Skip to content

เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในชั้นหนังแท้ลึกถึงชั้นไขมัน พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย พบได้ทุกตำแหน่งของผิวหนัง แต่พบมากบริเวณขา เป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ภายในระยะเวลา 3 ปี หากไม่รักษาหรือได้รับการดูแลรักษาอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม อาจทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อ การติดเชื้อในกระดูก หรือการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

สาเหตุของการเกิดเนื้อเยื่ออักเสบ

ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ Streptococcus spp. และ Staphylococcus spp. ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้บริเวณผิวหนังซึ่งโดยปกติจะไม่ก่อโรค แต่เมื่อเกิดบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น มีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยแตกของผิวหนัง ทำให้เชื้อที่ผิวหนังเหล่านี้เข้าสู่ผิวหนังชั้นลึกและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนทำให้เกิดโรคในที่สุด อย่างไรก็ตามนอกจากเชื้อแบคทีเรียที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ที่สามารถเป็นสาเหตุของการเกิดเนื้อเยื่ออักเสบได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเนื้อเยื่ออักเสบ เช่น

  1. มีแผลบริเวณผิวหนัง
  2. มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เป็นโรคตับแข็ง มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
  3. ภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ กำลังได้รับยากดภูมิ 
  4. เป็นโรคอ้วน หรือมีเส้นเลือดตีบหรือมีปัญหาเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายไม่ดี
  5. มีประวัติเคยติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นลึกมาก่อน
  6. สัมผัสกับน้ำที่มีเชื้อก่อโรค เช่น เล่นน้ำทะเลและถูกเปลือกหอยหรือปะการังบาดจนเกิดเป็นแผล และมีเชื้อโรคเข้าไปยังบริเวณรอยแผลหรือรอยแตกนั้น

อาการของโรค

  1. มีไข้ เบื่ออาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้สูง
  2. มีผื่นแดงที่ลุกลามได้อย่างรวดเร็ว ขอบเขตของผื่นไม่ชัดเจนเนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นลึก ลักษณะผื่นไม่ยกนูน 
  3. มักเกิดบริเวณขาหรือเท้า แต่อาจพบที่บริเวณส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ใบหน้า แขน มือ 
  4. มีอาการบวมแดง ร้อนที่ผิวหนัง และอาจมีอาการปวด กดเจ็บบริเวณผิวหนังส่วนที่มีการติดเชื้อ
  5. อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ 
  6. อาจเกิดเนื้อตาย
  7. เชื้อโรคอาลุกลามเข้ากระแสเลือดและนำไปสู่การเกิดโลหิตเป็นพิษได้
  8. ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดไตอักเสบเฉียบพลัน

อาการที่ต้องรีบไปพบแพทย์

  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • ผิวหนังมีสีแดงเข้มหรือเปลี่ยนสีเป็นสีม่วง
  • มีอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว
  • หากการติดเชื้อเกิดบริเวณใบหน้า ผู้ป่วยไม่สามารถกรอกตา หรือผู้ป่วยมีอาการตาโปน
  • หมดสติ
  • ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือภูมิคุ้มกันต่ำ

การดูแลรักษา

  • ในรายที่อาการไม่มาก และผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว อาจให้การรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ 
  • ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ เน้นโปรตีนและผักผลไม้
  • ระมัดระวังอย่าให้แผลถูกน้ำ
  • ให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ พักบริเวณอวัยวะที่มีการติดเชื้อ
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
  • ประคบอุ่น 
  • ยกบริเวณอวัยวะที่ติดเชื้อให้สูงขึ้น เพื่อลดบวม

การป้องกัน

  • พยายามดูแลผิวพรรณให้มีความแข็งแรง ชุ่มชื้นอยู่เสมอ หากผิวแห้งควรทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิว
  • หลี่กเลี่ยงการแกะหรือเกาผิวหนังเพราะอาจทำให้เกิดแผล โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน
  • หากเกิดบาดแผลขึ้นควรดูแลรักษาทำความอย่างเหมาะสม หรือใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ปิดแผลเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและลดโอกาสในการติดเชื้อ
เอกสารอ้างอิง
  1. Goldsmith LA, Katz S, Gilchrest B, Paller A, Leffell D and Wolff K, editors. Fitzpatrick’s Dermatology in  General Medicine. 8th ed. USA: The McGraw-Hill companies; 2012
  2. Elizabeth Webb, M.P.H., Teresa Neeman, Ph.D., Francis J. Bowden, M.D., Jamie Gaida, Ph.D., Virginia Mumford, Ph.D., and Bernie Bissett, Ph.D. Compression Therapy to Prevent Recurrent Cellulitis of the Leg August 13, 2020 N Engl J Med 2020; 383:630-639