Skip to content

Omega-3 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ร่างกายนั้นไม่สามารถสร้างเองได้จึงต้องรับประทานจากอาหาร อันมีสารสำคัญหลักคือ EPA (Eicosapentaenoic Acid) และ DHA (Docosahexaenoic Acid) โดยมีแหล่งอาหารสำคัญคือ น้ำมันปลาซึ่งเป็นน้ำมันที่สกัดจากปลาทะเลน้ำลึกหรือสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง

เนื่องจาก DHA เป็นส่วนประกอบสำคัญของสมองและจอประสาทตา มีหลายการศึกษากล่าวถึงประโยชน์ในการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองของเด็ก และบทบาทสำคัญในแม่ตั้งครรภ์หลากหลายแง่มุม ดังนี้

  • ลูกจะได้รับ DHA จากแม่ผ่านทางรกและสายสะดือ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการมองเห็นและพัฒนาการทางสมองของลูก โดย EPA จะช่วยการนำ DHA เข้าเซลล์ของลูกในครรภ์
  • DHA มีผลต่อการพัฒนาสมองของลูกอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสสุดท้าย นอกจากนี้ร่างกายยังมีการสะสม DHA ในระบบประสาทส่วนกลางอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องไปตลอด 1 ขวบปีแรกของชีวิตลูก
  • DHA และ EPA มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ จึงมีข้อสันนิษฐานว่าจะนำไปสู่การลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด ลดโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษ ลดการเกิดผื่นแพ้หรือภูมิแพ้ของลูกในครรภ์
FDA และ WHO แนะนำให้แม่ตั้งครรภ์และแม่ที่อยู่ระหว่าง การให้นมบุตรควรได้รับ DHA อย่างน้อยวันละ 200-300 mg และสูงได้ถึงวันละ 1,000 mg

FDA และ European Food Safety Authority (EFSA) ให้ข้อมูลว่าสามารถรับประทาน Omega-3 ซึ่งให้ EPA และ DHA ได้อย่างปลอดภัยในขนาดที่ไม่เกิน 5,000 mg ต่อวัน

การศึกษา

จากข้อมูล Cochrane meta-analysis ในปี ค.ศ. 2018 พบว่าแม่ตั้งครรภ์ที่รับประทานกรดไขมัน Omega-3 มีอัตราการคลอดก่อนกำหนด(ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ และก่อนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์) น้อยกว่าแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับประทาน Omega-3 ซึ่งทำให้ลดปัญหาทารกแรกคลอดน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ด้วย  ทั้งนี้จะได้ประโยชน์ในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ดีถ้ารับประทานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานต่อเนื่องมาในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งจะได้ประโยชน์ในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดมากกว่าการเริ่มรับประทานในไตรมาสหลังๆ

สำหรับขนาดของ DHA นั้น Susan E Carlson และคณะทำการศึกษาในปี ค.ศ. 2006 พบว่าแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับ DHA วันละ 600 mg ตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป ช่วยลดปัญหาการคลอดก่อนกำหนด โดยช่วยยืดอายุครรภ์ก่อนคลอด และมีน้ำหนักลูกแรกเกิดที่ดีกว่าแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับ DHA

และจากคุณสมบัติต้านการอักเสบของ DHA และ EPA ทำให้มีการศึกษาตามมาอีกมากมายถึงผลความเป็นไปได้ในการลดการเกิดครรภ์เป็นพิษหรือมีแนวโน้มที่จะลดการเกิดและยังคงมีการศึกษาต่อเนื่องเพื่อให้ได้การศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคต

จากการศึกษาของ Bisgaard H และคณะ ในปี ค.ศ. 2016 พบว่าแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับกรดไขมัน Omega-3 ขนาดสูง 2,400 mg ต่อวัน ในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์มีอาการหลอดลมเกร็ง หรือ อาการหอบหืดของลูกในครรภ์ลดลง และพบปัญหาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างลดลง

นอกจากนี้ Malmir H และคณะยังทำการศึกษาที่ตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. 2022 พบว่าแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับ Omega-3 จากการรับประทานปลามีปัญหาการแพ้อาหารหรือผื่นผิวหนังของลูกในครรภ์ลดลง

ความปลอดภัย

สำหรับความปลอดภัยในการรับประทานนั้น แนะนำให้แม่ตั้งครรภ์รับประทานปลาทะเลที่ให้ DHA สูง และมีปริมาณสารปรอท ปนเปื้อนต่ำซึ่งได้แก่  Anchovies, Atlantic herring, Atlantic mackerel, Mussels, Oysters, Farmed and Wild Salmon, Sardines, Snapper และปลา Trout ส่วนการรับประทานจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น แนะนำให้แม่ตั้งครรภ์เลือกผลิตภัณฑ์โดยยึดหลัก ดังนี้

  • ผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตที่ดี มีการกำจัดสารหรือ โลหะหนักปนเปื้อนออกไป
  • เลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้ระดับ DHA ได้สูงตามข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งสนับสนุนถึงผลดีต่อการตั้งครรภ์และสุขภาพของลูกในครรภ์
  • ผลิตภัณฑ์ควรมีกระบวนการผลิตที่ป้องกันไม่ให้ Omega-3 ซึ่งเป็นสารสำคัญสลายตัวจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น
  • มีข้อมูลทางการแพทย์รองรับถึงระดับ DHA ที่เหมาะสม และส่งผลดีต่อสุุขภาพ
  • แนะนำให้หยุุดรับประทานก่อนคลอดประมาณ 2 สัปดาห์
  • เนื่องจากผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการรับประทาน กรดไขมัน Omega-3 คือ คลื่นไส้ เรอเป็นกลิ่นคาวปลา ลมหายใจมีกลิ่น แสบร้อนอก ซึ่งคุุณแม่ที่แพ้ท้องอยู่แล้ว อาจรับประทานไม่ไหว หรือแม้แต่รับประทานปลาทะเล ในช่วงแพ้ท้อง คุณแม่ก็มักจะรู้สึกเหม็นมาก 
  • ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ให้ DHA ในหลายรูปแบบ เช่น เป็นเครื่องดื่มสำเร็จรูปที่ให้ DHA ในปริมาณสูงร่วมกับวิตามินบี 6 หรือวิตามินบี 12 ซึ่งนอกจากมีส่วนช่วยลดอาการแพ้ท้องแล้วยังมีอีกหลายการศึกษาที่กล่าวถึงประโยชน์ของวิตามินบีร่วมกับ DHA เช่น การศึกษาของ Oulhaj A และคณะ ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2016 ว่าการใช้น้ำมันปลาอาจมีผลดีกับความจำเมื่อใช้ร่วมกับวิตามินบี บางชนิด เช่น วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12

ปัจจุบันการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรืออาหารที่ให้ DHA ร่วมกับวิตามินบีจึงมีบทบาทมากขึ้นทั้งในแม่ตั้งครรภ์ วัยทำงาน และวัยกลางคน โดยหวังผลป้องกั้นการแแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ ผลต่อสุขภาพของลูกในครรภ์ และผลในการส่งเสริม สุุขภาพสำหรับวัยทำงาน วัยกลางคน และผู้สูงวัย เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

พญ.ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัยและแพทย์เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมน โรงพยาบาลพยาไท1. ประโยชน์ของ DHA ในแม่ตั้งครรภ์. วงการแพทย์. [เข้าถึงเมื่อ 24 มีนาคม 2566]