Skip to content

ท้องเสีย (Diarrhea) หรือท้องร่วง คือ อาการอุจจาระถี่มากกว่า 3 ครั้งต่อหนึ่งวัน หรือถ่ายเป็นมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง  โดยอาจมีลักษณะอุจจาระที่เปลี่ยนไป เช่น ถ่ายเหลวมากขึ้น มีมูกเลือด โดยในบางรายอาจมีอาการปวดบิดหรือปวดเกร็งช่องท้อง  ไข้สูงร่วมด้วย

สาเหตุของอาการท้องเสีย

  1. อาหารปนเปื้อน สาเหตุหลักของการเกิดท้องเสีย มาจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ ที่มีการปนเปื้อนของสิ่งสกปรก แบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต
  2. อาการแพ้อาหาร การแพ้อาหารทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบต่างๆ รวมไปถึงระบบขับถ่าย ทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมาได้
  3. ความเครียดและความวิตกกังวล จะกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายให้มีการทำงานที่ผิดปกติได้
  4. การรับประทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง ทำให้จุรินทรีย์ในลำไส้เกิดการเสียสมดุล ทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรือท้องผูกง่ายกกว่าคนทั่วไป

แบ่งลักษณะท้องเสียเป็น  3 ชนิด

  1. ท้องเสียเฉียบพลัน  (Acute diarrhea) ภาวะที่มีอุจจาระร่วงน้อยกว่า 14 วัน หรือมีการถ่ายอุจจาระเฉียบพลันมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
  2. ท้องเสียต่อเนื่อง (Persistent diarrhea) ภาวะอุจจาระร่วงต่อเนื่อง 14 ถึง 30 วัน
  3. ท้องเสียเรื้อรัง  (Chronic diarrhea) ภาวะอุจจาระร่วงต่อเนื่องมากกว่า 30 วัน

การดูแลตนเองหากเกิดอาการท้องเสีย

  1. ในผู้ที่มีอาการท้องเสียทุกรายควรได้รับเกลือแร่ทดแทน โดยต้องเป็นเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสียโดยเฉพาะ การรับประทานจะค่อยๆจิบเกลือแร่เรื่อยๆตลอดทั้งวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะขาดน้ำ
  2. รักษาตามอาการสำหรับผู้ป่วยที่ถ่ายเหลวไม่บ่อย หรือมีไข้ต่ำๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยายาปฏิชีวนะ
  3. พิจารณารับประทานยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่มีอาการถ่ายเหลวร่วมกับไข้สูง หรือถ่ายเหลวแบบมีมูกเลือดปน
  4. รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง และอาหารที่มีไขมันสูง

อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์ ?

  1. ไข้สูงหลายวัน
  2. ท้องเสียต่อเนื่องเกิน 3 วัน
  3. ถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก
  4. ถ่ายเป็นมูกเลือดจำนวนมาก
  5. มีภาวะขาดน้ำปานกลางถึงรุนแรง คอแห้ง ปากแห้ง ตาบุ๋มลึก
  6. มีอาการมึนงง หมดสติ

ท้องเสียป้องกันได้ด้วยจุรินทรีย์ดี

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ท้องเสีย คือ การขาดความสมดุลของเชื้อจุรินทรีย์ดีภายในลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ง่ายกกว่าคนทั่วไป หมายความว่าหากจุรินทรีย์ดีในลำไส้สมดุล ก็จะสามารถป้องกันอาการท้องเสียได้

โดยปัจจุบันมีการนำเชื้อจุรินทรีย์ดี หรือ Probiotic มาใช้ในการรักษาหรือป้องกันการเกิดอาการท้องเสีย โดย Probiotic ที่มีความโดดเด่นในการป้องกันอาการท้องเสีย คือ 1) จุลินทรีย์ที่เป็นแบคทีเรีย ได้แก่ Lactobacillus spp. และ Bifidobacterium spp. 2) จุลินทรีย์ที่เป็นยีสต์ ได้แก่ Saccharomyces spp. โดย Probiotic จะป้องกันอาการท้องเสียโดยกระตุ้นการหลั่งเมือกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรครวมกลุ่มกันในระบบทางเดินอาหาร และกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ท้องเสียที่รับประทาน Probiotic เป็นประจำจะช่วยให้ระยะเวลาและความรุนแรงของอาการท้องเสียลดลงอีกด้วย

โดยการเลือกรับประทาน Probiotic อาจต้องคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการปกป้องเชื้อจุรินทรีย์จากกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อให้เชื้อจุรินทรีย์สามารถเดินทางไปถึงลำไส้ได้โดยตรง เนื่องจากจุรินทรีย์ทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว มีเพียงเชื้อ Bifidobacterium spp. ชนิดเดียวที่มีความทนทานต่อกรด หมายความว่า หากสามารถป้องกันเชื้อจุรินทร์ชนิดอื่นจากกรดในกระเพาะได้ ก็อาจจะทำให้ Probiotic มีประสิทธิภาพในการป้องกันท้องเสียได้ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. McFarland LV. Meta-analysis of probiotics for the prevention of traveler’s diarrhea. Travel Medicine and Infectious Disease. 2007 Mar 1;5(2):97–105.
  2. Billoo AG, et al. Role of a probiotic (Saccharomyces boulardii) in management and prevention of diarrhoea. World J Gastroenterol 2006; 12(28): 4557-60.
  3. do Carmo MS, Santos CID, Araújo MC, Girón JA, Fernandes ES, Monteiro-Neto V. Probiotics, mechanisms of action, and clinical perspectives for diarrhea management in children. Food Funct. 2018; 9:5074-95.