Skip to content

ความเชื่อว่าอาหารหลายชนิด เช่น ยอดผัก หน่อไม้ สัตว์ปีก เป็นสาเหตุให้เกิดโรคเกาต์ได้เนื่องจากอาการเหล่านี้มีปริมาณสารเพียวรีนสูง ความเชื่อนี้ทำให้อาหารหลาย ๆ อย่างต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการทำให้เกิดโรคเกาต์มาอย่างยาวนาน มีการห้ามการรับประทานหรือจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารเหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกาต์รวมทั้งเพื่อช่วยลดโอกาสในการกำเริบของโรค 

อย่างไรก็ตามมีการศึกษาเกี่ยวกับอาหารกับโรคเกาต์ตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine โดยการศึกษานี้ได้ศึกษาในคนที่ไม่มีประวัติเป็นโรคเกาต์มาก่อนจำนวน 47,150 คน พบว่าเมื่อติดตามคนกลุ่มนี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ปี มีจำนวน 730 คน กลายเป็นโรคเกาต์ จากการศึกษานี้ทำให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับอาหารที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคเกาต์ ซึ่งถึงเป็นข้อมูลที่มาจากการศึกษาและคำนวณโดยใช้ค่าสถิติ ซึ่งจะกล่าวต่อไป

โรคเกาต์คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคเกาต์ เป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่มีกรดยูริกอยู่ในกระแสเลือดสูงติดต่อกันเวลานานจนทำให้เกิดเป็นผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ทำให้เกิดการอักเสบ ปวด บวม แดง และหากเกิดการตกตะกอนในเนื้อเยื่อต่าง ๆ จะเกิดเป็นก้อน เรียกว่า โทฟัส 

กรดยูริกในร่างกายกว่า 80% เป็นของเสียที่ร่างกายสร้างขึ้นเองจากการทำลายเซลล์ที่หมดอายุ และอีก 20% ร่างกายได้รับจากการบริโภคอาหาร โดยทั่วไปร่างกายจะขับกรดยูริกทางไตโดยออกไปกับน้ำปัสสาวะ แต่เมื่อร่างกายมีกรดยูริกมากเกินไปหรือมีปัจจัยที่ทำให้ขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้น้อยลง เช่น การได้รับยาบางชนิด ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น ซึ่งภาวะกรดยูริกในเลือดสูงที่สูงเกินค่ามาตรฐานคือ มากกว่า 7.0 มก./ดล. ในเพศชาย และ 6.0 มก./ดล. ในเพศหญิง ซึ่งโรคเกาต์มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตามค่ากรดยูริกที่สูงเกินมาตรฐานอาจไม่ทำให้เกิดโรคเกาต์เสมอไป

อาการของโรคเกาต์

  • อาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณข้อ 
  • โดยมากมักเป็นที่ข้อโคนนิ้วโป้งเท้า
  • อาการปวดมักปวดรุนแรง โดยเฉพาะในช่วง 4-12 ชั่วโมงแรก
  • หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม อาจเกิดการกำเริบซ้ำและอาจมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น มีจำนวนข้อที่อักเสบมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเกาท์

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ในระยะยาวอาจทำให้ข้อต่อถูกทำลายหรือเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ และไตวายได้

การรักษาและการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์

  • หากกำลังมีอาการปวดอักเสบ แนะนำให้พบแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประเมินอาการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสม
  • ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอนของกรดยูริก และช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • ควบคุมการบริโภคอาหารที่มีปริมาณสารเพียวรีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล
  • หากกำลังรักษาโรคเกาต์ ควรมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามการรักษาและการใช้ยาอย่างเหมาะสม หากกำลังได้รับยาขับกรดยูริกควรรับประทานยาตามคำแนะนำ ไม่ควรหยุดรับประทานยาเอง

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาหารที่ทำให้เกิดโรคเกาต์

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลการศึกษาที่ตีวารสาร The New England Journal of Medicine เกี่ยวกับอาหารที่อาจก่อให้เกิดโรคเกาต์ หรืออาหารบางประเภทที่เคยเชื่อกับว่าก่อให้เกิดโรคเกาต์แต่เมื่อมาทำการศึกษาพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ในการเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้เกิดโรคเกาต์

❤ การบริโภคเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู หรือ เนื้อแกะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเกาต์เนื่องจากในเนื้อสัตว์เหล่านี้จะมีปริมาณสารเพียวรีนสูง (อาหารที่มีเพียวรีนสูง ยกตัวอย่างเช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง อาหารทะเล ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ ผักโขม เป็นต้น) 
💚 การรับประทานผักที่มีปริมาณเพียวรีนสูง ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเกาต์
💚การรับประทานประทานผลิตภัณฑ์จากนม ประเภทนมไขมันต่ำ ลดการเกิดโรคเกาต์ เนื่องจากนมเป็นอาหารที่มีปริมาณสารเพียวรีนต่ำ และพบว่าโปรตีนจากนม เช่น เคซีน หรือ แลคตาบูมินช่วยลดระดับกรดยูริกในกระแสเลือดได้ และพบว่าคนที่ดื่มนมตั้งแต่ 2 แก้วต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเกาต์ได้ 
💚 การรับประทานโยเกิร์ตไขมันต่ำช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกาต์ ด้วยเหตุผลเดียวกับการดื่มนม
💚การรับประทานโปรตีนต่าง ๆ ทั้งโปรตีนจากพืชหรือโปรตีนจากสัตว์ ไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคเกาต์ จากข้อมูลการศึกษาพบว่าการรับประทานโปรตีนปริมาณมากจะเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะจึงส่งผลช่วยลดระดับกรดยูริกในกระแสเลือด และมีการศึกษาหนึ่งแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มการรับประทานโปรตีนยังช่วยลดการกำเริบของโรคเกาต์ได้อย่างมีนัยสำคัญ
💚 พบว่า BMI ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเกาต์
❤ การรับประทานอาหารทะเลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคกาต์ในเพศชายที่มี BMI น้อยกว่า 25

เอกสารอ้างอิง
  1. Hyon K. Choi, Karen Atkinson, Elizabeth W. Karlson, Walter Willett, and Gary Curhan, M. Purine-Rich Foods, Dairy and Protein Intake, and the Risk of Gout in Men. The New England Journal of Medicine 2004., Mar 11; 350:1039-1103.
  2. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. โรคเก๊าท์. Available at: https://www.bumrungrad.com/th/conditions/gout
  3. โรงพยาบาลวิภาวดี. โรคเก๊าต์ สาเหตุ อาการ การรักษา อาหารอะไรไม่ควรกิน. Available at: https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/117