Skip to content

5-HTP เป็นชื่อย่อของโมเลกุล 5-hydroxytryptophan ซึ่งผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพมาจากกรดอะมิโนจำเป็นอย่าง ทริปโตเฟน (Tryptophan) (กรดอะมิโนจำเป็นหมายถึง กรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ จะได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น) 5-HTP มักนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างแพร่หลาย 5-HTP เป็นสารตั้งต้นที่จะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทสำคัญกับการทำงานของสมองและอารมณ์

Serotonin มีบทบาทในร่างกายคนเราอย่างไรบ้าง ?

  • เซโรโทนินพบได้ 90 % ในเซลล์บริเวณเยื่อบุทางเดินอาหาร (พบได้มากที่สุดที่ลำไส้) เมื่อหลั่งเข้าสู่กระแสเลือด เซโรโทนินจะถูกดูดซึมไปใช้ที่สมอง
  • เซโรโทนินในสมองทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอารมณ์ ในสภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเซโรโทนินปกติ คุณจะรู้สึกมีสมาธิ อารมณ์คงที่ มีความสุขและสงบ การที่ระดับฮอร์โมนเซโรโทนินต่ำนั้นมีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ยาส่วนใหญ่สำหรับการรักษาอาการวิตกกังวลและโรคซึมเศร้าจะมีกลไกทำงานในการเพิ่มระดับเซโรโทนินในสมอง
  • นอกจากการทำงานในสมอง เซโรโทนินที่พบในทางเดินอาหารยังมีส่วนช่วยในการควบคุมการทำงานของการบีบตัวของลำไส้และปกป้องทางเดินอาหาร เมื่อร่างกายมีสิ่งแปลกปลอมหรือสารพิษในทางเดินอาหาร เซโรโทนินจะหลั่งมากขึ้นเพื่อเร่งการย่อยทำลายอาหารนั้นและทำให้คุณรู้สึกไม่อยากอาหาร และเช่นเดียวกัน ในเวลาที่คุณรู้สึกคลื่นไส้ หนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุนั้นเป็นเพราะสมองรับรู้ได้ว่ามีการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนินปริมาณมากและหลั่งอย่างรวดเร็วในทางเดินอาหาร ดังนั้นจึงมีการใช้ยาในการบรรเทาอาการคลื่นไส้ที่มีฤทธิ์ต่อตัวรับเซโรโทนินอย่างจำเพาะในสมองด้วย
  • เซโรโทนินยังทำงานร่วมกันกับโดพามีนในการควบคุมคุณภาพการนอนหลับ โดยร่างกายยังต้องอาศัยเซโรโทนินในการสร้างฮอร์โมนที่สำคัญกับการนอน นั่นคือ เมลาโทนิน ที่ทำให้ sleep-wake cycle หรือ circardian rhythm ของคุณเป็นไปอย่างปกติ
  • เซโรโทนินที่หลั่งโดยเกล็ดเลือด (platelets) มีประโยชน์ต่อกระบวนการสมานแผล และช่วยในการหดหลอดเลือดฝอยเล็ก ๆ บริเวณบาดแผล ทำให้เลือดหยุดไหลได้
  • ระดับเซโรโทนินยังมีบทบาทต่อมวลกระดูกอีกด้วย โดยหากมีระดับของเซโรโทนินในทางเดินอาหารมากเกินไปอาจทำให้กระดูกอ่อนและเปราะง่าย และอาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุนได้
  • เซโรโทนินมีบทบาทต่อสุขภาวะทางเพศ ทำงานร่วมกันกับโดพามีนในการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศด้วย

จะเกิดอะไรขึ้นหากร่างกายขาดเซโรโทนิน ?

เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายมีระดับเซโรโทนินที่ต่ำเกินไป มักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางสุขภาพ อาทิ ภาวะซึมเศร้าและปัญหาทางอารมณ์ วิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder หรือ OCD) โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ (Post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) โรคแพนิค โรคจิตเภท ปัญหาการนอนหลับ ปัญหาระบบการย่อยอาหาร  เป็นต้น

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เซโรโทนินไม่เพียงพอ และต้องทำอย่างไรให้เพิ่มขึ้น ?

โดยปกติระดับเซโรโทนินในร่างกายจะลดต่ำลงได้จะมาจากหลายสาเหตุประกอบกัน อธิบายได้ 2 สาเหตุหลักคือ ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เซโรโทนินได้มากเพียงพอต่อการใช้งาน และ ร่างกายไม่สามารถนำเซโรโทนินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังนั้น การเพิ่มปริมาณเซโรโทนินในร่างกายจะสามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารที่มีกรดอะมิโนทริปโตเฟนให้มากขึ้น โดยอาหารที่เป็นแหล่งของกรดอะมิโนทริปโตเฟน ได้แก่ แซลมอน ไข่ ชีส เต้าหู้ สับปะรด ถั่วและเมล็ดธัญพืช แต่อย่างไรก็ตาม  อาจมีข้อจำกัดในผู้ที่แพ้อาหารดังกล่าว และกระบวนการย่อยสลายสารอาหารและดูดซึมกรดอะมิโนทริปโตเฟนไปใช้ประโยชน์มีความซับซ้อนหลายขั้นตอน จึงมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มขึ้นและหาทางเลือกในการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 5-HTP เพื่อแก้ปัญหา

https://www.researchgate.net/figure/Biosynthesis-of-serotonin-5-HT-Tryptophan-is-converted-into-5-hydroxytryptamine_fig1_273640973

