดีของแต่ละบุคคล 

Vitamin B

วิตามินบีเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื่อเยื่อที่ห่อหุ้มเส้นประสาท (myelin sheath) อีกทั้ง B6 และ B12 มีส่วนช่วยในการลด Homocysteine ตัวการที่สร้างการอักเสบ นอกจากนี้ยังพบการใช้B3 ในการลดปวดในผู้ป่วยข้ออีกเสบ (osteoarthritis)ได้ จึงยืนยันได้ว่าวิตามินบีมีส่วนช่วยในการลดปวด ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงข้อต่อในร่างกายได้

Magnesium

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่ทำงานร่วมกับแคลเซียมในการส่งกระแสประสาทจึงมีผลต่อการบีบตัวของทั้งกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลาย โดยตัวแมกนีเซียมเองสามารถช่วยคลายกล้ามเนื้อ ต้านการกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ลดการเกิดตะคริวและอ่อนล้าของกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย ขนาดที่แนะนำคือ 250-500 mg/day