Skip to content

สิว โรคผิวหนังที่กวนใจวัยรุ่น ที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบของรูขุมขนหรือต่อมไขมัน ซึ่งหากดูแลรักษาไม่ถูกวิธีอาจเป็นแหล่งสะสมของสิ่งสกปรกเชื้อโรคซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อตามมาได้ โดยสิวไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดจากเชื้อราได้เช่นกัน

สิวยีสต์ หรือสิวเชื้อรา (Malassezia Folliculitis) พบได้ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เกิดจากรูขุมขนที่อักเสบและติดเชื้อรา เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่ม Malassezia species โดยส่วนมากจะพบสิวชนิดนี้บริเวณแผ่นหลัง ลำตัว และใบหน้า โดยหากรักษาผิดวิธีจะเกิดเป็นสิวเรื้อรัง ทิ้งร่องรอยจุดด่างดำ หรือรอยแผลเป็นจากสิว ส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ป่วย โดยในบางรายอาจเกิดเป็นโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อราตามมา เช่น เกลื้อน

ลักษณะของสิวยีสต์

สิวยีสต์จะเกิดบริเวณแผ่นหลังหรือใบหน้าเป็นส่วนใหญ่ โดยจะเป็นลักษณะของสิวเม็ดเล็ก (papules) เม็ดเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม โดยจะไม่มีลักษณะของสิวอุดตัน แต่จะมีอาการคันเด่น โดยจะคันเมื่อเจออากาศร้อนชื้น หรือเมื่อมีเหงื่อออกมาก อาจพบลักษณะของสิวหัวหนองร่วมด้วย โดยผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน รับประทานยากดภูมิ รับประทานยาสเตียรอยด์ หรือรับประทานยาฆ่าเชื้อเป็นประจำจะมีโอกาสเกิดสิวยีสต์ได้มากกว่าคนทั่วไป

การรักษาสิวยีสต์

สิวยีสต์เกิดจากเชื้อรา ดังนั้นการรักษาจะต่างจากสิวทั่วไป โดยการรักษาจะเป็นการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานหรือชนิดทา โดยระยะเวลารักษาจะต่อเนื่องนาน 1-2 เดือน โดยสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หากไม่รักษาความสะอาด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการลดการเกิดสิว…

  1. ลดการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน โดยพบว่าการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง มีผลต่อการเกิดสิวที่สูงขึ้น ดังนั้นหากลดการรับประทานอาหารที่รสหวานก็จะสามารถลดโอกาสเกิดสิวในอนาคตได้
  2. ลดการรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม โดยพบว่าการรับประทานนมมากว่า 2 แก้วต่อวัน หรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส เนย จะเพิ่มโอกาสการเป็นสิวได้ ดังนั้นการลดการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัวก็จะลดโอกาสการเกิดสิวได้เช่นกัน
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากสิวเกิดจากการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง ซึ่งหากร่างกายอ่อนแอการติดเชื้อก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นหนึ่งในสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้ร่างกายและภูมิคุ้มกันแข็งแรงตลอดเวลา ลดโอกาสการติดเชื้อและลดโอกาสการเกิดสิวได้ เช่นกัน
  4. รับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสี (Zinc) มากขึ้น โดยพบว่าแร่ธาตุสังกะสีมีส่วนช่วยลดความมันบนใบหน้า ลดอาการอักเสบของผิวหนัง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้ โดยอาหารที่มีประมาณของแร่ธาตุสังกะสีสูงจะพบในผักโขม มะเขือเทศ มะม่วง แอปเปิ้ล เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
  1. Rubenstein RM, Malerich SA. Malassezia (pityrosporum) folliculitis. J Clin Aesthet Dermatol. 2014 Mar;7(3):37-41. PMID: 24688625; PMCID: PMC3970831.
  2. Zaenglein, A. L., Pathy, A. L., Schlosser, B. J., Alikhan, A., Baldwin, H. E., Berson, D. S., … & Shalita, A. R. (2016). Guidelines of care for the management of acne vulgaris. Journal of the American Academy of Dermatology, 74(5), 945–973. doi:10.1016/j.jaad.2015.12.037
  3. Yee BE, Richards P, Sui JY, Marsch AF. Serum zinc levels and efficacy of zinc treatment in acne vulgaris: A systematic review and meta-analysis. Dermatol Ther. 2020 Nov;33(6):e14252. doi: 10.1111/dth.14252. Epub 2020 Sep 15. PMID: 32860489.