จากภาพกระบวนการสังเคราะห์เซโรโทนินในร่างกาย จะเห็นได้ว่า ในการเปลี่ยนกรดอะมิโนทริปโตเฟนไปเป็นเซโรโทนิน จะถูกเปลี่ยนเป็นโมเลกุล 5-HTP ก่อนเสมอ จึงกล่าวได้ว่า 5-HTP เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะกำหนดอัตราการผลิตเซโรโทนินในสมอง นอกจากนี้ การรับประทานทริปโตเฟนขนาดปกติมีเพียง 3% เท่านั้นที่จะถูกเปลี่ยนเป็นเซโรโทนิน ในทางตรงกันข้าม มากกว่า 70% ของขนาดยา 5-HTP แบบรับประทานจะได้รับการแปลงเป็นเซโรโทนิน ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว การเสริม 5-HTP จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการเสริมกรดอะมิโนทริปโตฟาน

คุณประโยชน์ของ 5-HTP ในฐานะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

  • มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าจากการเพิ่มระดับเซโรโทนินในสมอง จากการศึกษาวิจัยอาสามัครเพศหญิง 15 คน พบว่าการรับประทาน 5-HTP ร่วมกับ creatine ช่วยให้อาการป่วยจากโรคซึมเศร้าดีขึ้นใน 8 สัปดาห์ และนอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้รับประทาน 5-HTP เสริมในผู้ที่รับประทานยากลุ่มต้านซึมเศร้า เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้นด้วย
  • ช่วยเรื่องการนอนหลับ จากการเพิ่มปริมาณการผลิตเมลาโทนิน  เนื่องจากเซโรโทนินจะถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นเมลาโทนิน ดังนั้น การเสริม 5-HTP จึงสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนได้ มีการศึกษาในปี 2010 โดยการรับประทาน 5-HTP ควบคู่กับ gamma-aminobutyric acid (GABA) ทำให้ใช้ระยะเวลาการเข้านอนจนหลับไปได้น้อยลง นอนหลับได้นานยิ่งขึ้น และเพิ่มคุณภาพการนอน
  • มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักเนื่องจากฤทธิ์ในการควบคุมความอิ่ม โดย 5-HTP ทำงานหักล้างฮอร์โมนที่กระตุ้นความหิวและความอยากอาหาร จากการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวาน 20 ราย พบว่าผู้ที่รับประทาน 5-HTP มีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้ยาหลอก โดยปริมาณพลังงานที่ได้รับต่อวันของกลุ่มที่ได้ 5-HTP น้อยกว่าอีกกลุ่มถึง 400 กิโลแคลอรี่

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการรับประทาน 5-HTP

5-HTP อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและคลื่นไส้ เมื่อมีการใช้ 5-HTP สำหรับเป้าหมายอื่นนอกเหนือจากเครื่องช่วยการนอนหลับตอนกลางคืน ปริมาณเริ่มต้นคือ 50 มก. วันละ 3 ครั้ง หากการตอบสนองไม่เพียงพอหลังจากผ่านไปสองสัปดาห์ สามารถเพิ่มขนาดเป็น 100 มก. วันละ 3 ครั้ง  เมื่อใช้ 5-HTP เพื่อส่งเสริมการนอนหลับ ปริมาณปกติคือ 50 – 150 มก. ประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน ทางที่ดีควรเริ่มด้วยขนาดยา 50 มก. เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันก่อนเพิ่มปริมาณยา 5-HTP สามารถรับประทานพร้อมกับอาหารได้ แต่หากรับประทานเพื่อลดน้ำหนัก ให้รับประทานก่อนอาหาร 20 นาที

ทั้งนี้ การรับประทานเสริม 5-HTP อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน ควรหลีกเลี่ยงในกรณีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งที่เกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญกรดอะมิโนทริปโตเฟน และหากคุณมียาอื่น ๆ สำหรับรักษาโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยญชาญหรือเภสัชกรก่อนเริ่มรับประทานเพื่อคัดกรองเบื้องต้นเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาร่วมกับ 5-HTP

เอกสารอ้างอิง
  1. Cleveland Clinic. Serotonin: What Is It, Function & Levels [internet]. 18 Mar 2022
    [cited 6 Aug 2023] Available from:http://my.clevelandclinic.org/health/articles/22572-serotonin
  2. Richter A, Walle G VD.5 Science-Based Benefits of 5-HTP (Plus Dosage and Side Effects) [internet]. 1 Mar 2023 [cited 6 Aug 2023]. Available from: https://www.healthline.com/nutrition/5-htp-benefits
  3. Lake J. L-Tryptophan and 5-Hydroxytryptophan in Mental Health Care [internet]. 29 Sep 2017 [cited 6 Aug 2023]. Available from: https://www.psychologytoday.com/us/blog/integrative-mental-health-care/201709/l-tryptophan-and-5-hydroxytryptophan-in-mental-health?eml