ด้วยชื่อต่างๆ ที่คล้ายกัน จึงอาจก่อให้เกิดความสับสนขึ้นได้ ว่าสรุปแล้ว สารเหล่านี้คือตัวเดียวกันไหม สามารถใช้แทนกันได้หรือไม่ หลายๆ คนอาจจะยังคงไม่ทราบ และยังเข้าใจผิดในเรื่องนี้อยู่ บทความนี้จะอธิบายให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างสารต่างๆเหล่านี้ พร้อมทั้งแนะนำวิธีใช้อย่างถูกต้อง
Q : สารเหล่านี้คืออะไรกันนะ? ใช่สิ่งเดียวกันไหม?
จริงๆ แล้ว สารทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคือสิ่งเดียวกัน คือ วิตามินเอ และอนุพันธ์ของวิตามินเอ (vitamin A derivatives) ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า “Retinoid”
Retinoid คือสารในกลุ่มเบต้าแคโรทีน (beta carotene) ซึ่ง รวมทั้งอนุพันธ์ของวิตามินเอที่สกัดจากธรรมชาติ และที่มาจากการสังเคราะห์ ได้แก่
- Retinyl esters เช่น retinyl propionate และ retinyl palmitate
- Retinol (วิตามินเอ)
- Retinaldehyde
- Retinoic acid (กรดวิตามินเอ) หรือ Tretinoin เช่น Retin-A®, Renova®, Stieva-A®
- Retinoid กลุ่มสังเคราะห์
- Adapalene เช่น Differin®
- Tazarotene เช่น Tazorac® Zorac® Avage®
Retinoid ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเก่าที่อุดตันรูขุมขน โดยช่วยปรับโครงสร้างชั้นบนสุดของผิวหนังชั้น keratin (keratinization) ที่อยู่ใกล้รูขุมขน ช่วยลดการอุดตันของเคราตินในรูขุมขน จึงลดการเกิด comedone และลดสิวได้ และช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังแท้ เพื่อลดเลือนริ้วรอย ทำให้ผิวเนียนเรียบ มีสีสม่ำเสมอมากขึ้น สามารถรักษาสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีงานวิจัยด้านเสริม whitening agents ช่วยรักษาฝ้าได้ดีมากด้วย
Q : แตกต่างกันอย่างไร?
สารในกลุ่ม Retinoid ข้างต้น สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามประเภทการขึ้นทะเบียนได้ดังต่อไปนี้
1. Retinoid ที่ถือเป็นเครื่องสำอาง
Retinoid ที่ถือเป็นเครื่องสำอาง ได้แก่ Retinyl esters, Retinol และ Retinaldehyde ซึ่งจัดเป็นสารตั้งต้นเท่านั้น คือ ตัวสารไม่มีฤทธิ์ใดๆ ต้องอาศัยเอนไซม์ในชั้นผิวเปลี่ยนให้เป็นกรดวิตามินเอก่อน แล้วจึงจะสามารถออกฤทธิ์ได้ โดยลำดับการเปลี่ยน คือ
Retinyl esters → Retinol → Retinaldehyde → Retinoic acid/ Tretinoin (active form)
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ผลของการใช้สารตั้งต้นเหล่านี้ น้อยกว่าการใช้กรดวิตามินเอทาลงบนผิวโดยตรงทั้งในด้านประสิทธิภาพและการระคายเคือง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงอนุญาตให้ใช้สารเหล่านี้ในเครื่องสำอางได้
2. Retinoid ที่ถือเป็นยา
2.1 Retinoic acid (กรดวิตามินเอ) หรือ Tretinoin
Retinoic acid (กรดวิตามินเอ) และ Tretinoin คือ สารตัวเดียวกัน แค่เรียกต่างกัน Tretinoin เป็น active form ซึ่งหมายถึง สามารถออกฤทธิ์ได้ด้วยตัวเอง มีทั้งที่ผลิตในรูปแบบเจลและครีมใช้ในการรักษาสิวชนิดโคมีโดน (comedonal acne) สิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน และสิวอักเสบ เร่งการสร้างและผลัดเซลล์โดยเฉพาะที่ผนังรูขุมขนเพื่อกำจัดเซลล์ผิวที่ตาย รวมทั้งยับยั้งการหลั่งสารสื่ออักเสบเพื่อลดกระบวนการอักเสบที่ก่อให้เกิดสิว โดยมักถูกนำมาใช้ผสมในผลิตภัณฑ์รักษาสิว ผลิตภัณฑ์ลดรอยแผลเป็น และผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอย เช่น Retin-A®, Renova®, Stieva-A® โดย
- ในความเข้มข้นสูง (0.1%): ใช้เพื่อรักษาสิว
- ในความเข้มข้นต่ำ (0.025, 0.05%): ใช้เพื่อรักษาผิวที่มีริ้วรอยหรือจุดด่างดำอันเป็นผลจากแสงแดด หรือ photodamage กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ช่วยลดรอยแตกลายของผิว (Stretch marks)
Tretinoin สามารถก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ คือ ทำให้ผิวแห้ง และก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้อย่างรุนแรง ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจัดสารนี้เป็นยา และห้ามใช้ในเครื่องสำอาง
2.2 Adapalene
Adapalene หรือ Differin® ช่วยปรับเซลล์ผิวให้เจริญเติบโตอย่างสมดุล ลดอาการบวมและอักเสบที่ผิวหนัง ช่วยฟื้นฟูผิวหนังให้กลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง ใช้ในการรักษาสิวโดยช่วยลดจำนวนและความรุนแรงของสิว นอกจากนี้ อาจนำมาใช้รักษาอาการอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดย Adapalene พัฒนามาจาก Tretinoin ทำให้เกิดผลดีในเรื่องของการลดผลข้างเคียงลงเมื่อเทียบกับยา Tretinoin เดิม นอกจากนี้การที่ยาคงทนกว่าทำให้สามารถถูกแสงได้มากขึ้น จึงอาจมีการนำยามาทาตอนเช้าได้ด้วย ซึ่งความเข้มข้นที่มีจำหน่ายคือ 0.1%
2.3 Tazarotene
Tazarotene ซึ่งก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า Tretinoin และ Adapalene ใช้รักษาสิวและเรื้อนกวางเช่นกัน โดยมีจำหน่ายที่ความเข้มข้น 0.05 และ 0.1% ภายใต้ชื่อ Tazorac® และ Zorac® ส่วน Avage® ใช้รักษาผิวซึ่งถูกทำร้ายจากแสงแดด
Q : ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย?
