Skip to content

“คุณเภสัชครับ/คะ วิตามินซีมีแบบไหนบ้าง” คำถามที่ได้ยินบ่อยมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่มียารักษาได้เช่นนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าวิตามินซีเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายขาดไม่ได้และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงไม่แปลกใจที่จะพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินซีมากมายในท้องตลาดทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า “วิตามินซีแบบไหน” ที่ตรงกับความต้องการของเรา วันนี้เภสัชอยากเล่าจึงขอหยิบยกข้อมูลดี ๆ มาฝากกันค่ะ

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าวิตามินซี หรือชื่อทางเคมี คือ กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) มีความสำคัญและส่งผลต่อการทำงานของร่างกายทั่ว ๆ ไปอย่างไรบ้าง1

  • เป็นตัวช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดแดงฝอยและเยื่อหุ้มเซลล์ในร่างกาย
  • เป็นส่วนประกอบหลักของคอลลาเจนในร่างกาย
  • ป้องกันการเกิดแผลฟกช้ำและช่วยสมานแผล
  • ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง

สำหรับคุณประโยชน์ของวิตามินซีในแง่การป้องกันเชื้อไวรัส และข้อมูลงานวิจัยใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 วันนี้เภสัชได้รวบรวมมาอัปเดตให้ทราบดังนี้ค่ะ

  • วิตามินซีมีความสามารถในการต่อต้านเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจได้หลากหลายชนิด  เช่น HSV-1, EBV, HIV เป็นต้น แต่ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าสามารถต้านเชื้อไวรัส COVID-19 ได้โดยตรง แต่วิตามินซีมีส่วนช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานต่อต้านเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • วิตามินซีทำหน้าที่เป็นตัวดักจับอนุมูลอิสระในร่างกาย (free radical scavenger) ซึ่งเป็นคุณสมบัติหลักสำหรับต่อต้านกระบวนการอักเสบในร่างกายผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง กล่าวคือผู้ป่วยเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือ acute respiratory distress syndrome (ARDS)

โดยปกติคนเราต้องการปริมาณวิตามินซีวันละ 100 มิลลิกรัมในผู้ชาย และ 85 มิลลิกรัมในผู้หญิง และในสภาวะอื่น ๆ อาจมีความต้องการวิตามินซีมากขึ้นได้ เช่น ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้สูบบุหรี่ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด เป็นต้น2 ปริมาณที่แนะนำในข้างต้นถือว่าเพียงพอต่อการทำงานของร่างกาย แต่หากต้องการประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและการบำรุงผิวพรรณอาจต้องการปริมาณมากถึง 1,000-2,000 mg ต่อวันเลยทีเดียว!

ต่อมาเราต้องมาทำความเข้าใจถึงธรรมชาติและความประพฤติของวิตามินซีเสียก่อน เพื่อให้เราได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบริโภควิตามินซี4

  • การดูดซึมวิตามินซีเข้าสู่กระแสเลือดมีจุดอิ่มตัว อธิบายให้เห็นภาพคือในร่างกายเรามีรถบรรทุกที่จะรับเอาวิตามินซีที่เรารับประทานจากทางเดินอาหารขนส่งเข้าสู่กระแสเลือด แต่รถบรรทุกที่ว่านี้มีจำนวนจำกัด ต้องใช้เวลาในการขนส่งกว่ารถแต่ละคันจะว่างอีกครั้ง ดังนั้นหากเรารับประทานวิตามินซีทีละมาก ๆ ส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ขึ้นรถก็จะถูกขับออกจากร่างกายไปโดยที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน
  • วิตามินซีเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดแล้วจะกระจายตัวไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นสารโมเลกุลขนาดเล็ก 
  • เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ (​water soluble vitamin) สามารถขับออกทางปัสสาวะได้ ทานมากเกินไป (>1000 mg/day) โดยไม่สะสมในร่างกาย

