Skip to content

สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีอายุไขแตกต่างกัน เช่น แมลงวันอายุขัยนานประมาณ 5 สัปดาห์ นกกระสา 24 ปี อูฐ 40 ปี ปลาวาฬ 100 ปี ในขณะที่ปะการังแดงมีชีวิตได้ยาวนานถึง 500 ปี!!!! นักวิทยาศาสตร์มากมายพยายามค้นหาคำตอบว่าอะไร คือ ปัจจัยให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีอายุขัยแตกต่างกัน 

ดร. อลิซาเบธ แบล็กเบิร์น ได้ค้นพบความสำคัญของเทโลเมียร์และเอ็นไซม์เทโลเมอเรส เทโลเมียร์ คือ ส่วนที่หุ้มปลายของโครโมโซม ทำหน้าที่ปกป้องสายดีเอ็นเอ (DNA) ไม่ให้โดนทำลาย ทุกครั้งที่เซลล์มีการแบ่งตัวจะทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลง ถ้าเราเปรียบสายดีเอ็นเอเสมือนเชือกรองเท้า เทโลเมียร์จะเปรียบได้กับปลอกหุ้มปลายเชือกรองเท้าที่ปกป้องไม่ให้เชื่อกรองเท้าหลุดรุ่ย 

พบว่าแต่ละคนมีเทโลเมียร์ตั้งต้นมาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม เชื้อชาติ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เทโลเมียร์จะค่อย ๆ หดสั้นลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ในผู้ที่มีสุขภาพดีจะมีค่าความยาวเฉลี่ยของเทโลเมียร์สูงกว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าผู้ที่มีค่าเฉลี่ยของเทโลเมียร์จากเม็ดเลือดขาวสั้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย

“เทโลเมียร์” ดัชนีชี้วัดความแก่ที่แท้จริง

จะสังเกตุเห็นว่าในบางคนอายุมากกลับมีผิวพรรณผ่องใส่ ดูอ่อนวัยกว่าอายุจริง ในขณะที่บางคนกลับมีปัญหาสุขภาพหรือผิวพรรณ ที่ดูแก่กว่าอายุจริงที่ควรจะเป็น เพราะแท้จริงแล้วร่างกายของเราไม่ได้เสื่อมถอยตามกาลเวลาเท่านั้น เป็นที่ทราบดีว่าความยาวของเทโลเมียร์สัมพันธ์กับความเสื่อมชราของร่างกาย ปัจจุบันจึงมีการใช้ความยาวของเทโลเมียร์ในการประเมินสภาวะร่างกายว่าสมวัยหรือไม่ อ่อนวัยหรือแก่ชราเกินอายุจริง

เทโลเมียร์ตัวบ่งชี้ความอ่อนเยาว์ เทโลเมียร์ยาว ย้อนวัยชะลอวัย (อายุยาว) เทโลเมียร์สั้น แก่ก่อนวัย (อายุสั้น) เทโลเมียร์จะมีความยาวมากที่สุดเมื่อแรกคลอดและจะหดสั้งลงเรื่อย ๆ  โดยการหดลงของเทโลเมียร์จะสั้นเร็วช้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ อาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย พฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลและเมื่อเทโลเมียร์หดสั้นถึงระดับหนึ่ง เซลล์จะเข้าสู่วัยชรา ดังนั้นหากเราสามารถชะลอการหดสั้นของเทโลเมียร์ได้ เราจะสามารถชะลอภาวะเซลล์แก่ได้ จากการค้นพบเหล่านี้ทำให้ อลิซาเบธ แบล็กเบิร์น ได้รับรางวัลโนเบล ในปี 2009

อนุมูลอิสระเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากที่ต่อความยาวของเทโลเมียร์ เซลล์ที่มีอนุมูลอิสระในปริมาณสูง เทโลเมียร์จะหดสั้นลงอย่างมาก พบว่าการเกิด Oxidative stress ภาวะอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้เทโลเมียร์หดสั้น ในผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง  เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าคนกลุ่มนี้มีเทโลเมียร์ที่สั้นกว่ากลุ่มคนปกติ นอกจากนี้ยังพบอีกว่ารังสี UV เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สามารถทำให้โครงสร้างของเทโลเมียร์เสียหายได้

การตรวจวัดเทโลเมียร์ทำได้อย่างไร

การตรวจเทโลเมียร์สามารถทำได้โดยการเจาะเลือดและนำเม็ดเลือดขาวมาตรวจเพื่อเป็นตัวแทนของดีเอ็นเอ ผลการตรวจจะแสดงเป็นตารางเปรียบเทียบให้เห็นว่าช่วงอายุเท่าไหร่ควรมีความยาวของเทโลเมียร์เท่าใด หากผลการตรวจแสดงว่าเทโลเมียร์มีความผิดปกติอาจต้องมีการซักประวัติหรือตรวจร่างกายอย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อตรวจหาโรคหรือความผิดปกติที่อาจแอบแฝงอยู่ เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น การตรวจเทโลเมียร์จะทำให้เรารู้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของเรานั้นมีความเหมาะสมหรือไม่  ทำให้เราสามารถปรับปรุงพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลงมาก ๆ ได้ 

ทำยังไงถึงจะชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ได้?

อาหาร : เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ โซเดียม และน้ำตาลสูง ทานผักและผลไม้หรืออาหารที่มีเส้นใยสูง หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม 

การนอน : นอนหลับให้มีคุณภาพ และเพียงพอ วันละ 7 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย  

ออกกำลังกาย : ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นประจำ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ ต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน

ความเครียด : ลดความวิตกกังวล สวดมนต์ ทำสมาธิเพื่อผ่อนคลายความเครียด บริหารจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม

หลีกเลี่ยง : การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

รับประทานวิตามินต้านอนุมูลอิสระ : มีการศึกษาพบว่าวิตามินที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสามารถช่วยยับยั้งภาวะ Oxidative stress และการอักเสบเรื้อรังได้ สารอาหารเหล่านี้จึงมีส่วนช่วยในการชะลอการหดสั้นลองของเทโลเมียร์

References
1. Turner KJ., Vasu V., and Griffin DK. Telomere biology and human phenotype. Cells 2019 Jan; 8(1):73. Published online, doi:10.3390/cells8010073.

2. Grether-Beck S., Marini A., Jaenicke T. and Krutmann J. French Maritime pine bark extract (Pycnogenol) Effects on human skin: Clinical and Molecular evidence. Skin Pharmacol Physio 2016;29(1):13-7.

3. Zhang Z., Tong X., Wei YL., Zhao L., Xu JY., Qin LQ. Effect of Pycnogenol Supplementation on blood pressure: A Systematic review and meta-analysis. Iran J Public Health 2018 Jun;47(6):779-787.

4. Simpson T., Kure C. and Stough C. Assessing the efficacy and mechanisms of Pycnogenol on cognitive aging from in vitro animal and human studies. Front Pharmacol 2019 Jul;3;10:694. Available online: doi: 10.3389/fphar.2019.00694.