วิธีทายาที่ถูกต้อง
- ทำความสะอาดใบหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน
- ซับหน้าให้แห้ง แล้วรอประมาณ 20-30 นาที
(เนื่องจากผิวที่แห้งสนิทสามารถลดอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นจากยาทา Tretinoin ได้)
- บีบยาประมาณครึ่งนิ้วหรือน้อยกว่าลงบริเวณปลายนิ้วและทายาให้ทั่วใบหน้า วันละ 1 ครั้งก่อนนอน หรือทำตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร
- ควรเริ่มใช้ที่ความเข้มข้นต่ำ และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเมื่อผิวคุ้นกับยามากขึ้น
- ควรหลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบจมูก ปาก ตา และแผลเปิด
- กรณีลืมทายา สามารถเว้นการทาในครั้งนั้น แล้วทาในครั้งต่อไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาทาเป็นสองเท่า
- กรณีที่ต้องการทายา benzoyl peroxide เสริมในการรักษาสิว แนะนำให้ทายา benzoyl peroxide ในตอนเช้า และทายา Tretinoin หรือ Adapalene ก่อนนอน เพื่อป้องกันการระคายเคืองและผลข้างเคียงอื่นๆ
- การรักษาด้วยยาทา Tretinoin จะเห็นผลประมาณ 6 สัปดาห์ ดังนั้นจึงควรใช้ยานี้ตามที่ได้รับคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง
- หลีกเลี่ยงครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี และกรดไกลโคลิกด้วย
- หลีกเลี่ยงการทาร่วมกับกรดซาลิซิลิก (salicylic acid) หรือแชมพูขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของซัลเฟอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้น
การจัดการอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทา
- ผิวแห้ง แสบ แดง คัน 🡪 ทาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันบนใบหน้าทุกเช้าหลังทำความสะอาดใบหน้า
- ผิวไวต่อแสงมากขึ้น 🡪 หลีกเลี่ยงแสงแดด รวมถึงหลอดไฟยูวีด้วย กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ทาครีมกันแดดหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถปกป้องแสงแดดได้
- อาการของสิวที่แย่ลง หลังใช้ยาอาการของสิวอาจแย่ลงในระหว่าง 7-10 วันแรก จากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายเองเมื่อทายาอย่างต่อเนื่อง
Note:
สิ่งที่ควรระวังมากที่สุดในการใช้สารในกลุ่มนี้ นอกเหนือไปจากการทำให้ผิวระคายเคือง คือก่อให้เกิด “teratogenic effect” นั่นคือทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ ห้ามใช้สารในกลุ่มนี้ (Retinoids)
Reference
- กานต์กวิน เกตภาพ, รสิตา ลีลาวรรณเขต. ยาทารักษาสิว tretinoin ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย. 2564. ใน: คลังข้อมูลยา [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ ม. มหิดล; c2013-2020 – [เข้าถึงเมื่อ 25 ส.ค. 2565]. [ประมาณ 6 น.]. เข้าถึงได้จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=45
- ฟาร์มาบิวตี้แคร์ สกินแคร์ โดยเภสัชกร [อินเทอร์เน็ต]. บุรีรัมย์: ฟาร์มาบิวตี้แคร์ สกินแคร์โดยเภสัชกร; c2015. retin A และ Retinol; [ม.ป.ป.] [เข้าถึงเมื่อ 25 ส.ค. 2565]; [ประมาณ 5 น.]. เข้าถึงได้จากhttps://www.pharmabeautycare.com/content/5498/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD-retin-a-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-retinol
- PobPad [อินเทอร์เน็ต]. บุรีรัมย์: ฟาร์มาบิวตี้แคร์ สกินแคร์โดยเภสัชกร; c2015. retin A และ Retinol; [ม.ป.ป.] [เข้าถึงเมื่อ 25 ส.ค. 2565]; [ประมาณ 5 น.]. เข้าถึงได้จาก
- นวียา โรจนผาติวงศ์. Adapalene (อะดาพาลีน). [ม.ป.ป.]. ใน: PobPad [อินเทอร์เน็ต]. เกศริน รัตนพรรณทอง. [ม.ป.ท.]: บริษัท ราเนลาจ จำกัด; c2022 – [เข้าถึงเมื่อ 25 ส.ค. 2565]. [ประมาณ 5 น.]. เข้าถึงได้จาก https://www.pobpad.com/adapalene-%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%99
- กุสาวดี เมลืองนนท์, ภญ. ดร. ยารักษาสิว. [อินเทอร์เน็ต]. [ม.ป.ป.] [เข้าถึงเมื่อ 25 ส.ค. 2565]. เข้าถึงได้จาก https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/acne57.pdf