ผลิตภัณฑ์วิตามินซีชนิดรับประทานที่มีในท้องตลาด

  1. ยาเม็ดรับประทาน/แคปซูล classic มี แนะนำกลืนทั้งเม็ด ไม่หักแบ่งบดเคี้ยว และนอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการผลิตต่าง ๆ มาช่วยแก้ไขปัญหาที่พบจากการรับประทาน
    • Buffer (Ascorbic acid & Mineral ascorbate) ข้อดีคือความเป็นกรดน้อยกว่าแบบที่เป็นกรดแอสคอร์บิกอย่างเดียว ทำให้มีผลระคายเคืองทางเดินอาหารน้อยลง เหมาะกับผู้ที่ทานวิตามินซีแบบปกติแล้วปวดท้อง หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร ทั้งนี้เกลือของกรดแอสคอร์บิกก็มีหลายชนิด ต้องระมัดระวังการใช้ในผู้มีโรคประจำตัว
    • Ester-C(R) หมายถึง calcium ascorbate และเมตาบอไลต์ของวิตามินซีอื่น ๆ เช่น  dehydroascorbic acid (oxidized ascorbic acid), calcium threonate, xylonate, lyxonate โดยผู้ผลิตระบุว่าช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซึมวิตามินซีเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่เป็นงานวิจัยที่ชัดเจนถึงเรื่องนี้ 
    • Vitamin C ester หรือ Ascorbyl palmitate เป็นสารจำพวก fat soluble antioxidant ละลายได้ดีทั้งในน้ำและไขมัน ทำให้สามารถแพร่ ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ดีกว่าวิตามินซีปกติ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลผิวพรรณ
    • Vitamin C + Bioflavonoids
      • Bioflavonoids เป็นสารกลุ่ม  polyphenolic เช่น Quercetin ที่พบได้ในพืชผักผลไม้ที่มีวิตามินซี เช่นพืชตระกูลส้ม
      • มีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซึมวิตามินซีได้ เปรียบเสมือนว่าเราได้รับวิตามินจากอาหารในธรรมชาติ แต่ยังมีหลักฐานสนับสนุนไม่มากนัก
  2. ยาเม็ดอม ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูป ascorbic acid หรือ buffer เหมาะมากสำหรับคนที่ต้องการรสชาติความอร่อย หรือคนที่กลืนยาเม็ดไม่ได้ แต่ข้อเสียในระยะยาวของการอมวิตามินซีคืออาจทำให้ฟันสึกกร่อนได้เนื่องจากความเป็นกรด
  3. ยาเม็ดเคี้ยว/เยลลี่ คล้ายกับเม็ดอม แต่เหมาะสำหรับเด็กที่ไม่ชอบทานยา ปริมาณวิตามินซีต่อชิ้นไม่มากนัก และมีสารแต่งกลิ่นรส
  4. เม็ดฟู่/ผงละลายน้ำ เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถอมหรือกลืนเม็ดยาได้ เช่นผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยาง

เคล็ดลับง่าย ๆ ในการรับประทานวิตามินซีให้ปลอดภัยและได้ประสิทธิภาพสูงสุด!

  • การรับประทานวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก ไม่ควรทานตอนท้องว่าง ในผู้ที่มีปัญหาโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผลในทางเดินอาหาร  แต่ถ้าเป็นรูป Mineral ascorbate สามารถรับประทานได้ตามสะดวกโดยไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร  และแนะนำให้ดื่มน้ำตามอย่างน้อย 1-2 แก้ว แต่การรับประทานหลังมื้ออาหารจะช่วยลดอาการข้างเคียงเช่น คลื่นไส้ ปวดเกร็งช่องท้อง ท้องเสีย เป็นต้น
  • การที่จะรับประทานวิตามินซีให้ได้ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน มีการศึกษาพบว่าการแบ่งรับประทานครั้งละ 200 mg ห่างกันทุก 2 ชั่วโมง จะสามารถดูดซึมไปใช้ได้เกือบ 100% แต่ในชีวิตจริงคงเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป จึงขอแนะนำวิธีที่สะดวกมากขึ้นคือแบ่งรับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง จะช่วยให้ดูดซึมได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการรับประทาน 1,000 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
  • พึงระวังเสมอว่าในผลิตภัณฑ์วิตามินซีอาจมีส่วนผสมของแร่ธาตุอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น Calcium, Magnesium, Sodium โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีภาวะโรคประจำตัวบางอย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือผู้สูงอายุที่มีการทำงานของไตบกพร่อง อาจต้องจำกัดปริมาณแร่ธาตุอื่น ๆ ไม่ให้มากจนเกินไป จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนรับประทาน

อ้างอิง

  1. Reader’s Digest Association. The healing power of vitamins, minerals, and herbs. Pleasantville, N.Y. : Reader’s Digest; 2010.
  2. Abobaker A, Alzwi A, Alraied AH. Overview of the possible role of vitamin C in management of COVID-19. Pharmacol Rep. 2020 Oct 28: 1-12.
  3. คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: เอ.วี. โปรเกรสซีฟ; 2563. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaidietetics.org/wp-content/uploads/2020/04/dri2563.pdf
  4. Lykkesfeldt J, Tveden-Nyborg P. The Pharmacokinetics of Vitamin C. Nutrients. 2019 Oct 9; 11(10): 2412.