Skip to content

ไขมันพอกตับ (fatty liver)

เป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ (โดยมากมักจะเป็นไขมันชนิด triglyceride) โดยจะสามารถแบ่งได้ สองกลุ่มใหญ่ๆ ตามสาเหตุได้แก่

  1. ไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (alcoholic fatty liver disease)
  2. ไขมันพอกตับจากสาเหตุอื่น (non-alcholic fatty liver disease; NAFLD) เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและโรค metabolic disease กล่าวคือเมื่อมีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินในร่างกายมากเกินไป น้ำตาลเหล่านี้จะถูกนำไปสร้างเป็นไขมัน ผ่านกระบวนการ Lipogenesis ที่เกิดขึ้นที่ตับ นอกจากนี้อาจเกิดจากพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว หรือภาวะขาดสารอาหารก็อาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน

ไขมันพอกตับที่เกิดจากพฤติกรรมมักจะสอดคล้องกับภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคเบาหวาน กล่าวคือร่างกายไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินซึ่งผลิตจากตับอ่อนมาทำหน้าที่ในการดึงน้ำตาลจากกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ต่างๆ รวมถึงเซลล์ตับ หากพบว่าไม่สามารถรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้ ตับอ่อนจะผลิตและหลั่งอินซูลินออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันกับที่เซลล์ตับจะสะสมไขมันมากขึ้นด้วย

เมื่อมีภาวะไขมันพอกตับมักจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น หรือมีอาการแต่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดตึงบริเวณชายโครงขวา เป็นต้น วิธีการที่จะรู้ว่าเรามีภาวะไขมันพอกตับจะต้องทำการตรวจร่างกายในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ตรวจ Liver function test, ultrasound ช่องท้อง, Dexa scan whole body, Fibroscan หรือการตรวจความยืดหยุ่นและประเมินไขมันสะสมภายในเนื้อตับ เป็นต้น

คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับ ประกอบด้วย

  • คนอ้วน (หมายถึงชายที่มีรอบเอว >40นิ้ว หรือหญิงที่มีรอบเอว >35นิ้ว)
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 150 mg/dl
  • ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง

อันตรายจากภาวะไขมันพอกตับ 

  • ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายซึ่งทำหน้าที่ในการขจัดสารพิษรวมถึงเป็นแหล่งสร้างพลังงานให้กับร่างกาย ดังนั้นเมื่อการทำงานของตับบกพร่องไป มีโอกาสทำให้เกิดการคั่งของสารพิษในกระแสเลือดได้
  • เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากเป็นสัญญาณว่าร่างกายมีการสะสมของคอเลสเตอรอลมากเกินไป ซึ่งจะตกตะกอนเป็นนิ่วได้
  • หากปล่อยให้มีการสะสมไขมันที่ตับไปนานๆ จะยิ่งเร่งกระบวนการอักเสบ ซึ่งเซลล์ตับจะถูกทำลายและพยายามซ่อมแซมตัวเองจดเกิดภาวะที่เป็นพังผืด และทำให้เป็นโรคตับแข็ง ซึ่งในระยะนี้จะไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาเป็นสภาพเดิมได้แล้ว และอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด

ปกป้องตับของคุณก่อนที่จะสายเกินไป!

  • ปรับพฤติกรรมการบริโภค: หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง แป้งและน้ำตาล, เพิ่มการรับประทานผักผลไม้สด ถั่ว ธัญพืช (ผักบางชนิดที่ช่วยขับล้างสารพิษออกจากตับ เช่น broccoli garlic กะหล่ำ หัวหอม), ทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน, ทานไขมันคุณภาพสูง เช่น Olive oil, Avocado, Omega-3 Fish oil
  • พิจารณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยขับสารพิษออกจากตับ: Milk thistle, ALA, NAC, สารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ เช่น วิตามินอี
  • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนัก