Skip to content

ไนอาซินาไมด์ (Niacinamide) กับประโยชน์ทางการแพทย์

Niacinamide คืออะไร

หลายคนคงเคยได้ยินสารไนอาซินาไมด์ (Niacinamide) จากส่วนผสมในสกินแคร์แบรนด์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งสารไนอาซินาไมด์ หรือ นิโคตินาไมด์ (Nicotinamide) คือรูปแบบหนึ่งของวิตามินบี3 (Niacin) ที่สามารถออกฤทธิ์ได้ทันที (Biologically active form) ใช้ในการป้องกันกลุ่มอาการขาดวิตามินบี (Pellagra) ได้แก่อาการผิวหนังอักเสบ ท้องเสีย ภาวะสมองเสื่อม ลิ้นบวมแดง และ ผิวหนังแดงลอก เป็นต้น และ เป็นสารตั้งต้นในการสร้าง Nicotinamide Adenine Dinucleotide (NAD) และ NAD phosphate (NADP) ซึ่งเป็นโคเอ็นไซม์ (Co-enzyme) ในการเกิดปฏิกิริยามากกว่า 40 ชนิด ทำให้เกิดการทำงานและสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ต่างๆในร่างกาย สารไนอาซินาไมด์เป็นที่นิยมใช้มากกว่าอนุพันธ์วิตามินบีชนิดอื่น เนื่องจากมีผลข้างเคียงการระคายเคืองผิวที่น้อยกว่า

ชนิดของ Niacinamide

การนำสารไนอาซินาไมด์ (Niacinamide) มาใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ไนอาซินาไมด์รูปแบบทา (Topical Niacinamide) และ ไนอาซินาไมด์รูปแบบทา (Topical Niacinamide)

ไนอาซินาไมด์รูปแบบทา (Topical Niacinamide)

ปัจจุบันมีการนำไนอาซินาไมด์มาใช้ในทางการแพทย์ผิวหนังและเป็นส่วนผสมของสกินแคร์เนื่องจาก ไนอาซินาไมด์มีคุณสมบัติหลากหลายดังนี้

  • ต้านการอักเสบของสิว และ ลดการคัน ระคายเคืองผิว มีการศึกษาพบว่าการใช้ไนอาซินาไมด์ 4% ในรูปแบบทา เช้า-เย็น เป็นเวลา 8 สัปดาห์ สามารถลดการอักเสบของสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ลดรอยและจุดด่างดำ ด้วยการยับยั้งการขนส่งเม็ดสีเมลานินไปยังเซลล์ผิวด้านบน (Epidermis) ทำให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้นและมีศึกษาพบว่าการใช้ไนอาซินาไมด์ร่วมกับครีมกันแดดจะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ผิวกระจ่างใสดียิ่งขึ้น
  • เพิ่มการสังเคราะห์เซราไมด์ (Ceramides) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ และ สารประกอบประเภทไขมันอื่นๆในเซลล์ ทำให้เกิดการเสริมชั้นผิวให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้
  • ป้องกันผิวถูกทำลายจากแสงแดด ลดการเกิดริ้วรอย-รอยดำจากแสงแดดได้ (Photoaging)
ไนอาซินาไมด์รูปแบบรับประทาน (Oral Niacinamide)
  • มีการใช้ไนอาซินาไมด์ขนาด 500–2500 mg/day ร่วมกับยาปฏิชีวนะ Tetracycline ในการรักษาโรคตุ่มน้ำพุพองเรื้อรัง Bullous pemphigoid โดยกลไกออกฤทธิ์ยังไม่ชัดเจน
  • มีการศึกษาการใช้ไนอาซินาไมด์ขนาด 500 mg เช้า-เย็น เป็นเวลา 1 ปี ในอาสาสมัครสุขภาพดีที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด Nonmelanoma ซึ่งเป็นมะเร็งผิวหนังที่มีสาเหตุจากรังสี UV พบว่า มีความปลอดภัยและช่วยลดอุบัติการณ์เกิดซ้ำของโรคได้

ผลข้างเคียงและข้อควรระวัง ของ Niacinamide

ไนอาซินาไมด์รูปแบบทา (Topical Niacinamide)

  • อาจเกิดการระคายเคืองผิวหนังได้

ไนอาซินาไมด์รูปแบบรับประทาน (Oral Niacinamide)

  • อาจเกิดการระคายเคืองผิวหนังได้
  • อาจเกิดอาการระคายเคืองทางเดินอาหารได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนกลางอก
  • รับประทานไนอาซินาไมด์ขนาดสูง 3–9 g/day อาจเป็นพิษต่อตับได้
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากอาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือเกล็ดเลือด เนื่องจากไนอาซินาไมด์อาจชะลอการแข็งตัวของเลือด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกได้
  • รับประทานห่างจากยาลดไขมันในเลือด Cholestyramine หรือ Colestipol 4-6 ชั่วโมงขึ้นไป
  • หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรสามารถใช้ไนอาซินาไมด์ได้ โดยขนาดที่ปลอดภัยได้แก่ 30 mg ต่อวัน สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และ 35 mg สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี

ควรใช้ Niacinamide ต่อเนื่องนานเท่าไรจึงจะเห็นผล

การใช้ไนอาซินาไมด์รูปแบบทาขนาด 5-10% หรือ รูปแบบรับประทานขนาดสามารถเพิ่มขนาดได้ถึง 900-1500 mg ต่อวัน ซึ่งเป็นขนาดที่ปลอดภัยใช้ได้ทุกวัน และ เมื่อมีการใช้ต่อเนื่องจะเห็นผลที่ประมาณ 8-12 สัปดาห์

เอกสารอ้างอิง
  1. Niacinamide oral: Uses, side effects, interactions, pictures, warnings & dosing [Internet]. WebMD; [cited 2023 Sept 6]. Available from: https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6926/niacinamide-oral/details
  2. Tanno O, Ota Y, Kitamura N, Katsube T, Inoue S. Nicotinamide increases biosynthesis of ceramides as well as other stratum corneum lipids to improve the epidermal permeability barrier. British Journal of Dermatology. 2000;143(3):524–31. doi:10.1111/j.1365-2133.2000.03705.x
  3. Shalita AR, Smith JG, Parish LC et al. Topical nicotinamide compared with clindamycin gel in the treatment of inflammatory acne vulgaris. Int J Dermatol 1995; 34: 434–7.
  4. Kirtschig G, Khumalo NP. Management of bullous pemphigoid. American Journal of Clinical Dermatology. 2004;5(5):319–26. doi:10.2165/00128071-200405050-00005
  5. Chen AC, Martin AJ, Choy B, Fernández-Peñas P, Dalziell RA, McKenzie CA, et al. A phase 3 randomized trial of nicotinamide for skin-cancer chemoprevention. New England Journal of Medicine. 2015;373(17):1618–26. doi:10.1056/nejmoa1506197