Skip to content

ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดการอักเสบบริเวณทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กหายใจได้ลำบาก หอบเหนื่อย และเป็นสาเหตุของเกิดโรคปอดอักเสบตามมา ซึ่งพบว่าไวรัสดังกล่าวจะแพร่ระบาดได้บ่อยในฤดูฝนหรือฤดูหนาว และแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในเด็กปฐมวัย

ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) มี 2 สายพันธุ์หลักที่พบการระบาดได้บ่อย คือ สายพันธุ์A และสายพันธุ์B โดยสายพันธ์ุA มีการระบาดมากกว่าและอาการของโรครุนแรงกว่าสายพันธุ์B

การระบาดของเชื้อไวรัส RSV

จากข้อมูลสถิติจากกรมควบคุมโรคของการส่งตรวจตัวอย่างของผู้ป่วยไข้หวัดทั้งหมดจำนวน 5,411 ตัวอย่างตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ส.ค. 2566 พบเป็นตัวอย่างการติดเชื้อ RSV ถึงร้อยละ 14 โดยพบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ถึงร้อยละ 52 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 3-5 ปี ร้อยละ 35 และกลุ่มอายุ 6-15 ปี ร้อยละ 8 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 2

การแพร่กระจายเชื้อไวรัส RSV

สามารถแพร่กระจายผ่านการไอจาม การสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย โดยเชื้อไวรัสจะแพร่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงเยื่อบุบริเวณดวงตา

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัส RSV

ระยะฟักตัวของโรคเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วันหลังจากได้รับเชื้อผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นานถึง 3-8 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะคล้ายอาการของไข้หวัดทั่วไป คือ เด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ไอ จาม น้ำมูก ง่วงซึม อ่อนเพลีย ไม่ร่าเริง และพบการอักเสบของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย

อาการของการติดเชื้อ RSV แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไปอย่างไร ? การติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กมักจะพบการอักเสบของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย โดยการไอจะมีเสมหะมาก ไข้สูง หายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อย หายใจมีหวีด อกยุบแฟบ ซึ่งหากพบอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจดังกล่าวควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์

การรักษา RSV ในเด็ก

จะเป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วย โดยการรับประทานยาลดไข้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ โดยในผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อยอาจมีการให้ออกซิเจน หรือให้ยาพ่นขยายหลอดลมเพื่อช่วยในการหายใจ โดยทั่วไปอาการของโรคจะดีขึ้นและหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์

การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV

โดยกรมควบคุมโรคสามารถป้องกันได้ ดังนี้

  1. สอนให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  2. สวมใส่หน้าการอนามัยให้แก่เด็กเมื่ออยู่ในชุมชนแออัด
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดและใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
  4. ทำความสะอาดบ้านและของเล่นเด็กอย่างสม่ำเสมอ
  5. หากเด็กๆมีอาการไข้หวัด ควรงดการออกจากบ้าน หรือไปโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสู่ผู้อื่น
เอกสารอ้างอิง
  • Centers for Disease Control and Prevention. (2020). Respiratory syncytial virus (RSV). https://www.cdc.gov/rsv/index.html
  • กรมควบคุมโรค. (2021). บทความเกี่ยวกับโรค (RSV) Respiratory Syncytial Virus. https://ddc.moph.go.th/search.php?keysearch=rsv&deptsearch=brc